บุญราศีแบลนดีน เมร์เทน
Bl. Blandine Merten
ฉลองในวันที่
: 18 พฤษภาคม
เมื่อวันที่ 13 ธันวาคมในปีที่ผ่านมา นับเป็นวันแห่งความยินดีของชาวอุร์สุลินทุกคนในไทย เพราะเป็นวโรกาสครบรอบ 90 ปี ที่มิชชันารีอุร์สุลินสี่ท่านแรกได้เดินทางมาสู่สยามประเทศ
พร้อมด้วยจิตตารมณ์แห่งการรับใช้ เริ่มจากโรงเรียนกุหลาบวัฒนา สู่โรงเรียนมาร์แตร์
เดอี โรงเรียนเรยีนา เชลี โรงเรียนวาสุเทวี และโรงเรียนปิยมาตย์
ดังนั้นผู้เขียนจึงอยากหยิบยกเรื่องราวของข้ารับใช้พระเจ้าจากคณะคนหนึ่ง
ที่ได้เจริญชีวิตเพียงสั้นๆในโลกคือ 35 ปี
มาเล่าให้ทุกคนฟัง เรื่องราวสั้นๆของ “แบลนดีน
เมร์เทน”
“มารีอา มักดาเลนา เมร์เทน” เกิดเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ค.ศ.1883 ในมณฑลไรน์
อาณาจักรปรัสเซีย หรือในปัจจุบันคือหมู่บ้านดุพเพนไวเลร์ รัฐซาร์ลันด์
ประเทศเยอรมัน
ท่านเป็นลูกคนที่เก้าจากสิบเอ็ดคนของครอบครัวเกษตรกรใจศรัทธาที่มีหัวหน้าครอบครัวคือนายยอห์น
ซึ่งสมรสกับนางแคทเทรีน วินเทร์ ซึ่งอาศัยการดำเนินชีวิตและแบบอย่าง
ทั้งสองได้ช่วยกันเตรียมธิดาน้อยของพวกเขา ให้มีชีวิตบนฐานของความเชื่ออย่างมั่นคง
และทีละนิดท่านก็ค่อยๆเรียนรู้สิ่งต่างๆที่ทั้งสองช่วยกันอบรม ไม่ว่าจะเป็นการสวดเช้าเย็นพร้อมครอบครัว
การสวดสายประคำในระหว่างเทศกาลเตรียมรับเสด็จและมหาพรต การไปร่วมมิสซาในทุกเช้า
การไปเฝ้าศีลบ่อยๆและการให้ทานคนยากไร้
จวบจนวัยล่วงได้
6 ปี
ท่านก็เข้าโรงเรียนประถมท้องถิ่น และเป็นที่นั่นที่คุณธรรมของท่านเริ่มฉายแสงออกมา
ท่านเป็นเด็กขยันและมีน้ำใจ
แถมยังเป็นที่รักของเพื่อนๆและคุณครูเพราะเป็นคนเงียบๆและรักทุกคน
ท่านได้รับศีลกำลังในปี ค.ศ.1896 ที่ไรมซ์บาก
และได้สร้างความประหลาดใจให้แก่พระสังฆราชที่ได้ทดสอบความรู้เรื่องคำสอน
ด้วยท่านสามารถตอบคำถามเรื่องคำสอนได้อย่างรวดเร็ว แถมแม่นยำอีกด้วย
หลังจากนั้นเมื่อท่านเรียนจบระดับชั้นประถมแล้ว
คุณพ่อเจ้าวัดก็แนะนำให้ครอบครัวท่านส่งเสียท่านเรียนต่อ
ด้วยคุณพ่อเห็นแววในตัวท่าน
ฉะนั้นท่านจึงได้เข้ารับการศึกษาต่อในวิทยาลัยครู
มาเรียเนา สถาบันการศึกษาเอกชนที่ได้รับความนิยมในเวลานั้น
เป็นระยะเวลาตั้งแต่เมษายน ค.ศ.1899 ถึงกันยายน ค.ศ.1902 และแน่นอนการมาเรียนที่นี่ก็ทำให้ท่านสูญเสียชีวิตครอบครัวไป
แต่กระนั้นมันก็ถูกแทนที่ด้วยความสุข ที่ท่านสัมผัสได้จากการได้อาศัย “ใต้อยู่ชายคาเดียวกันกับพระเยซูเจ้า”
ซึ่งท่านพยายามเปลี่ยนเป็นหนึ่งในสหายของท่าน บางครั้งก่อนเข้าเรียน
ท่านก็มักพูดว่า “ขอไปวัดน้อยแปบนะ”
นอกจากนั้นท่านยังแตกต่างจากเด็กคนอื่นที่พอเจอเนื้อหายากๆก็พากันหมดความอดทน
พลางบ่นอุบอิบถึงอาจารย์ เพราะแม้จะยากแค่ไหน
ท่านก็ไม่เคยหมดความอดทนและไม่เคยบ่นถึงอาจารย์เลยซักครั้ง
จนหลายๆคนต่างเรียกท่านว่า “ทูตสวรรค์” จากทั้งความศรัทธา ความอ่อนโยน
ความมีเมตตา ความพอประมาณ และการรับใช้ที่สมบูรณ์แบบของท่าน และแม้จะต้องผ่านการจากไปของบิดามารดาของท่านในเวลาไล่เลี่ยกัน
ท่านก็สามารถดึงพลังออกมาก้าวต่อไปในการเรียนได้
กระทั้งท่านจบการศึกษาและได้วุฒิเป็นครูในที่สุด
ซึ่งทันทีท่านก็ได้งานเป็นครูที่โรงเรียนหญิงล้วนที่โอบาร์ทัล
ก่อนจะย้ายไปเป็นครูในโรงเรียนคริสตังในชนบทที่มอร์สชายด์
ซึ่งครั้งแรกท่านพักอยู่ในฟาร์มเก่าๆอันหนึ่ง แล้วจึงค่อยย้ายเข้าไปอยู่ในห้องใต้หลังคาที่ทั้งชื้นแฉะและเล็กของอาคารเรียน
เพื่อมาทำงานในฐานะแม่บ้านไปด้วย
เวลาเดียวกันท่านก็คอยช่วยเย็บชุดชั้นในและเสื้อผ้าของบรรดาผู้ยากไร้ และในฐานะครู
บรรดานักเรียนและผู้ปกครองของเด็กๆต่างจำท่านได้อย่างแม่นยำ
ก็เพราะนิสัยอันอ่อนหวาน ไม่โกหก ไม่จองหอง ไม่ชอบร่วมสนุกตามประสาโลก
ความศรัทธาต่อมิสซา การไปรับศีลทุกวัน และสุดท้ายความชำนาญในด้านการสอนของท่าน
แต่แม้ว่าท่านจะขยันขันแข็งทำงานมากแค่ไหน
ด้วยความถ่อมตนหลายๆครั้งท่านก็คิดว่ามันยังไม่มากพอ และอาศัยผู้ตรวจการณ์จอมจุกจิกจูจี้
ท่านก็พบความยินดีอย่างมากมายในการทำงาน เพราะมันทำให้ท่านมุ่งมั่นยิ่งขึ้น ท่านสอนอยู่ที่มอร์สชายด์เป็นระยะเวลาห้าปี
ก่อนในวันที่ 1
กรกฎาคม ค.ศ.1907
ท่านจึงถูกย้ายไปสอนที่กรอสรอสเซน
และสอนอยู่เป็นระยะเวลาเพียงเก้าเดือน ท่านก็ตัดสินใจละทิ้งอาชีพของท่าน
เพื่อสมัครเข้าคณะอุร์สุลิน ที่ อารามคัลวาเรียนแบร์ก เมืองอาฮร์ไวลาร์
เพราะทางคณะมีการดำเนินชีวิตทำงานร่วมกับชีวิตรำพึงภาวนา
เมื่อทุกคนทราบความปรารถนานี้ของท่านก็ไม่มีใครแปลกใจเลย
ดังนั้นด้วยเหตุนี้ในวันที่ 22 เมษายน ค.ศ.1908 ในวัย 25 ปี ท่านจึงได้สมัครเข้าคณะอุร์สุลิน
และได้รับชุดคณะพร้อมนามใหม่ว่า “ซิสเตอร์แบลนดิน แห่ง พระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์” ในอีกหกเดือนถัดมา ซึ่งในไม่ช้าท่ามกลางบรรดานวกะคนอื่นๆ
ท่านก็โดดเด่นออกมาในฐานะ “ต้นแบบ” ชนิดรองนวกจารย์ถึงขนาดพยายามจะหาข้อตำหนิท่านให้ได้
และเมื่อสบโอกาสที่ท่านทำอะไรบางสิ่งพลาด
ซิสเตอร์ผู้นั้นก็รีบพูดกับท่านว่า “หยุดประจบแล้วหรอ”
แต่กระนั้นท่านก็ไม่เคยท้อที่จะสุภาพ
ตรงต่อเวลา นบนอบ ขยัน และรักทุกคนเหมือนพี่เหมือนน้อง ดังนั้นเมื่อโดนเช่นนี้สิ่งที่ท่านเลือกก็คือการเงียบ
ไม่ตอบโต้อะไร ซึ่งก็ยิ่งทำให้ทุกคนประทับใจในตัวท่าน นอกจากนั้นเมื่อมีงานอาสาต่างๆ
ท่านก็มักเป็นคนแรกที่สมัครใจไปเสมอ จนจบการเป็นนวกะ ในวันที่ 3 พฤศจิกายน ค.ศ.1910 ท่านก็เข้าพิธีปฏิญาณตน และถูกส่งไปสอนที่โรงเรียนของคณะในซาร์บรึคเคิน
แต่สอนได้ไม่นานท่านก็ป่วยเป็นหวัดหนัก
จากการที่ต้องไปนั่งใกล้หน้าต่างที่เปิดไว้ระหว่างการประชุมคณะครู
อันส่งผลให้เสียงของท่านที่เคยชัดเจน กลายเป็นแหบและต่ำไปตลอดชีวิต
จากแค่หวัด
ไม่นานท่านก็เริ่มติดเชื่อวัณโรค แพทย์จึงแนะนำอารามให้ย้ายท่านไปพักที่อื่นที่อากาศดีกว่านี้
ดังนั้นคุณแม่อธิการจึงตัดสินใจย้ายท่านไปบ้านของคณะชื่อบ้านนักบุญบันตุส ที่เทรียร์
และได้เข้าพิธีปฏิญาณตนตลอดชีวิต ณ ที่นั่น ในวันที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ.1913 พร้อมตัดสินใจถวายตนเป็นเครื่องบูชาชดเชยบาปของโลกต่อพระมหาไถ่เจ้า
ด้วยความมั่นใจว่าคำภาวนานี้พระองค์จะทรงตอบรับเป็นแน่
ที่บ้านหลังใหม่
ท่านก็มีหน้าที่ทั้งคนดูแลการศึกษาของนักเรียนประจำ และซิสเตอร์ ร่วมกับแม่บ้านที่จะคอยตรวจตรากลุ่มต่างๆของเด็กสาว
หรือตีระฆังเมื่อถึงเวลารำพึง หรือทำอย่างอื่นที่มีความสำคัญรองลงมา อาทิเช่น
การเตรียมหมึกสำหรับทั้งชั้นเรียนและสำหรับการจำหน่าย
การปัดฝุ่นเปียโนทั้งหมดที่กระจายอยู่ตามอาคารต่างๆหลังมิสซา
การดูแลแขกและการแก้ปัญหาต่างๆเฉพาะหน้า
“ดิฉันมีความอ่อนไหวง่ายต่อทุกสิ่งที่เกี่ยวกับเกียรติของดิฉัน
และก็ยังมักมีความยากลำบากสำหรับชีวิตหมู่คณะเสมอ
ซึ่งนับเป็นสัญญาณอันน่าเศร้าที่สำแดงว่าความหยิ่งจองหองและความเห็นแก่ตัวยังคงดำรงอยู่และมีอำนาจในตัวของดิฉัน…ทุกวันดิฉันจึงวอนขอต่อดวงพระหฤทัยอันศักดิ์สิทธิ์เพื่อพระหรรษทานความช่วยเหลือและพระหรรษทานการถูกดูหมิ่นจำนวนมากซึ่งจะทำให้ธรรมชาติของดิฉันเรียนรู้ที่ตั้งใจไม่ใช่เพื่อการตอบโต้กลับ
แต่เพื่อชื่นชมยินดี ในการทำลายพวกมันเพื่อพระสิริรุ่งโรจน์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า” สำหรับท่านแล้ว
พระหฤทัยอันศักดิ์สิทธิ์ยิ่งของพระเยซูเจ้าก็คือ “หนังสือที่ดีที่สุดสำหรับการรำพึง
การให้คำปรึกษาอันชาญฉลาดและเปี่ยมไปด้วยความรัก การปลอบประโลมและการบรรเทาใจที่ทรงพลังที่สุด”
ซิสเตอร์ท่านหนึ่งให้ยืนยันถึงชีวิตข้ารับใช้พระเจ้าว่า
“ทั้งในคำพูด การกระทำและนิสัยของเธอแสดงออกถึงความถ่อมตน เรียบง่าย
จริงใจ ดิฉันไม่เคยเห็นเธอไม่ทำงาน เธอเป็นคนรักสันโดษและความเป็นส่วนตัว
เธอไม่เคยระบายกับใครและก็ไม่ได้หายไปจากโลกภายนอกอย่างสมบูรณ์” ในวันที่ 7 มีนาคม ค.ศ.1915 ท่านก็ตัดสินใจที่จะปืนขึ้นสู่ภูเขาแห่งความครบครัน
ท่านบันทึกในวันนี้ว่า “ดิฉันปรารถนารื้อฟื้นการอุทิศตนและไม่ขอทำตามน้ำใจตนเอง” หลังจากนั้นในปีเดียวกันเพียงไม่กี่เดือนท่านก็เขียนข้อตั้งใจของท่านดังนี้
1.ต้องทำลายอย่างต่อเนื่อง
2.เป็นผู้รับใช้ในทุกสิ่งเพื่อความรักของพระมหาไถ่
3.ต้องลืมตัวเองและชื่นชมยินดี
และโมทนาคุณพระเจ้า
ท่านยังระบุในบันทึกลงวันที่
5 กันยายน
ปีเดียวกันนั้นอีกว่า “ทุกๆวันดิฉันปรารถนาที่จะขุดและจมลงและสูญเสียตนเองในก้นบึ้งของความรักและพระญาณสอดส่องของพระเจ้า
จนกว่าดิฉันจะตายต่อตนเองพร้อมชุบตัวลงในพระเจ้าเพียงอย่างเดียว”
ท่านยังคงที่ที่บ้านนักบุญบันตุสกระทั้งฤดูใบไม้ร่วง
ปี ค.ศ.1916
ขณะบรรดาใบไม้กำลังเปลี่ยนสีและร่วงโรยต้อนรับหน้าหนาว
ท่านก็ล้มป่วยหนักลงด้วยวัณโรค จนต้องถูกส่งไปพักรักษาตัวที่มาเรียนเฮาส์
อันเป็นบ้านสำหรับซิสเตอร์ที่ป่วย ทันทีที่ท่านมาถึงและได้เห็นห้องที่ท่านจะต้องนอนซมอยู่ไปตลอด
ท่านก็ถึงกับอุทานออกมาด้วยความยินดีว่า “พระมหาไถ่และดิฉัน”
เพราะที่นั่นห้องที่ท่านได้ติดกับวัดน้อยของบ้านตรงจุดของนักขับ
ซึ่งมีเพียงแค่ผนังที่กั้นท่านกับพระองค์ไว้เท่านั้น
นับจากนั้นตลอดชีวิตท่านที่เหลือ
ณ บ้านหลังนี้ ท่านก็มิเคย ตระหนักถึงความร้ายแรงหรือผลของวัณโรคที่ท่านเป็นเลยซักครั้ง
ตรงกันข้ามท่านกลับสวดภาวนา รำพึง และสอนทุกคนที่มาหาด้วยตัวอย่างการน้อมรับน้ำพระทัยของพระเสมอ
แม้ในเหตุการณ์ที่มีการโจมตีทางอากาศจนท่านต้องไปหลบพร้อมซิสเตอร์ในห้องใต้ดินก็ตามที
และอาศัยการได้คุยกับคุณพ่อแก้บาป คุณพ่อนิโกลา บาเรส อนาคตพระสังฆราชแห่งเบอร์ลิน
ท่านก็ได้พบการปลอบประโลมใจ
นอกจากนี้แล้วระหว่างป่วยนั้นท่านก็ได้เขียนจดหมายถึงน้องสาวที่ท่านใกล้ชิดมากที่สุด
อันเป็นผลมาจากการรำพึงและความเชื่อ ท่านเขียนว่า “พี่จะขอบพระคุณพระองค์อย่างสุดใจสำหรับความทุกข์ยากและความเจ็บปวดที่พระองค์ทรงโรยไว้ตามทางของชีวิตพี่บนโลกนี้ได้อย่างไรดี! เป็นความทุกข์ยากเองที่ได้แยกน้องจากสิ่งทั้งปวงอันเป็นเพียงสิ่งสร้างและคุลีดิน
พร้อมทั้งได้ยกและเพิ่มพูนชีวิตจิต
และนอกจากนั้นก็เป็นความทุกข์ยากเองที่เป็นโรงเรียนที่ดีสุดขององค์ความรักอีกด้วย … ความตายจะช่างหวานฉ่ำเพียงใดเมื่อยามน้องอยู่บนโลกน้องได้มอบความรักต่อพระองค์ผู้ภายหลังจะทรงพิพากษาเราเพียงคนเดียว”
และในวัน
22 ธันวาคม
ค.ศ.1917
ท่านก็เขียนจดหมายฉบับสุดท้ายถึงซิสเตอร์แบลนดา
น้องสาวของท่านเพื่ออำลาว่า “สามอาทิตย์ที่ผ่านมาพี่ถามคุณหมอว่าเวลาที่พี่อดทนจะมาหรือยัง
เขาบอกว่าไม่เกินเมษานี้ ดังนั้นตอนนี้เรามาขับไล่ความเงียบและคำกล่าวโทษต่อภาระอันทุกข์ยากของพระองค์ผู้ทรงอยู่ในรางหญ้าในฐานะพระกุมารและมาขอบพระคุณพระองค์อย่างสุดใจพร้อมกับพี่กัน
สำหรับการที่พระองค์ทรงได้รักษาและดูแลหนอนตัวน้อยของโลกนี้ไว้เป็นเวลานานแสนนาน
และสำหรับการที่พระองค์ทรงให้เวลาสดับฟังพี่ด้วยความคุ้นเคย”
ที่ละนิด
ละนิด ที่ชีวิตของท่านใกล้จะดับดั่งแสงเทียนที่ริบหรี่ ความทรมานจากวัณโรคก็ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น
แต่กระนั้นท่านก็ไม่เคยบ่นหรือเรียกร้องขอสิ่งต่างๆ
ท่านทำเพียงแต่ถอนหายใจพลางกล่าวว่า “ลูกเป็นลูกแกะบูชาขององค์พระผู้เป็นเจ้าที่พระองค์ทรงเตรียมพร้อมสำหรับการเป็นเครื่องบูชายัญ
ลูกถวายตนทั้งครบแด่พระองค์ ลูกยินดีต่อทุกสิ่งอย่างที่พระองค์ทรงประสงค์
ในเวลาแห่งความทุกข์ยากและความอ่อนแอนี้ลูกได้พบวิธีอันหอมหวานที่จะสรรเสริญความรักไปนิรันดร์” และท่านยังอุทานอีกว่า “ลูกอยากจะเป็นเจ้าสาวผู้กล้าหาญเพื่อพระมหาไถ่ของลูก”
“ดิฉันกำลังเตรียมตัวเพื่อการพบกันครั้งแรกระหว่างดิฉันกับพระมหาไถ่
เวลาแห่งความสุขสุดพรรณนากำลังจะมาถึง
ซึ่งดิฉันได้เตรียมพร้อมแล้วด้วยความยินดีและความปรารถนา … ดิฉันกำลังจะขึ้นกัลวาลีโอของดิฉันด้วยวิญญาณที่อุทิศถวายและเข้มแข็งซึ่งเป็นหน้าที่ของอุร์สุลินทุกคน
และหน้าที่ของเจ้าสาวของพระองค์ผู้ถูกตรึงกางเขน” ในวันที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ.1918 ในระหว่างการตื่นเฝ้าวันสมโภชพระจิตเจ้า
ภายหลังจากจูบไม้กางเขนและกระซิบพระนามพระเยซูเจ้าสามครั้งแล้ว ด้วยอายุ 35 ปี ท่านก็ถึงแก่มรณกรรมอย่างสงบ
อันนับเป็นการจบเจริญชีวิตบนความ
“ถ่อมตน” และ “ความรักต่อทั้งพระเจ้าและพี่น้อง” ในความเงียบ ไม่ได้มีสิ่งใดพิเศษ
เป็นเพียงชีวิตเล็กๆในคณะ
แต่ทุกคนก็ประจักษ์ถึงความศักดิ์สิทธิ์ในชีวิตนี้อย่างมิต้องสงสัย
จนที่สุดคำขอของพวกเขาก็ประสพผล เมื่อมีการเปิดกระบวนการณ์ขอแต่งตั้งท่านเป็นบุญราศี
จนที่สุดในวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ.1987 สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ก็ทรงยกดอกไม้น้อยนี้ไว้ในฐานะบุญราศี
อันนับเป็นขั้นต่อไปของการเป็นนักบุญ
“ผู้ที่มีมโนธรรมไม่ติเตียนย่อมเป็นสุข
ผู้ที่ไม่สิ้นหวังก็ย่อมเป็นสุขเช่นเดียวกัน”(บุตรสิรา 14:2) ตามความคิดของผม
ผมคิดว่าเคล็ดลับในการดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุขตามแบบฉบับของบุญราศีแบลนดีน
ก็คือการไม่ติเตียนพระว่าทำอย่างนี้กับตัวท่านได้อย่างไร แต่ตรงข้ามตัวท่านกลับเลือกที่จะน้อมรับว่ามันเป็นน้ำพระทัยของพระ
ทำให้ท่านเจริญชีวิตได้อย่างไม่สิ้นหวัง เพราะท่านรู้แน่ว่าสิ่งนี้เทียบไม่ได้เลยกับบำเหน็จที่พระเจ้าทรงจัดเตรียมให้ท่านแล้วในสวรรค์
ดังนั้นในเวลานี้ชีวิตของท่านจึงเรียกร้องให้เราเลิกติเตียนพระ
ในสิ่งที่เกิดขึ้นกับชีวิตของเรา แล้วหันมาก้มศีรษะลงแล้วตอบเหมือนบทคั้นในบทอ่านมิสซาว่า
‘ข้าพเจ้าพร้อมแล้วพระเจ้าข้า
ข้าพเจ้ายินดีทำตามน้ำพระทัย’ พร้อมโมทนาพระคุณพระองค์
เพราะความทุกข์ก็เหมือนความมืดของกลางคืน หากเรามัวแต่ลนลาน(บ่นว่าต่างๆนานา)เราก็จะไม่พบอะไรนอกจากความมืด แต่หากเราเพียงหยุดนิ่งแล้วค่อยๆคิด
เราก็จะค่อยๆเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันจนกระทั้งแสงแรกแห่งวันฉายขึ้นมาได้อย่างมีความสุข
อัลเลลูยา อัลเลลูยา
สวรรค์ของท่าน
“ทุกๆอย่างเป็นสวรรค์ของดิฉัน…”
“สวรรค์ของดิฉันก็คือน้ำพระทัยของพระเจ้า
ดิฉันหายไปในพระองค์ ดิฉันลืมตนเอง ทั้งของทุกสิ่ง
สิ่งมีชีวิตทุกอย่างและเหตุการณ์ทั้งหลายสิ้น เพื่อสนทนากับพระองค์ตามลำพัง
และสำหรับดิฉันแล้ว ไม่มีอะไรจะสูงค่า หรืองดงาม หรือน่ารัก
หรือดีเลิศไปกว่าพระองค์เพียงผู้เดียวทั้งในชั้นฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก”
เคล็ดลับการดำรงอยู่ในความรักของท่าน
“ประสงค์ในสิ่งที่พระองค์ทรงประสงค์
และปรารถนาให้ความศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ทรงสำเร็จไป
อาศัยตัวของดิฉันและทุกอย่างที่เกี่ยวกับดิฉันค่ะ”
ข้อเขียนบางตอนของท่าน
“ผู้ใดดำรงอยู่ในความรัก ย่อมดำรงอยู่ในพระเจ้าและพระเจ้าย่อมทรงดำรงอยู่ในเขา
พวกเราสามารถดำรงอยู่ในความรักแท้จริงได้อย่างไร
มันก็ด้วยความสุภาพ และการอยู่อย่างซ่อนเล้นนั่นเอง
แล้วดิฉันจะล้มหรือเมื่อดิฉันวางใจในพระองค์
ในเมื่อองค์พระเยซูเจ้า
ทรงทำให้ดิฉันระมัดระวังตัวเมื่อเห็นอย่างน้อยสัญญาณของเจ้า
ข้าพระเยซูเจ้า
ลูกปรารถนาจะให้ตัวของลูกแก่พระองค์ และยกตัวลูกนี้เองถวายแด่พระองค์
ข้าแต่พระเยซูเจ้า
ในรางหญ้า พระองค์ช่างดูแบเบาะและตัวเล็ก
ฉะนั้นพวกลูกจึงวางใจในพระองค์และตอบรับความรักของพระองค์
พระองค์ทรงบอกลูกว่า
‘จงมาหาเราและมอบปัญหา ความหวาดกลัวและความเจ็บปวดของลูกไว้กับเรา
แล้ววางศีรษะที่เหนื่อยหล้าของลูกไว้ในหัตถ์ของเราเถิด’
พระบิดาเจ้าไม่ได้ประสงค์ความยิ่งใหญ่และกิจการอันยอดเยี่ยมใดๆ
พระองค์เพียงแต่ขอความรักเท่านั้น
ชีวิตของแม่พระเป็นชีวิตที่เรียบง่ายมากๆ…แต่ก็เป็นรูปแบบชีวิตของผู้ที่แสวงหาพระเจ้า
พระนางรักพระเจ้าไม่เคยหยุดตลอดชีวิต”
ข้อมูลอ้างอิง