วันเสาร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

"แบรนาร์โด โตโลเมย" รับใช้จนตัวตาย


นักบุญแบรนาร์โด โตโลเมย
St. Bernardo Tolomei
ฉลองในวันที่ : 21 สิงหาคม

10 พฤษภาคม ค..1272 กรุงเซียนา แคว้นทัสกานี ประเทศอิตาลี ตำนานวีรบุรุษชุดขาวที่ได้นำ บรรดาทหารกล้าชุดขาวอีกหลายคนออกมา เผชิญกับกาฬโรคอันน่าหวาดกลัว ที่กำลังคุกคามซีเอนาหรือเซียนาอย่างน่าหวาดหวั่น ได้เริ่มขึ้นเมื่อเสียงทารกน้อยเพศชายดัง อุแว้ อุแว้ ในชายคาบ้านของมีโน โตโลเมย กับ ฟูลเวีย ตันเกรดี สร้างความยินดีให้สองสามีภรรยาเป็นยิ่งนัก ทั้งสองพาบุตรน้อยไปรับศีลล้างบาปตามประเพณี และตั้งนามบุตรนี้ตามนามหนึ่งในผู้นิพนธ์พระวรสารว่า โยวันนี

หลังจากนั้นทั้งสองก็ช่วยกันอบรมบุตรน้อยอย่างดี จวบจนเด็กน้อยเจริญวัยได้ 6 ปี ทั้งสองก็มอบความวางใจให้นักบวชคณะโดมินิกันช่วยอบรมบุตรน้อยต่อ ด้วยการส่งท่านเข้าอยู่ภายใต้การดูแลของคุณพ่อคริสโตโฟโร โตโลเมย ซึ่งเป็นไปได้ว่าท่านอาจจะได้เข้าโรงเรียนซาน โดเมนีโก ดี กัมโปเรโจของคณะ จวบท่านมีวัยได้ 12 ปี บิดาท่านก็ตัดสินใจพาท่านกลับมาบ้าน เพื่อให้ท่านได้รับการศึกษาตามแบบชนชั้นสูง อันเป็นสังคมของครอบครัวท่านและเป็นการดึงท่านจากความปรารถนาเข้าอาราม ทำให้ท่านได้ร่ำเรียนทั้งทางด้านศิลปะศาสตร์และวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งกรุงเซียนา


ซึ่งแม้ท่านจะไม่เต็มใจเท่าไรนักที่จะต้องจากที่นี่ไป ท่านก็ตั้งหน้าตั้งตาเล่าเรียนหนังสืออย่างขยันขันแข็ง เวลาเดียวกันท่านก็ได้อุทิศตนช่วยเหลืองานเมตตากิจในกลุ่มภราดรภาพแห่งซาน อันซาโน ที่ตั้งขึ้นเพื่อเด็กและนักเรียนในวัดของคณะโดมินิกัน จนภายหลังเมื่อท่านจบหลักสูตรปรัชญาและคณิตศาสตร์ ท่านก็เข้าศึกษาต่อในด้านกฎหมายทั้งทางแพ่ง พระศาสนจักร และเทววิทยา ที่สุดท่านก็ได้เป็นอัศวินของกองทัพพระเจ้ารูดอล์ฟที่ 1 แห่งเยอรมนี สมดั่งใจหมายของบิดา

แต่แล้วจากการเล่นเกมส์ การแข่งขันและงานรื่นเริงต่างๆ ก็ค่อยๆชักนำท่านออกห่างจากกลุ่มภารดรภาพแห่งซาน อันซาโน เดชะบุญ โชคยังดีที่เพียงไม่นานท่านก็ตระหนักได้ว่าสิ่งเหล่านี้หรือโลกนั้นเป็นสิ่งไร้สาระหาแก่นสารใดๆไม่ได้ ท่านจึงตัดสินใจไปแก้บาปด้วยใจที่เป็นทุกข์ ซึ่งทำให้ท่านยิ่งเพิ่มพูนความเข้มแข็งในการเอาชนะการประจบต่างๆได้มากขึ้น หลังจากนั้นท่านก็ได้สมัครเข้ากลุ่มภราดรภาพแห่งซานตา มารีอา เดลลา น็อตเต ที่ทำงานรับใช้ผู้ป่วยอยู่ ณ โรงพยาบาลเดลลาสกาลา และได้พบพร้อมกลายเป็นเพื่อนสนิทกับปาตริซีโอ ปาตริซี และอัมโบรโจ ปิกโกโลมินี สองขุนนางหนุ่มที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน ที่มีใจศรัทธา


กล่าวถึงเมื่อท่านสำเร็จการศึกษาด้านกฎหมายแล้ว ท่านก็ได้ทำงานเป็นศาสตราจารย์ด้านกฎหมายในมหาวิทยาลัยแห่งกรุงเซียนา และได้มีโอกาสร่วมรบในสงครามเกลฟ์และกิเบลลิเน อันเป็นสงครามระหว่างฝักฝ่ายทางการเมืองทางตอนกลางและตอนเหนือของอิตาลีผู้หนุนหลังฝ่ายพระสันตะปาปาและสมเด็จพระจักรพรรดิแห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์(เยอรมัน)ตามลำดับ ในช่วงระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 12 จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 13 เป็นความขัดแย้งกันทางอำนาจในการแต่งตั้งสงฆ์ของคริสต์ศตวรรษที่ 11

และก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ใจที่ร้อนรนของท่านเหมือนกลับมาด้านชาต่อการรับใช้พระเจ้า แต่ก็เป็นอีกครั้งเช่นกันที่ท่านสามารถระลึกได้ ผ่านโรคทางสายตาของท่าน ที่ทำให้ท่านไม่อาจแม้จะยืนกลางแจ้งได้ ประการฉะนี้ ท่านจึงวิงวอนต่อพระเจ้าขอให้ทรงรักษา พร้อมให้สัญญาต่อทั้งพระองค์และแม่พระว่า หากท่านหายจากโรคร้ายนี้แล้วไซร้ ท่านก็จะกลับใจ พร้อมจะดำเนินชีวิตรับใช้พระ ซึ่งไม่ช้าพระเป็นเจ้าก็ทรงตอบรับคำภาวนานี้



ดังนั้นในปี ค..1313 ภายหลังจากโมทนาคุณพระองค์แล้ว ท่านจึงได้สละทรัพย์สมบัติของท่านให้กับคนยากจน ก่อนที่ท่าน ปาตริซีโอ อัมโบรโจ จะออกเดินทางไปยังที่ดินของครอบครัวของท่าน ที่มีชื่อเรียกว่า อักโกนา หรือปัจจุบันคือภูเขาโอลิเวโต ที่มีลักษณะเป็นสถานที่เปลี่ยว กันดารและรกไปด้วยพืชพันธุ์ต่างๆ เพื่อเริ่มชีวิตฤษีตามคำมั่นที่ให้ไว้ ทั้งสามมีเพียงหนังสือที่นำติดตัวไป กับเสื้อผ้าหยาบๆตามแบบฉบับพวกฤษี นอกนั้นพวกท่านก็ต่างช่วยกันลงไม้ลงมือทำด้วยตัวเอง แม้มันจะไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนที่เติบโตมาจะสังคมผู้ดีเช่นพวกท่านก็ตาม

ที่นี่ท่านที่นามใหม่ว่า เเบรนาร์โดตามนามของนักบุญเบอร์นาร์ด และสหายมีพระวรสารเป็นศูนย์กลางของชีวิต พวกท่านได้ช่วยกันเจาะเนินเขาเพื่อทำเป็นที่พักอาศัย และได้สร้างวัดหลังเล็กๆจากดิน เป็นที่ประดิษฐ์สถานไม้กางเขนใหญ่ขนาดสูงห้าฟุต ที่ท่านนำมาจากกรุงเซียนา (ซึ่งเป็นอันเดียวกันกับที่ตั้งอยู่ที่วัดบนภูเขาโอลิเวโตในปัจจุบัน) โดยพวกท่านจะกิจวัตรคือ พวกท่านจะรวมตัวกันร้องเพลงศักดิ์สิทธิ์วันละเจ็ดครั้ง หลังจากนั้นภายหลังร้องเพลงศักดิ์สิทธิ์แล้วแต่ละครั้ง ก็จะเป็นเวลารำพึงส่วนตัวถึงเช้า ซึ่งจะเป็นพิเศษในคืนวันพฤหัสบดีถึงวันศุกร์ก็จะมีหัวข้อรำพึงคือเรื่องราวพระมหาทรมาน



สำหรับกิจวัตรของท่านนั้นแต่ละวัน ภายหลังจากจบการร้องเพลงสดุดี ท่านก็จะใช้เวลาไปกับการเฆี่ยนตีตัวเอง และสวมเข็มขัดหนาม ส่วนในเวลากลางคืนท่านนอนไม่เกินสามชั่วโมงบนเสื่อ มีลำต้นของต้นไม้เป็นดั่งหมอน ท่านจะไม่ดื่มไวน์ ยกเว้นในวันฉลอง นอกจากนั้นท่านยังอดอาหารอยู่บ่อยๆ โดยมีหัวข้อในการอดดังนี้ คือ ในวันจันทร์อดเพื่อเป็นเกียรติแด่อัครเทวดา มีคาร์แอล ส่วนวันศุกร์อดเพื่อเป็นเกียรติแด่พระมหาทรมานของพระคริสตเจ้า และสุดท้ายในวันเสาร์อดเพื่อถวายเกียรติแด่พระนางมารีย์ แต่สำหรับในมหาพรตท่านก็จะไม่อดเพียงเท่านี้

และเนื่องจากเชื่อเสียงความศักดิ์สิทธิ์ของฤษีสามคนที่เจริญชีวิตใช้โทษบาปที่อักโกนา ขจรไปทั่วละแวกนั้น ก็ส่งผลให้มีชายหนุ่มหลายคนตัดสินใจ ติดตามท่านและสหาย ส่งผลทำให้เกิดชุมชนฤษีที่ทุกคนต่างอาศัยอยู่อย่างห่างกันขึ้นในอักโกนา โดยมีท่านที่ฤษีทุกคนต่างยึดเป็นอธิการและบิดาของพวกเขา แต่ถึงแม้จะมีคนติดตามจำหนึ่ง ที่นี่ก็ไม่มีกฎหรือข้อบังคับใดๆ มีหลายต่อหลายคนเริ่มจับจ้องกลุ่มฤษีแห่งอักโกนานี้ด้วยความสงสัย ใคร่รู้ ผู้แทนพระองค์ที่ประจำอยู่ ณ กรุงเซียนา ก็ได้ทำการไต่สวนเป็นพิเศษเรื่องกลุ่มฤษีของท่าน ตามคำสั่งของสมเด็จพระสันตะปาปา เพื่อดูแลกลุ่มนักพรต ที่ทุกๆที่ ต่างเรียกร้องให้พวกเขาได้รับการอนุมัติจากสันตะสำนัก


หลังจากนั้นอาจจะราวๆปลายปี ค..1318 หรือต้นปี ค..1319 เราไม่อาจทราบแน่ชัดถึงวันเวลา แต่ที่แน่นอนคือขณะท่านกำลังสวดภาวนา ท่านก็ได้แลเห็นภาพนิมิตบันไดที่มีฤษีหลายคนแต่งกายด้วยชุดสีขาวกำลังขึ้นไป โดยทูตสวรรค์คอยช่วยเหลือ และพระเยซูเจ้าพร้อมพระแม่รอท่าอยู่

ซึ่งเพื่อรักษาเสถียรภาพในกฎหมายของกลุ่มฤษีแห่งอักโกนา ที่ตอนนี้ตกที่นั่งลำบาก ท่านพร้อมปาตริซีโอก็ได้เดินทางเข้าพบพระคุณเจ้ากุยโด ตาร์ลาติ พระสังฆราชแห่งอัครสังฆมณฑลอาเรซโซ และพร้อมจดหมายแนะนำจากพระเจ้ากุยโด ท่านก็ตัดสินใจไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ที่ 22 ที่ทรงประทับอยู่ ณ อาวิญง เพื่อพิสูจน์ข้อสงสัยทุกอย่างทั้งต่อตัวท่านและสหายของท่านเอง ที่นั่นสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ที่ 22 ทรงสดับท่านอย่างแข็งขัน และกระตุ้นให้ท่านเลือกกฎของคณะใดคณะหนึ่งที่สันตะสำนักอนุมัติแล้ว ไปเป็นกฎสำหรับกลุ่มฤษีท่าน



และตามคำแนะนำของพระคุณเจ้ากุยโด ท่านก็ได้เลือกกฎของคณะเบเนดิกติน พร้อมชุดสีขาวเพื่อถวายเกียรติแด่พระนางมารีย์ ตามจิตตารมณ์ของหมู่คณะใหม่ที่อุทิศตนเป็นพิเศษต่อพระนาง ดังนั้นท่านและสหายแห่งอักโกนาจึงได้รับมอบเสื้อศักดิ์สิทธิ์ตามแบบคณะเบเนดิกตินแต่เป็นสีขาว จากคุณพ่ออธิการอารามซัสโซ ในวัดพระตรีเอกภาพ อาเรซโซ ก่อนในวันที่ 26 มีนาคม ค..1319 ท่านและสหายจึงได้เข้าพิธีปฏิญาณตน ณ อาสนวิหารแห่งอาเรซโซ โดยมีพระคุณเจ้ากุยโดเป็นประธานในพิธีมิสซา และพร้อมกันนั้นก็ได้รับอนุญาตสร้างอารามขึ้น อันนับเป็นการเริ่มต้นของคณะใหม่

1 เมษายน ค..1319 จึงมีการวางศิลาฤทธิ์ สร้างอารามซานตา มารีอา ดี มอนเต โอลิเวโต มัจจอเร ขึ้น โดยมีกฎของเบเนดิกตินเป็นที่ตั้ง แต่มีระบบการปกครองแตกต่างกัน ซึ่งกลุ่มที่นี่จะมีระบบคล้ายๆกับภาครัฐของกรุงเซียนา คืออธิการจะมีวาระเพียงหนึ่งปีและต้องได้รับการยืนยันจากพระสังฆราชแห่งอาเลซโซ และเมื่อการเลือกอธิการครั้งแรกถูกจัดขึ้น  ท่านที่ต้องการเจริญชีวิตอย่างซ่อนเร้น ก็สามารถเอาตัวรอดจากการเลือกตั้งมาด้วยข้ออ้างที่ว่า สายตาท่านไม่ค่อยดี ไม่ใช่เพียงแต่ครั้งนั้น แต่ถึงสองครั้ง ทำให้อธิการสามคนแรกจึงไม่ใช่ท่าน



แต่ที่สุดในวันที่ 1 กันยายน ค..1322 ท่านก็ไม่สามารถยับยั้งความปรารถนาให้ท่านดำรงตำแหน่งอธิการของบรรดาสมาชิกได้ ฉะนั้นท่านจึงได้รับตำแหน่งอธิการเป็นคนที่สี่ แต่เมื่อครบวาระหนึ่งปี ท่านก็จะลาออก และก็ถูกเลือกอีกซ้ำไปซ้ำมาอย่างนี้กระทั้งท่านเสียชีวิต เพราะเป็นพระประสงค์ของพระเจ้าให้ท่านเป็นดั่งชุมพาที่คอยดูแลฝูงแกะแห่งมอนเต โอลิเวโต ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ที่ส่องประกายออกมาจากร่างอันผอมแห้งและซีดเซียว ที่มักอยู่ในการรำพึงเสมอ

จนในการเลือกในปี ค..1326 ท่านก็ไม่ปรารถนาจะรับตำแหน่งอธิการอารามด้วยปัญหาทางสายตาของท่าน ฉะนั้นในวันที่ 24 กันยายน ปีนั้นเพื่อเป็นการพิสูจน์ พระคุณเจ้าพระคาร์ดินัลโยวันนี ไกตานี โอร์ซีนี จึงเป็นผู้แทนสันตะสำนักมาตรวจสอบการบริหารของท่าน ซึ่งภายหลังจากตรวจสอบแล้ว พระคุณเจ้าก็ได้บันทึกว่า เขาได้เติมเต็มงานบริหารด้วยความรอบคอบและสติปัญญา จนทำให้แน่ใจได้เลยคุณธรรมของชีวิตเขาที่มีข้อบกพร่องในการมองเห็นและความอ่อนแอของเขาได้รับการชดเชยแล้วโดยการบริหารที่น่ายกย่องและร้อนรนในการปกครองพี่น้องของเขา เมื่อการตัดสินเป็นเช่นนั้น ท่านจึงนบนอบจนถึงวันสุดท้ายของท่าน



และดูเหมือนพระเจ้าจะทรงอวยพรงานนี้ เพราะก่อนท่านจะสิ้นใจลง คณะก็มีอารามถึงสิบหลังอันประกอบด้วย อารามที่ภูเขา โอลิเวโต , อารามซาน เบเนเด็ตโต เซียนา , อารามซาน เเบรนาร์โด อเรซโซ , อารามซาน บาร์โตโลเมโอ ฟลอเรนซ์ , อารามซาน อันนา กัมเปรนา , อารามซาน โดนาโต กุบบีโอ , อารามซาน นิโกโล โฟลิกโน  , อารามซาน มารีอา อิน โดมินิกา โรม , อารามซาน อันเดรีย โวลเตรรา และอารามซาน มารีอา บาร์เบียนา ซึ่งในฐานะอธิการท่านก็เชื่อมโยงบรรดาอารามต่างไว้อย่างใกล้ชิดกับอารามโอลิเวโต ท่านคอยส่งจดหมายที่เต็มไปด้วยปัญญาและน่ายำเกรง เพื่อทำให้คณะเกิดความสามัคคีซึ่งเป็นความกังวลหนึ่งของท่าน

และที่สุดในวันที่ 1 มกราคม ค..1344 การรอคอยก็สิ้นสุดลง ภายหลังจากมีอารามสิบแห่ง เมื่อสมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ ที่ 6 ทรงออกกฤษฎีการับรองคณะของท่าน อันนับว่าบัดนี้คณะพระนางมารีย์แห่งมอนเต โอลิเวโต หรือคณะโอลิเวตัน ได้รับการรับรองแล้วอย่างเป็นทางการจากทางสันตะสำนัก ซึ่งในโอกาสนี้ท่านก็ได้ส่งพระสงฆ์ในคณะสองคนไปแทนท่าน



ในฐานะอธิการท่านไม่เคยทิ้งอารามโอลิเวโตไปไหน ยกเว้นเมื่อสมเด็จพระสันตะปาปาส่งท่านไปเมืองซูตรี เพื่อจัดการปัญหาความขัดแย้งเรื่องพระสันตะปาปาเงานามเปียโตร ดี โกรบารีโอ ในปี ค..1328 ที่แต่งตั้งโดยจักรพรรดิลุดวิจที่ 4 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งระหว่างอยู่ที่นั่นก็มีคนนำคนตาบอดมาหาท่าน และท่านก็ได้รักษาให้หายอย่างน่าอัศจรรย์ สมดั่งคำที่คนเรียกท่านว่า บุคคลผู้น่ายกย่องและศักดิ์สิทธิ์ และด้วยบัดนี้คณะได้รับอนุมัติแล้ว ในวันที่ 4 พฤษภาคม ค..1347 ก็ได้มีการเลือกท่านเป็นอัครธิการของคณะเป็นคนแรก พวกเรามีความมั่นใจอย่างยิ่งในตัวท่าน เพราะความศักดิ์สิทธิ์ของท่านที่ไม่เคยหลงห่างจากน้ำพระทัยของพระเจ้า และการดูแลความรอดของวิญญาณบรรดาพี่น้องและบุตรชายของท่าน

ความยินดีในคณะอยู่ได้ไม่นานนัก กาฬโรคก็เริ่มระบาดไปทั่วยุโรปในปี ค.. 1348 มันได้ฆ่าชีวิตผู้คนไปหลายหมื่นคน ท่านก็ได้ตัดสินใจละทิ้งความสันโดษที่ท่านรัก แล้วลงไปอยู่ ณ อาราม ที่กรุงเซียนา พร้อมสมาชิกคนอื่น เพื่อช่วยกันดูแลผู้ป่วย นับเวลาได้ถึงสี่เดือน ท่านก้าวออกไปเป็นแบบอย่าง โดยไร้ซึ่งความกลัวใดๆ ท่านได้จุดไฟแห่งเมตตาในใจของสหาย ที่จะมองข้ามตัวเองไปยังคนอื่น แต่อนิจจาด้วยการอุทิศตนอย่างรู้จักเหน็ดจักเหนื่อยนี้เอง ก็ทำให้ท่านติดโรคร้ายขณะดูแลนักบวชที่ป่วย จนที่สุดในวันที่ 20 สิงหาคม 1348 ขณะอายุ 76 ปี ท่านก็ถึงแก่มรณกรรมอย่างสงบ เช่นเดียวกับนักบวชของท่านอีก 82 องค์



ร่างของวีรบุรุษชุดขาวนาม แบรนาร์โดถูกฝังอย่างลวกๆ พร้อมศพอื่นๆในหลุมรวม ไร้ซึ่งป้ายบอกว่าคือใคร หรือพิธี หรือโลงศพ หรือดอกไม้ ท่านจากไปทิ้งไว้แต่คุณธรรมและความศักดิ์สิทธิ์ ที่นับวันยิ่งส่งกลิ่นอบอวลไปทั่วพระศาสนจักร แม้จะไม่มีพิธีบันทึกนามท่านในฐานะบุญราศี มีเพียงแต่การรับรองว่าท่านเป็นบุญราศีจากสมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ ที่ 10 ในวันที่ 24 พฤศจิกายน ค..1644 ท่านก็ถูกเรียกว่า นักบุญ มาตลอดหลายร้อยปีแห่งมรณกรรม จนที่สุดในวันที่ 26 เมษายน ค..2009 หลังสิ้นเสียงพระดำรัสสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ คริสตชนทั่วโลกก็ยิ่งสามารถเรียกท่านได้อย่างเต็มปากมากขึ้นว่า นักบุญของพระศาสนจักร

จงนำขนมปังสักชิ้นหนึ่งมาให้ฉันด้วย(1 พงกษัตริย์ 17:11) จากบทอ่านที่หนึ่งในวันอาทิตย์ที่ 7 พฤศจิกายนนี้ ทำให้เราคิดว่าในบางครั้งพระเจ้าก็มักทรงทดสอบผู้รับใช้ของพระองค์ด้วยวิธีการที่ยากมากๆเสมอ เช่นคราวของหญิงม่ายในเมืองศาเรฟัต คำพูดของเอลียาห์นี้ทำให้เธอคิดหนัก เพราะเวลานั้นเธอก็ไม่มีอาหารจะกินอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตามผ่านความเมตตาของเธอ เธอจึงได้รับสิ่งที่เกินกว่าเธอจะคิดถึง เช่นเดียวกันในลักษณะคล้ายกันนี้ ในขณะที่เกิดกาฬโรคระบาด นักบุญแบร์นาโดได้รับการดลใจหรือเปรียบดั่งเสียงเรียก ที่กระตุ้นให้ท่านต้องออกไปดูแลบรรดาผู้ป่วย แม้จะต้องเอาชีวิตเป็นประกัน แต่ท่านก็ไม่หวั่น ท่านได้เลือกทำเช่นหญิงม่ายผู้นี้ แต่บำเหน็จที่ท่านได้ไม่ใช่บนโลก แต่เป็นในสวรรค์ ดังนั้นเมื่อนำเรื่องราวของทั้งสองมาไตร่ตรองก็จะพบว่า ในหลายๆครั้งพระเจ้าก็ทรงทดสอบเราในสิ่งที่ยากที่สุดเสมอ พระองค์ทรงร้องขอในสิ่งที่ยากที่สุดในชีวิตเรา แต่กระนั้นทุกๆครั้งไป เมื่อเราสามารถตัดสละน้ำใจของเราได้ พระองค์ก็จะทรงประทานพระหรรษทานตอบแทนเราเสมอ ดังนั้นเมื่อเราถูกร้องขอเช่นหญิงหม้ายนี้ เราจงอย่าลังเลเลย เพราะ สิ่งที่เราเสียไป เทียบไม่ได้เลยกับสิ่งที่เราจะได้กลับคืนมา นั่นคือ อาณาจักรสวรรค์ อัลเลลูยา อัลเลลูยา




ข้าแต่ท่านนักบุญแบร์นาโด โตโลเมย ช่วยวิงวอนเทอญ


หมายเหตุ : แม้ปัจจุบันท่านจะเป็นนักบุญแล้ว ก็ยังไม่สามารถค้นหาร่างของท่านได้

ข้อมูลอ้างอิง



'เบร์นาร์โด ฟรานซิสโก' ให้ชีวิตนี้เป็นสะพานนำรักพระองค์ไป ตอนจบ

บุญราศีเบร์นาร์โด ฟรานซิสโก เด โอโยส เด เซญา Bl. Bernardo Francisco de Hoyos de Seña วันฉลอง: 29 พฤษจิกายน [ย้อนกลับไปอ่าน  “‘เบร์นาร์โด ฟรา...