นักบุญมารีอา
แบร์นาร์ดา บึทเลอร์
St. Maria
Bernarda Bütler
ฉลองในวันที่ : 19 พฤษภาคม
การผจญภัยครั้งใหม่
ในดินแดนที่เป็นดั่งบ้านป่าเมืองเถื่อน เริ่มขึ้นในบ้านสามชั้นในเอาว์ รัฐอาร์เกา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
บ้านที่เป็นของเกษตรกรสองสามีภรรยาชื่อ ไฮน์ริช และ คัฮทารีนา บึทเลอร์ เมื่อเด็กหญิงคนหนึ่ง
ผู้มฐานะเป็นลูกคนที่สี่จากแปดคนของทั้งสอง กำเนิดในวันที่ 28 พฤษภาคม ค.ศ.1848 และได้รับน้ำแห่งชีวิต อาศัยศีลล้างบาป
ณ วัดนักบุญนิโคลัส ในวันเดียวกัน ด้วยชื่ออันแสนไพเราะว่า “เวเรนา บึทเลอร์
ไฮน์ริช
และ คัฮทารีนา ต่างเป็นคนสุภาพ และใจศรัทธา
ทั้งสองต่างช่วยกันบ่มเพาะธิดาน้อยของเขา เช่นเดียวกับบุตรและธิดาอีกเจ็ดคน
ให้เติบโตขึ้นมาในความรักของพระเจ้าและเพื่อนบ้าน จวบจนจากทารกน้อย
ก็เติบใหญ่มาเป็นเด็กหญิงที่มีสุขภาพดี สติปัญญาเฉลียวฉลาด มีความสุข เอื้อเฟื้อ
รักธรรมชาติ ใฝ่เรียนรู้ ซึ่งในวัย 7 ปี ก็ได้เข้าโรงเรียนประถมศึกษา และด้วยความร้อยรนมุ่งมั่น
ท่านก็ได้รับศีลมหาสนิทครั้งแรก ในวันที่ 16 เมษายน ค.ศ.1860 เหตุการณ์นั้นยังคงตราตรึงในใจของท่านเสมอ
และความศรัทธาเป็นพิเศษต่อศีลมหาสนิทนี้เอง ที่เป็นรากฐานสำคัญของชีวิตฝ่ายจิตของท่าน
หลังจากนั้นภายใต้การนำของความรักของพระเจ้า
ท่านในวัย 18 ปี ก็สมัครเข้าเป็นโปสตุลันต์ในอารามใกล้ๆบ้าน
แต่ในไม่ช้าท่านก็ตระหนักได้ว่าพระองค์มิได้ทรงเลือกท่านมาที่นี่
ฉะนั้นเองท่านจึงตัดสินใจลาออก และเดินทางกลับบ้านในทันที จนหนึ่งปีให้หลัง ในวัย 19 ปี ท่านก็ตัดสินใจเข้าอารามอีกครั้ง แต่คราวนี้ตามคำแนะนำของคุณพ่อเจ้าวัด
ท่านจึงสมัครเข้าอารามแม่พระองค์อุปถัมภ์ของคณะกลาริส กาปูชิน ที่ อัลท์สเต็ทเท็น
ในวันที่ 12 พฤศจิกายน ค.ศ.1867 ก่อนจะได้รับเสื้อศักดิ์สิทธิ์ของคณะในวันที่4 พฤษภาคม ปีถัดมา พร้อมนามใหม่ว่า “ซิสเตอร์มารีอา แบร์นาร์ดา แห่ง
ดวงหทัยของพระแม่มารีย์” และที่สุดจึงได้เข้าพิธีปฏิญาณตนเป็นซิสเตอร์ในวันที่
4 ตุลาคม ค.ศ.1869 ด้วยคำมั่นจะรับใช้พระองค์ในชีวิตแห่งการไตร่ตรองไปจนวันตาย
ด้วยความหวัง
พระคุณเจ้าเปโตร ชูมาเชอร์ พระสังฆราชประจำสังฆมณฑลปอร์โตวีเอโฆ ในประเทศเอกวาดอร์
ได้ส่งคำเชื้อเชิญไปยังอารามแม่พระองค์อุปถัมภ์
บอกเล่าถึงสถานการณ์อันล่อแหลมของบรรดาลูกแกะในสังฆมณฑลของเขา
พร้อมขอซิสเตอร์มาทำงานในสังฆมณฑลของเขา และทันทีที่ท่านทราบ ท่านก็แลเห็นน้ำพระทัยของพระเจ้า
ใช่แล้ว ไปเป็นธรรมทูต ประกาศข่าวดีในประเทศที่ห่างไกล ท่านจึงไม่รีรอที่จะตอบรับคำเชื้อเชิญนี้ด้วยความเต็มใจ
แต่ยังไม่ทันได้ออกเดินทางไปไหน
กางเขนอันแรกก็หล่นตุ๊บลงมาประเดิมท่าน พระสังฆราชประจำสังฆมณฑลเซนต์ กาลเลิน
อยากให้ท่านอยู่ต่อจึงทัดทานท่านไว้ แต่อย่างไรก็ตามที่สุด
ท่านก็สามารเอาชนะการทัดทานนี้ และได้รับอนุญาตให้ออกจากเขตพรตได้จากพระสังฆราช ฉะนั้นท่านพร้อมซิสเตอร์อีกหกคน
จึงได้โบกมืออำลาอาราม และมุ่งหน้าลงเรือไปยังสนามแพร่ธรรมใหม่
ที่เจ้าบ่าวของท่านเตรียมไว้แล้วสำหรับท่าน ในวันที่ 19 มิถุนายน ค.ศ.1888
เวลานี้ภายในใจของท่าน
แน่วแน่ที่จะตั้งกลุ่มธรรมทูตที่ขึ้นตรงกับอารามสวิส
โดยที่ไม่รู้เลยว่าพระเจ้าจะทรงเล่นตลกกับท่านครั้งยิ่งใหญ่ ที่จะเปลี่ยนจากผู้ตั้งอาราม
ให้กลายเป็นผู้ตั้งคณะ “ภคินีธรรมทูตฟรังซิสกันแห่งแม่พระองค์อุปถัมภ์” ทีละนิดเวลาก็ค่อนๆล่วงผ่าน จากวันเป็นอาทิตย์
จากอาทิตย์เป็นเดือน ที่สุดท่านและคณะก็มาถึง ท่ามกลามการต้อนรับอย่างแข็งขันจากพระคุณเจ้าเปโตร
ก่อนที่จะได้รับมอบหมายมให้ไปเริ่มงานที่ชุมชนโชเน
ชุมชนที่มีประชากรประมาณ 13,000 คน ซึ่งกำลังตกอยู่ในขั้นวิกฤต
เพราะขาดแคลนพระสงฆ์ที่จะประกอบพิธีต่างๆ และศีลธรรมอันดี
เอวัง ประการฉะนี้ ท่านจึงกลายมา “ทุกอย่างเพื่อทุกคน” โดยตั้งอยู่บนการสวดภาวนา ความยากจน
ความภักดีต่อพระศาสนจักร และการหมั่นฝึกฤทธิ์กุศลในด้านงานเมตตา
แม้จะพบกับภาษาใหม่ ภูมิอากาศใหม่ ท่านและซิสเตอร์ทั้งหลายก็หาได้หวาดเกรงไม่
ตรงข้ามท่านและซิสเตอร์ ต่างพากันก้าวออกไปทำงานแพร่ธรรมชนิดที่เรียกว่า จัดเต็มกันทุกครอบครัว
อันนับเป็นผลดีในการเข้าใจภาษาและวัฒนธรรมท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น
ซึ่งนอกจากการประกาศพระวรสารแล้ว
พวกท่านยังดูแลการศึกษาของเยาวชน การส่งเสริมพิธีกรรม
และการรับใช้ผู้ป่วยและผู้ยากไร้ จนที่สุดไม่นานเกิดรอ หน่อแรกของพันธกิจ
ก็แตกหน่ออกมา อัศจรรย์ อัศจรรย์ นับเป็นอีกครั้งที่ชีวิตคริสตชนแย้มบานออก
ประหนึ่งต้องมนต์ คณะมีผู้สมัครเพิ่มมากขึ้น
จนพอเปิดบ้านสองหลังในปี ค.ศ.1892 ณ ที่ ซานตา อานา และที่ กานัว
ทุกอย่างดูจะไปได้ดี
แต่อนิจจา ความยินดีอยู่ได้ไม่นาน
กางเขนก็กลับมาหาท่านและบรรดาซิสเตอร์อีกครั้งแบบที่เรียกว่า “ชุดใหญ่” ทั้งค่าใช้จ่ายเอย
อากาศที่ร้อนแบบเมืองร้อนเอย ความเอาแน่นอนเอานอนไม่ได้เอย ปัญหาสารพัดเอย
สุขภาพเอย ความปลอดภัยเอย อีกการเข้าใจผิดจากทางผู้ใหญ่ และเหนือสิ่งอื่นใด
คือการแยกกลุ่มเพื่อไปทำงานนอกเอกวาดอร์ ภายใต้การนำของบุญราศีมารีอา การิดัด
บราเดอร์ ที่ถูกส่งไปลงสนาม ณ โคลอมเบีย และสืบเนื่องมีความจำเป็นที่ต้องมีธรรมทูตมากขึ้น และการสนับสนุนจากพระสงฆ์ชาวเยอรมันท่านหนึ่ง บุญราศีการิดัด
จึงได้ตั้งคณะภคินีฟรังซิสกันธรรมทูตแห่งพระนางมารีย์ผู้ปฏิสนธินิรมลขึ้นในโคลอมเบีย
ซึ่งท่านก็น้อมรับมันในความเงียบอย่างกล้าหาญ
ท่านไม่เลือกปกป้องตัวท่านเองหรือแสดงความไม่พอใจใด
แต่ท่านเลือกที่จะอภัยและสวดภาวนาจากใจให้เป็นพิเศษแก่คนที่ไม่หวังดีต่อท่าน
แต่อนิจจา ดูเหมือนว่าไม่ทันที่กางเขนเก่าจะไป กางเขนใหม่ก็ตามมาติดๆ
คราวนี้เป็นความไม่สงบจากกองกำลังที่เป็นปฏิปักษ์กับพระศาสนจักร ในเอกวาดอร์ ปี ค.ศ.1895
ที่บังคับให้ท่านและซิสเตอร์อีกสิบห้าคนต้องหลบหนีจากเอกวาดอร์ มายังบาเฮีย ใน
โคลอมเบีย
และในขณะอยู่ในเรือระหว่างเดินทางนั้นเอง
พระคุณเจ้าเอวเยนีโอ บีฟฟี พระสังฆราชประจำสังฆมณฑลการ์ตาเยนา เด อินเดียส
ก็เชิญท่านและซิสเตอร์ในคณะไปทำงานในสังฆมณฑล ฉะนั้นในวันที่ 2 สิงหาคม ค.ศ.1895 อันเป็นวันฉลองวัดแม่พระแห่งปวงเทวา ซิสเตอร์ผู้ถูกเนรเทศทั้งหมด
ก็เดินทางมาถึงการ์ตาเยนา พร้อมได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี ณ ที่นั่นหาใหม่ของท่านและคณะก็คือการดูแลโรงพยาบาลหญิง
ที่รู้จักกันทั่วไปว่า “โอบรา ปีอา”
หรือ งานศรัทธา
ณ ที่นั่น
ท่านแม้ต้องผ่านความลำบากมา ท่านก็อุทิศตนด้วยดวงใจที่เอื้อเฟื้อ
ตามแบบฉบับของนักบุญฟรังซิสเพื่อตอบสนองทั้งความต้องการฝ่ายโลกและฝ่ายจิตของทั้งผู้ป่วยและผู้ยากไร้
ผู้ที่ท่านรักเสมอ ครั้งหนึ่งท่านเคยสอนบรรดาซิสเตอร์ว่า “จงเปิดบ้านของเธอเพื่อช่วยคนยากไร้และคนด้อยโอกาส
จงมอบความพึงพอใจที่จะดูแลคนยากจนมากกว่างานอื่นๆ” และในฐานะ “แม่”ของคณะ
ท่านก็คอยแนะนำบรรดาธิดาเสมอตอลดเวลาสามสิบปี แม้ภายหลังท่านลาออกจากการเป็นมหาอธิการิณีก็ตาม
ท่านร่วมทุกข์ร่วมสุขกับธิดาน้อยไม่ว่าจะในการทำงานหรือในชีวิต
ท่านคือแบบอย่างที่ชัดเจนของการดำเนินชีวิตตามพระวรสาร การมีชีวิตเป็นแบบอย่าง
และการให้กำลังใจทุกๆคน ท่านทำงานร่วมกับทุกคนด้วยความอ่อนโยนและเมตตาเสมอ
ซึ่งความเมตตานี้ท่านก็ได้มาจากการไตร่ตรองถึงธรรมล้ำลึกเรื่องพระตรีเอกภาพ
ศีลมหาสนิท และพระมหาทรมาน
ท่านยังมีความศรัทธาเป็นพิเศษมากต่อแม่พระ
ท่านปรารถนาให้คณะมีแม่พระองค์อุปถัมภ์ของคนบาปเป็นดั่งมารดา ผู้พิทักษ์
และแบบอย่างในการเจริญชีวิตติดตามพระคริสต์และการแพร่ธรรม และในฐานะธิดานักบุญฟรังซิส
ท่านก็ได้รับการปลูกฝังในเรื่องการยำเกรงพระศาสนจักร และพระสงฆ์
ผู้ที่ท่านเรียกว่า “ผู้ได้รับเจิมขององค์พระผู้เป็นเจ้า” ตามแบบฉบับของนักบุญฟรังซิส บิดาผู้ก่อตั้งคณะ
ภายหลังจากลาออกจากการดำรงตำแหน่งมหาอธิการิณี
และใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายในโรงพยาบาล ท่านก็ป่วยด้วยโรคกระเพาะอาหาร
และท่ามกลางความเงียบของวันที่ 19 พฤษภาคม ค.ศ.1924
ท่านก็จากไปอย่างไม่มีวันกลับ ด้วยอายุรวม 74 ปี ทิ้งไว้แต่คำสอนและงานเขียนจำนวนนับไม่ถ้วน
ที่เป็นดังเหมืองอันล้ำค่าของนักบวชและผลทางวิญญาณ ข่าวการสิ้นใจของท่านแพร่ไปอย่างรวดเร็ว
คุณพ่อเจ้าวัดอาสนวิหารการ์ตาเยนา ไม่คลางแคลงที่จะประกาศว่า “เมื่อเช้า
คุณแม่แบร์นาร์ดาผู้น่านับถือ นักบุญได้สิ้นใจแล้วในเมืองนี้”
และทันทีหลุมฝังศพของท่านก็กลายเป็นสถานที่แห่งการสวดภาวนา
และแสวงบุญ คณะของท่านเติบโตขึ้น
ดั่งที่เกิดมาตั้งตาสมัยท่านดำรงชีวิตอยู่และขยายงานออกไปถึง 11 ประเทศ ได้แก่ โบลิเวีย บราซิล เอกวาดอร์โคลัมเบีย คิวบา เปรู เวเนซูเอลา มาลี ชาด สวิตเซอร์แลนด์
และออสเตรีย กระทั้งในวันที่ 29 ตุลาคม ค.ศ.1995
ท่านก็ได้รับการบันทึกนามในสารบบบุญราศี โดยสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 และที่สุดในวันที่ 12 ตุลาคม ค.ศ.2008 ณ ลานหน้ามหาวิหารนักบุญเปโตร
สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16
ก็ทรงสถาปนาท่านพร้อมบุญราศีอีกสามท่านขึ้นเป็นนักบุญอย่างเป็นทางการ
“เพราะเห็นแก่เรา พระเจ้าทรงทำให้พระองค์ผู้ไม่รู้จักบาปเป็นผู้รับบาป”(2 โครินธ์ 5:21) ลองจินตนาการดูว่าหากมีคนมาบอกเราว่าถูกลอตตเตอร์รี่
เราจะไม่อยากบอกข่าวนี้ให้คนอื่นๆทราบหรือ ภายในของเราไม่อัดอั้นหรือที่จะไม่พูดเรื่องนี้ต่อ
ถ้ามีก็คงน้อยคนนักที่จะปิดเรื่องเช่นนี้ไว้ได้ เช่นเดียวกันเราในฐานะคริสตชน
เราได้รับข่าวดีที่ว่า พระเยซูเจ้าทรงลงมารับสภาพมนุษย์เพื่อรับบาปแทนมนุษย์
เราได้รู้ว่าพระเจ้าทรงรักเรามากแค่ไหน ฉะนั้นเมื่อพระองค์ทรงรักเราถึงเพียงนี้
เราจะไม่อยากบอกความรักนี้ต่อไปหรือ
เราไม่อยากให้คนอื่นได้สัมผัสถึงสันติและความรักเช่าเราหรือ คุณแม่มารีอา
แบร์นาร์ดา คือหนึ่งในนั้น ท่านได้รับกระตุ้นจากพระจิตเจ้าที่ลุกร้อนในวิญญาณ
ให้ท่านก้าวออกจากบ้านเกิด เพื่อประกาศถึงข่าวนี้
ข่าวที่นักบุญเปาโลได้เขียนไว้ตามข้อพระคัมภีร์นี้ ดังนั้นแม้ว่าจะต้องเจอความยากลำบากแค่ไหน
ท่านจึงไม่หยุดที่จะนำข่าวนี้ต่อไปจนถึงวาระสุดท้าย
บัดนี้ชีวิตของท่านได้เรียกร้องเราให้ไปประกาศข่าวนี้ตามความสามารถของเรา
เรียกให้เราเป็นผู้ประกาศสิ่งนี้ผ่านชีวิต ไม่ใช่เพียงคำพูด
แหละคือสิ่งที่เราควรทำตามฐานันดรความเป็น ‘ประกาศก’ ของเรา อัลเลลูยา อัลเลลูยา
“ข้าแต่ท่านนักบุญมารีอา แบร์นาร์ดา บึทเลอร์
ช่วยวิงวอนเทอญ”
ข้อมูลอ้างอิง