นักบุญยัง
ซาร์คันเดอร์
St. Jan
Sarkander
ฉลองในวันที่ : 17
มีนาคม
หมายเหตุ : เรื่องต่อไปนี้ไม่มีเจตนาโจมตีนิกายในทั้งสิ้น
มีจุดประสงค์ก็เพียงเพื่ออ่านเสริมศรัทธาเท่านั้น เวลานั้นผมในฐานะคริสตังคนหนึ่งก็ยอมรับว่าพระศาสนจักรกระทำรุนแรงเกินไปกับพี่น้องต่างนิกาย
แต่เราไม่อาจแก้ไขอดีตได้ แต่เราสามารถทำปัจจุบันให้ดีขึ้นได้
คุณพ่อยัง
เกิดในตระกูลชนขุนนางชั้นกลางที่เมืองสก็อคโซฟ ราชอาณาจักรโบฮีเมีย (ปัจจุบันตั้งอยู่ในจังหวัดชลางสเกีย
ของประเทศโปแลนด์) เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ค.ศ.1576 บิดามารดาของท่านคือเจซโกรซา มาแชยา
และเฮเลนี ซกูเรคกีค ซึ่งภายหลังที่บิดาสิ้นใจในปี ค.ศ.1589 มารดาก็ตัดสินใจพาครอบครัวย้ายไปฟรีโบรา
ในประเทศโมราวา(ประเทศทางประวัติศาสตร์ทางตอนกลางของยุโรป
ปัจจุบันอยู่ในสาธารณรัฐเช็ก) และเป็นที่นั่นที่ท่านได้เข้าโรงเรียนของเขตวัด
จนเมื่อมีวัยได้
23 ปี
ท่านก็สมัครเข้าเรียนในคณะมนุษย์ศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยของคณะเยซูอิต ที่ โอโลมูนซู
ด้วยบุคลิกนักศึกษาผู้เปี่ยมพรสวรรค์และขยันหมั่นเพียร
หลังจากนั้นท่านจึงเข้าศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยชาร์ลส์ของคณะเยซูอิต ในปราก
จนจบปริญญาเอกสาขาปรัชญาจากมหาวิทยาลัยนี้ในราวๆปี ค.ศ.1600 แต่แม้ในช่วงแรกท่านจะเชื่อว่าท่านมีกระแสเรียกการเป็นพระสงฆ์
ท่านก็ตัดสินใจไม่ศึกษาด้านเทววิทยาต่อและได้เข้าพิธีสมรส
แต่อยู่กินกันได้ประมาณปีหนึ่งภรรยาที่เราไม่ทราบนามของท่าน ก็สิ้นใจลง
ท่านจึงแน่วแน่ว่าท่านมีกระแสเรียกเป็นพระสงฆ์จริงๆ
ดังนั้นท่านจึงเข้าศึกษาต่อด้านเทววิทยา ณ มหาวิทยาลัยแห่งกราซ ในประเทศออสเตรีย
และจบในราวปี ค.ศ.1608
และที่สุดท่านจึงได้รับศีลบรรพชาเป็นพระสงฆ์ของพระคริสต์ในปี ค.ศ.1609 ณ เมืองนั้น ก่อนจะกลับมาประจำในสังฆมณฑลโอโลมูนซู
และได้ออกทำงานอภิบาลตามเมืองเพื่อปกป้องความเชื่อของพระศาสนจักรที่กำลังเผชิญกับกลุ่มเบรเธม
กลุ่มนิกายปฏิรูปของเช็คในเวลานั้น ที่เข้มแข็งมาก
ซึ่งขอเล่าย้อนในเวลาไล่เลี่ยกันกับที่ท่านรับศีลอนุกรม
บารอนชื่อ วลาดิสลาฟ ลอบกอวิทช์ ผู้ว่าการโมราเวีย ก็ได้ซื้อที่ดินในโฮเลสโชเวีย
และด้วยความที่เขาเป็นคริสตังที่ร้อนรนอีกคนหนึ่ง
เขาจึงตัดสินใจจะฟื้นฟูพระศาสนจักรขึ้น ณ ที่ดินที่เขาซื้อนี้
ด้วยการสั่งยึดคริสตจักรและวิทยาลัยของกลุ่มเบรเธมและยกให้พระศาสนจักร
พระสังฆราชประจำสังฆมณฑลจึงมอบหมายให้คณะเยซูอิตเข้ามาดูแลวิทยาลัยและได้มอบให้ท่านเข้ามาเป็นพ่อเจ้าวัดที่นี่ตั้งแต่ปี
ค.ศ.1616 เป็นต้นมา
ซึ่งด้วยความร่วมมือจากคณะเยซูอิต
ท่านก็สามารถทำให้ผู้คนกว่าสองร้อยคนที่ไม่ใช่คริสตังได้กลับใจ
มาสู่คอกแกะของพระศาสนจักร อันนับเป็นเรื่องน่ายินดีแก่พระศาสนจักร แต่เรื่องนี้ไม่ใช่กับบารอน
บีโทฟสกา เพื่อนบ้านของวลาดิสลาฟ ซึ่งเป็นลูเธอร์ลัน
ที่ยิ่งเห็นการกลับใจมากขึ้นก็ยิ่งทวีความโกธรและความมุ่งมั่นที่จะดึงคนเหล่ากลับมานับถือตามเดิมเท่านั้น
แต่อย่างไรๆ เขาก็หาหนทางมาไม่ได้ซักทีกระทั้ง….
ท่านเป็นคนอย่างไร
จากประวัติฉบับหนึ่งได้เขียนเอาไว้ว่า “ไม่ค่อยกินอาหาร – ผู้รับใช้พระเจ้าผู้สัตย์ซื่อ – แต่งตัวง่ายๆ – อัครสาวกของพระคริสตเจ้า – ภาพสะท้อนของคุณธรรมทั้งหลาย – นักบุญใจศรัทธา – พยานถึงความเชื่อ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นเหมือนลูกแกะ - เงียบงัน” ท่านเป็นคนถ่อมตน
เวลาเดียวกันก็เป็นคนที่ร้อนรนในการตักเตือนถึงสิทธิ์ของพระศาสนจักร
ท่านทำให้คนสงสัยได้กลับใจและคนทุกข์โศกให้ได้รับความบรรเทาใจ ท่านคอยช่วยคนยากจน
แต่เหนือสิ่งอื่นใดที่กล่าวมาคือท่านร้อนรนต่อกระแสเรียกและการปกป้องความเชื่อของพระศาสนจักร
เมื่อสงครามสามสิบปี
(ค.ศ.1618-ค.ศ.1648) อันเป็นสงครามระหว่างกลุ่มโปรแตสแตนต์ภาคกลางยุโรปกับกลุ่มคาทอลิก
ในปี ค.ศ.1619
โมราเวียก็ถูกปกครองด้วยรัฐบาลจากกลุ่มโปรแตสแตนต์
การเบียดเบียนพระศาสนจักรในโมราเวียจึงเริ่มขึ้น
ท่านที่ทราบดีว่าตนเองเป็นเป้าสำคัญ จึงได้ตัดสินใจหลบหนีออกจากโฮเลสโชเวีย
และได้ไปแสวงบุญที่วัดแม่พระฉวีดำในโปแลนด์
ก่อนจะซ่อนตัวอยู่ที่ริบนิคและคราคูฟตามลำดับ แต่เพียงไม่กี่เดือน
ท่านก็ตัดสินใจกลับมาที่โฮเลสโชเวียอีกครั้ง
เหตุการณ์ความคัดแย้งยิ่งเลวร้ายลงเรื่อยๆ
ในสงครามครั้งนี้ พระเจ้าซิกมุนตา ที่ 3 แห่ง โปแลนด์
ก็ได้มีบัญชาส่งกลุ่มทหารคอสแซคจำนวน 4000 นายไปช่วยรบกับฝ่ายคาทอลิก
ฉะนั้นอเล็กซานดรา ลีโซฟสเกโก จึงคุมคอสแซคทั้งสี่พันนายออกเดินทางในทันที
จนลุถึงชายแดนโมราเวีย
พวกเขาก็ได้ทำสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อนที่ไหนด้วยการเริ่มปล้นสะดมและเผาเมืองและหมู่ทุกที่ผ่านในแดนโมราเวีย
จนมาในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1620 พวกเขาก็มาใกล้โฮเลสโชเวีย
นับเป็นโอกาสเหมาะ
ศัตรูของท่านจึงเริ่มเที่ยวประกาศไปทั่วว่าท่านเป็นคนพาพวกคอสแซคเหล่านั้นมา แต่ท่านไม่เกรงกลัวและได้จัดขบวนแห่ศีลไปเผชิญหน้ากับพวกทหารคอสแซคในทันที
และเนื่องจากพวกคอสแซคเป็นชาวโปแลนด์ ซึ่งต่างล้วนยึดมั่นในพระศาสนจักร
พวกเขาจึงไม่ได้เขาทำร้ายใคร แต่กลับลงจากหลังม้าและคุกเข่าลง
พลางให้สัญญาว่าจะไม่ทำลายหมู่บ้านนี้ ส่งผลให้โฮเลสโชเวียจึงรอดปลอดภัยจากการทำลาย
แต่แม้จะหยุดกลุ่มคาทอลิกไม่ให้ทำลายหมู่บ้านได้
ท่านก็ไม่อาจหยุดกลุ่มโปรแตสแตนต์ได้ บีโทฟสกาได้โอกาสกล่าวหาว่าท่านเป็นกบฏ
พร้อมยกว่าการไปแสวงบุญที่วัดแม่พระฉวีดำของท่านเป็นข้ออ้างเพื่อการไปติดต่อกับพวกกองกำลังต่างชาติ
ท่านจึงต้องหนีไปซ่อนในปราสาท แต่ก็ถูกคนหักหลัง
จนท่านต้องหนีหัวซุกหัวซุนเข้าไปในป่า และถูกจับ ถูกขัง ก่อนถูกนำขึ้นไต่สวนในศาลของโอโลมูนซู
ที่นั่นท่านถูกบังคับให้ยอมรับสารภาพตามข้อหากบฏสามครั้งคือในวันที่
13 , 17 และ 18 กุมภาพันธ์
เพื่อพวกเขาจะมีข้ออ้างในการข่มเหงคริสตัง แต่ท่านปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ พวกเขาจึงทรมานท่านด้วยการจับมัดขากับพื้น
แล้วมัดมือด้วยเชือกที่เชื่อมกับล้อที่จะถูกหมุนเพื่อให้กระดูกหลุดจากข้อต่อหรือเส้นเอ็นขาด
ท่านน้อมรับการทรมานซ้ำๆนี้หลายๆครั้งด้วยความอดทน
และยังคงหนักแน่นที่จะยืนยันความบริสุทธิ์ใจ
ผู้ทำการทรมานจึงหันมาใช้คบไฟลนตามข้างตัวของท่าน
และบีบศีรษะของท่านด้วยเครื่องบีบศีรษะ แต่ก็ยังไร้ผล
ทหารของพระคริสตเจ้ายังคงนิ่งเงียบเช่นเดิม ลุถึงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ผู้สอบสวนได้ถามท่านว่า “มันจะเป็นไปได้อย่างไรกันที่แกจะไม่รู้เรื่องนี้
แกบอกเราไม่ได้เลยหรือว่าเจ้าลอบกอวิทช์นายของแกพูดอะไรมั่งในระหว่างแก้บาป” ฟังดังนั้นท่านในฐานะสงฆ์ที่ต้องรักษาความลับของศีลอภัยบาป
ก็ตอบอย่างกล้าหาญว่า “ในฐานะที่มันคือความลับของศีลอภัยบาป
พ่อไม่สามารถเปิดเผยมันได้ ไม่มีอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่พ่อรู้
และพ่อก็ไม่อยากรู้ ไม่อยากคิดหรือจดจำมันด้วยซ้ำ
และยิ่งเป็นตราประทับอันศักดิ์สิทธิ์ที่มิอาจล่วงเกินได้ของศีลศักดิ์สิทธิ์นี้ด้วย
ดังนั้นแม้พ่อจะรู้ พ่อก็ขอเลือกถูกทรมานจนตายและกลับไปเป็นผงคุลีเสียดีกว่า
นี่เป็นพระหรรษทานของพระเจ้าที่จะทนทรมาน
ดีกว่าทำบาปด้วยการทุรจารธรรมล้ำลึกนี้เพียงชั่วครู่”
ท่านจึงถูกทรมานต่อ
แต่กระนั้นตลอดเวลาท่านเฝ้าสวดภาวนาอยู่เสมอเพื่อขอความเพียร ความอดทน
และความกล้าหาญ ท่านคอยขาน “เยซู มารีย์” แต่ผู้ทรมานท่านเข้าใจว่าท่านกำลังฝึกคาถาอยู่
พวกเขาจึงตัดสินใจจะล้างมนต์ดำตามที่เขาเข้าใจ ด้วยการโกนขนแมว โกนผมละหนวดของท่าน
พร้อมเล็บเท้าของท่านมาเผาให้เป็นขี้เถ้า แล้วจึงนำมาผสมกับน้ำให้ท่านดื่ม
หลังจากนั้นจึงค่อยนำตัวท่านออกจากเครื่องทรมานนั้น แล้วโยนเข้าไปในคุกในสภาพหมดสติ
ปล่อยให้นอนรอความตายบนกองฟางในคุก
วันเวลาผ่านไปกับการสวดภาวนาและความบริสุทธิ์ใจ
จนลุถึง 17 มีนาคม ค.ศ.1620 ท่านก็ถึงแก่มรณกรรมอย่างสงบด้วยอายุ 43 ปี ร่างของท่านถูกฝัง ณ
วัดพระนางมารีย์ โอโลมูนซู ตรงวัดน้อยนักบุญลอเรนซ์ ในฐานะมรณสักขี
ผู้คนค่อยๆทยอยมาสวด ณ หลุมของท่านเรื่อยๆ
ยิ่งหลังสงครามสามสิบปีจบลงก็มีมากขึ้น ที่สุดจึงมีการเสนอนามท่านเป็นนักบุญ
กระทั้งในวันที่ 6 พฤษภาคม ค.ศ.1860 ท่านจึงได้รับการบันทึกนามในสารบบบุญราศี
โดยสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอ ที่ 9 หลังจากนั้นเมื่อสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล
ที่ 2 ทรงมีแผนจะเสด็จเยือนสาธารณรัฐเช็ค
พระองค์ก็ทรงมีพระประสงค์จะสถาปนาท่านขึ้นเป็นนักบุญ
แต่เมื่อพระคุณเจ้าปาเวล
เซเตตานา ทราบก็ทูลทัดทานไว้เนื่องจากเกรงจะเป็นการเปิดแผลเก่า
แต่เมื่อทรงทราบดังนั้นพระองค์ก็ทรงตอบพระคุณเจ้าว่าพระองค์มีประสงค์จะแต่งตั้งบุญราศียังเป็นนักบุญก็เพราะต้องการแสดงถึงความอยุติธรรมและความขาดเมตตาจิตในอดีตของทั้งสองฝั่งควรจะถูกลืม
และมีการขออภัยซึ่งกันและกัน ฉะนั้นในวันที่ 21 พฤษภาคม ค.ศ.1995 ในพิธีสถาปนาท่าน
พระองค์จึงได้ทรงตรัสว่า“ในวันนี้ ข้าพเจ้า พระสันตะปาปาแห่งพระศาสนจักรโรมันคาทอลิก
ในนามของคริสตชาคาทอลิกทุกคน มาขออภัยสำหรับความผิดที่ได้ทำร้ายผู้ไม่ได้เป็นคริสตชนคาทอลิกในประวัติศาสตร์อันยาวนานของชนชาตินี้
เวลาเดียวกันข้าพเจ้าก็ขอมัดจำด้วยการอภัยจากพระศาสนจักรคาทอลิกสำหรับการเบียดเบียนบรรดาบุตรและธิดาของเธอ(พระศาสนจักร)”
“ท่านทั้งหลายอภัยบาปของผู้ใดบาปของผู้นั้นก็ได้รับการอภัย
ท่านทั้งหลายไม่อภัยบาปของผู้ใดบาปของผู้นั้นก็ไม่ได้รับการอภัยด้วย”(ยอห์น 20:23) ผ่านพระวาจาข้อนี้พระสงฆ์จำนวนมากได้รับตราแห่งการอภัยบาป
คุณพ่อยังก็คือหนึ่งในนั้น ท่านได้ตระหนักดีถึงข้อพระวาจานี้ ว่าท่านไม่เพียงแต่ต้องอภัยบาปตามที่พระเยซูเจ้าทรงประทานให้เท่านั้น
แต่ท่านต้องปกปิดบาปเหล่านั้นตามที่พระศาสนจักรประกาศด้วย ดังนั้นแม้จะต้องแลกกับชีวิตของท่าน
ท่านก็ยอม ซึ่งจากการอ่านเรื่องราวของท่านนี้ ท่านไม่เพียงแต่เป็นแบบอย่างของพระสงฆ์ที่ดี
แต่ยังท่านยังกำลังเรียกร้องให้เราในฐานะคริสตชน ให้เข้าไปร่วมในการทำให้รหัสธรรมแห่งศีลอภัยบาปนี้ศักดิ์สิทธิ์ไป
ด้วยการไปแก้บาปด้วย ‘ใจ’ ไม่ใช่ด้วย ‘ความเคยชิน’ท่านกำลังเรียกร้องให้พวกเราให้เข้าไปหาพระคริสต์ในห้องแก้บาปด้วยใจเวทนาในสภาพวิญญาณของเราเอง
ไม่ใช่ไปเพราะคนอื่นบอก และกำลังเรียกร้องให้เราเป็นมรณสักขีหรือพยานถึงพระเมตตาในศีลอภัยบาป
เพื่อที่ว่า “อัศจรรย์แห่งพระเมตตาได้ปรากฏขึ้นอย่างเต็มที่”(เทียบพระวาจาของพระเยซูเจ้าต่อนักบุญโฟสตินา) วันนี้ให้เราถามตนเองว่าในวันที่เราเข้าไปที่ห้องแก้บาปเรากำลังไปเพราะอะไร
เพราะใจหรือคนอื่น อัลเลลูยา อัลเลลูยา
“ข้าแต่ท่านนักบุญยัง ซาร์คันเดอร์
ช่วยวิงวอนเทอญ”
ข้อมูลอ้างอิง