วันอังคารที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2563

ศักดิ์ศรีแห่งพิบรัก 'เยอร์แม็ง กูซัง' ตอนจบ

นักบุญเยอร์แม็ง  กูซัง
St. Germaine Cousin
ฉลองในวันที่ : 15 มิถุนายน
องค์อุปถัมภ์ ผู้ถูกทอดทิ้ง ผู้ตกเป็นเหยื่อความรุนแรง การสู้ชีวิต , ผู้พิการ เยาวชนหญิงจากพื้นที่ชนบท ผู้ป่วย คนยากจน การสูญเสียผู้ปกครอง คนเลี้ยงแกะ , การเจ็บป่วย คนอาภัพเรื่องความสวยความงาม นักกายภาพบำบัด

อีกสิ่งหนึ่งที่ท่านปฏิบัติตลอดหลายปี ตั้งแต่รู้จักกับนางอาร์มองด์ก็คือการสวดภาวนาให้นาง แต่แทนที่นับวันผลคำภาวนาจะแสดงผลโดยเร็ววัน ตรงกันข้ามนับวันความเกียจชังในใจของนางอาร์มองด์ที่แสดงต่อท่านก็ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น แต่ท่านก็ไม่ได้โทษว่าพระเจ้าหรือเลิกสวดไปเสีย ตรงกันข้ามท่านกลับทวีคำภาวนาของท่านให้มากขึ้นไปอีก เพราะท่านตระหนักดีว่ายิ่งเพลิงแห่งโทสะของนางมีมากเพียงใด มันก็ยิ่งทำให้พระเจ้าทรงไม่พอพระทัยเช่นนั้น และก็ยิ่งบีบโอกาสไปสวรรค์ของนางให้แคบลงเรื่อยๆ “…โปรดช่วยลูกให้เป็นที่พอใจของคุณแม่…” คำภาวนาของท่าน

แม้ชีวิตในปัจจุบันของท่านจะยากเย็นแสนเข็ญอยู่แล้ว แต่ท่านก็ไม่วายมีจิตใจที่เมตตาสงสารบรรดาขอทานทั้งหลาย ช่างเป็นภาพที่ยากจะจินตนาการได้ว่าเด็กสาวผู้ยากไร้คนหนึ่ง มีขอทานแวะเวียนมาหาเกือบทุกวันเพื่อแสวงหาความเห็นใจ และยังคอยแบ่งอาหารอันคือขนมปังที่แทบจะไม่พอกินอยู่แล้ว ให้บรรดาผู้หิวโซนั้นอย่างไม่เคยหวงของ
แน่นอนเรื่องความเมตตาของท่าน เมื่อนางอาร์มองด์รู้เข้า ทุกครั้งนางก็จะบันดาลโทสะทุบตีท่านเป็นการใหญ่ ส่วนท่านก็จะร้องบอกตลอดว่าท่านไมได้แบ่งอาหารให้ขอทานทุกคนที่ผ่านมา และก็ยังคงปฏิบัติเช่นเดิม จนวันหนึ่งในหน้าหนาวอันหนาวเหน็บ ท่านก็เข้าไปเอาเศษอาหารเหลือๆในห้องครัวเพื่อนำไปให้ขอทาน ประจวบเหมาะกับนางอาร์มองด์ผ่านเข้ามาเห็นพอดี นางจึงปรี่เข้าไปจับท่านไว้ และเมื่อนางสอดสายตาเห็นว่าท่านเก็บบางสิ่งไว้ในผ้ากันเปื้อน

ไม่ทันถามอะไร นางก็คิดเองเออเองว่าเป็นก้อนขนมปัง นางจึงยิ่งบรรดาโทสะหนักขึ้นไปอีก คราวนี้นางรีบคว้าไม้และลากท่านไปยังลานกลางหมู่บ้าน เพื่อหมายจะประจารให้ชาวบ้านเห็นว่า แท้จริงแล้วเด็กสาวที่พวกเขานับถือเป็นเพียงนังขี้ขโมย และอยากทำให้ท่านอับอายจนไม่มีหน้าจะอยู่ต่อไปได้ นางไล่ตีท่านจนมาถึงลานกลางหมู่บ้านพิบรัก นางก็เงื้อมไม้เรียวขึ้นเหนือศีรษะของท่าน พร้อมประกาศก้าวให้ท่านเปิดผ้ากั้นเปื้อนที่ท่านกำไว้ให้ทุกคนได้ดู ท่านที่ตัวสั่นเทาด้วยความกลัว จึงเปิดผ้ากันเปื้อนที่กำออก และทันทีสายตานับสิบก็ได้เป็นพยานถึงหมู่มวลดอกไม้มากมาย ที่ไม่ใครเคยเห็นในแถบนี้ ล่วงหล่นลงมายังพื้นแทนที่จะเป็นขนมปังดั่งคำครหา
ทำให้แต่นั้นชาวพิบรักก็ยิ่งเห็นใจต่อชะตาชีวิตของท่าน และชื่นชมท่านมากยิ่งขึ้น และมากกว่านั้นเพียงไม่นานพระเป็นเจ้าก็ทรงแสดงอีกครั้งว่า พระองค์ทรงพอพระทัยคนเลี้ยงแห่งพิบรักผู้นี้ กล่าวคือในตอนกลางคืนเริ่มมีผู้คนมากมายเห็นแสงสว่างออกมาจากโรงงานที่ท่านพัก หรือไม่ก็ได้ยินเสียงเพลงที่ไพเราะของทูตสวรรค์ดังออกมา ทำให้ คนใจศรัทธา ซึ่งเคยเป็นคำเย้ยหยันท่าน แปรเปลี่ยนมานามอันละบือเลื่องของท่านในที่สุด

ส่วนนายโลรังต์เองผู้เคยนิ่งเงียบมานานเกือบยี่สิบปี (จนนึกว่าตายไปแล้ว) ก็ตัดสินใจลุกขึ้นมาจากความเงียบ เพื่อทำหน้าที่หัวหน้าครอบครัวที่ดีสักที เขาได้เข้ามาขอให้ท่านอภัยให้สำหรับการละเลยของเขา และถามท่านว่าท่านอยากจะย้ายกลับไปอยู่ในบ้าน ไปอยู่กันครอบครัวไหม แต่ในข้อหลังท่านก็ปฏิเสธเพราะท่านพอใจกับสภาพชีวิตแบบนี้แล้ว และตามจริงแล้วท่านได้เพิ่มความเข้มงวดให้กับชีวิตของท่านมากขึ้น ก็เพื่อวอนขอพระพรจากพระเจ้า ในความทุกข์ยากและความสันโดษ ท่านค้นพบพระคริสตเจ้า ไฉนเล่าที่ท่านจะละจากพระองค์ไป เพียงเพื่อตอบสนองต่อความสบายฝ่ายกายที่ไม่เป็นนิรันดร์
ดั่งที่กล่าวไปแล้วว่าท่านเพียรสวดให้นางอาร์มองด์อย่างสุดกำลัง และบัดนี้นางอาร์มองก็เริ่มมีท่าทีที่ดีขึ้นต่อท่านบ้าง แต่ก็ยังไม่ถึงกับกลับใจ ส่วนเวลาของท่านเองก็ใกล้จะหมดลงเรื่อยๆ กระทั้งถึงค่ำคืนหนึ่งในฤดูใบไม้ผลิ ค..1601 ท่ามกลางความสงัดแห่งชนบท บนเตียงฟางที่คุ้นเคย พระเจ้าผู้ทรงเป็นความยินดีของคนเลี้ยงแกะน้อยแห่งพิบรักก็ทรงรับเอาดวงวิญญาณอันสุกใสของท่าน ขึ้นไปรับบำเหน็จในสวรรค์ด้วยวัย 22 ปี

คืนเดียวกันพระสงฆ์องค์หนึ่งซึ่งกำลังเดินทางจากกัสกอญไปยังเมืองตูลูส ซึ่งได้เดินทางมาถึงพิบรักในเวลาดึกสงัด เวลานั้นมืดเสียจนพระสงฆ์องค์นั้นไม่อาจจะเดินต่อไปได้ จู่ๆคุณพ่อก็ได้แลเห็นแสงสว่างสว่างขึ้นบนท้องฟ้า ขับไล่ความมืดรอบตัวคุณพ่อไปสิ้น และบัดดลคุณพ่อก็ได้เห็นขบวนของบรรดาพรหมจารี ซึ่งสุกใสจากสวรรค์ ลอยเลื่อนลงมายังหมู่บ้าน ขณะคุณพ่อยืนมองอย่างงงงัน เวลาเดียวกันกับที่คุณพ่อเห็น นักบวชสองคนที่เดินทางมาจากอีกทิศหนึ่งของหมู่บ้าน และได้หยุดพักที่ซากปราสาทเก่าของพิบรักเพราะมองไม่เห็นทางเช่นกัน ก็ได้แลเช่นเดียวกัน
มรณกรรมของเยอร์แม็ง
รุ่งเช้าวันต่อมา นายโลรังต์ก็รู้สึกประหลาดใจ เมื่อถึงเวลาที่ท่านจะต้อนแกะออกไปตามที่เคยปฏิบัติ ไฉนยังคงมีเสียงแกะร้องอยู่ แถมเสียงร้องก็ดูแปลกๆ ดังนั้นด้วยความกระวนกระวายใจเขาจึงรีบไปยังโรงนาที่ท่านพัก เขาพยายามตะโกนเรียกท่านเสียงดังๆ แต่ก็ไม่มีเสียงใครตอบกลับมา เขาก็ยิ่งเป็นกังวลหนักขึ้นไปอีก เขาจึงรีบเดินเข้าไปในโรงนา และก็พบกับภาพร่างของท่านในมือมีสายประคำของท่าน ใบหน้าสุกใสเหมือนทูตสวรรค์นอนนิ่งอยู่บนกองฟาง เขาจึงได้รู้ว่าบัดนี้บุตรสาวของเขาได้จากไปอย่างไม่มีวันกลับมาอีกแล้ว

เวลาเดียวกันในหมู่บ้านพระสงฆ์ผู้เดินทางผ่านมาเมื่อคืนและสองนักบวช ก็รีบนำตรงเข้าไปยังหมู่บ้านเพื่อบอกเล่าถึงสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า ภาพนิมิตพรหมจารีถูกยกขึ้นสวรรค์ ทั้งสามเล่าเป็นเสียงเดียวว่าภายหลังจากเห็นขบวนพรหมจารีแล้ว พรหมจารีนางหนึ่งก็ถูกยกขึ้นมาและได้รับการสวมมงกุฎ หลังจากนั้นเธอจึงลอยขึ้นไปพร้อมบรรดาทูตสวรรค์จำนวนมากมาย ซึ่งสุกใสเสียยิ่งกว่าแสงแห่งดารา
พวกเขาได้เห็นภาพนิมิตพรหมจารีย์ถูกยกขึ้นสู่สวรรค์
ณ จุดนี้ชาวบ้านหลายคนก็ยังไม่นึกอะไรว่านิมิตนี้เกี่ยวอะไรกับหมู่บ้าน แต่เมื่อทั้งสามอธิบายลักษณะหน้าตาของพรหมจารีนางนั้นให้ชาวบ้านฟัง ทุกคนก็ลงความเห็นเป็นเสียงเดียวกัน ว่านั่นคือ คนเลี้ยงแกะผู้ศักดิ์สิทธิ์ และรู้ทันทีว่าบัดนี้ท่านได้จากกพวกเขาไปแล้ว ดังนั้นทุกคนที่ได้ยินเรื่องสุดอัศจรรย์นี้ จึงรีบวิ่งตรงไปยังฟาร์มตระกูลกูซัง และก็ได้พบกับร่างไร้วิญญาณของท่าน นอนสงบด้วยใบหน้าที่ปราศจากความกลัวใดๆ

ข่าวการจากไปของท่านถูกส่งต่อจากปากต่อปาก จนรู้กันที่หมู่บ้านส่งผลให้เพียงไม่นานฟาร์มตระกูลกูซังก็รายล้อมไปด้วยชาวบ้าน ที่ต่างมาแสดงความอาลัยต่อการจากไปอย่างไม่มีวันกลับของท่าน เพื่อนๆของท่านและเด็กๆต่างช่วยกันจัดหาดอกคาร์เนชั่นป่าและต้นข้าว มาทำเป็นมงกุฎไปสวมที่ศีรษะของท่าน ส่วนนางอาร์มองด์ที่เคยเป็นปริปักษ์กับท่าน ก็ได้กลับใจตามคำภาวนาของท่าน นางจัดให้ท่านสวมชุดสวยๆแบบที่ท่านไม่เคยสวมเลยตลอดชีวิต และเอาเทียนมาใส่มือของท่านไว้
ภายหลังพิธีปลงศพ ร่างของท่านจึงถูกนำไปฝังไว้ที่ในวัดนักบุญมารีย์ มักดาเลน สถานที่เดียวที่ท่านรู้สึกว่าคือ บ้านของท่าน และค่อยๆถูกลืมไปจากความทรงจำของชาวพิบรักตามความเป็นจริงแห่งโลก กระทั้งในปี ค..1644 หรือสี่สิบห้าปีภายหลังมรณกรรมของท่าน ก็ประจวบกับหญิงชราคนหนึ่งในหมู่บ้านท่านสิ้นใจพอดี และตามพินัยกรรมนางก็ขอให้ฝังร่างของนางไว้ข้างธรรมาสน์ในวัด

ดังนั้นคนงานสองคนจึงถูกตามตัวมาเพื่องัดพื้นวัดและเตรียมหลุมให้พร้อม และขณะทั้งสองกำลังใช้พลั่วตักหินตักดินออกนั่นเอง ทั้งสองก็พบร่างเด็กสาวคนหนึ่งนอนสงบอยู่ในระดับเกือบๆกับพื้นวัด และโดยไม่ตั้งใจพลั่วของเขาพวกเขาก็ไปโดนเอาจมูกของเธอเข้าพอดี ซึ่งแทนที่จะไม่มีอะไร ก็พลันก็ปรากฏเลือดไหลออกมาจากแผล ทั้งสองที่เห็นดังนั้นจึงรีบวิ่งไปยังหมู่บ้านเหมือนคนเสียสติ และพากันเล่าเรื่องการค้นพบของพวกเขาอย่างตะกุกตะกัก ก่อนจะนำชาวบ้านที่อยากรู้อยากเห็นจำนวนหนึ่งมาพร้อมกันที่วัด หนึ่งในนั้นมีชายชราสองคนที่เคยรู้จักท่าน จึงทำให้ได้ข้อยืนยันว่าร่างที่พบนี้คือร่างของเยอร์แม็ง กูซัง คนเลี้ยงแกะแห่งพิบรักผู้ศักดิ์สิทธิ์ เพราะมีลักษณะแขนที่ลีบ และแผลที่คอ
การรักษามาดามเดอ บูเรอการ์ด
คุณพ่อเจ้าวัดจึงตัดสินใจย้ายร่างที่ไม่เน่าสลายของท่านขึ้นมา และบรรจุไว้ในโลงแก้วตั้งไว้ให้สัตบุรุษได้ชม แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะเห็นด้วยการกระทำนี้ หนึ่งในนั้นก็คือภรรยาของนายฟร็องซัวส์ เดอ บูเรอการ์ด เศรษฐีอยู่ละแวกวัด วันหนึ่งเธอถึงกับมาบ่นกับคุณพ่อเจ้าวัดว่าให้ย้ายร่างท่านไปเก็บไว้ที่ห้องสักการภัณฑ์เสีย และในคืนเดียวกันเอง ทั้งเธอและลูกน้อยก็มีอันล้มป่วยลง โดยเธอได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคมะเร็งที่ไม่สามารรักษา และมีแผลที่เต้านม

ยิ่งเวลาผ่านไปเท่าไร อาการของทั้งสองก็ไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น ซ้ำมีแต่ทรุดลงเรื่อยๆ จนสุดปัญญา นายฟร็องซัวส์ จึงหันไปหาท่านซึ่งชาวบ้านต่างเคารพยกว่าเป็นนักบุญ เพื่อขออภัยสำหรับการล่วงเกินของพวกเขา และขอให้ท่านช่วยเสนอวิงวอนพระเจ้าให้รักษาทั้งภรรยาและลูกน้อยของเขาให้หายจากโรคร้ายนี้ โดยเขาได้ทำนพวารต่อท่านและขณะจัดนพวาร ท่านก็ประจักษ์มาหาเธอที่กำลังจวนเจียนจะสิ้นใจเต็มที โดยท่านได้ใช้มือของท่านแตะลงไปที่บริเวณที่เธอรู้สึกปวด และรุ่งเช้าของวันถัดมา ทั้งเธอและลูกน้อยก็ถูกพบว่าได้รับการรักษาให้หายขาดจากโรคร้ายอย่างถาวร
ร่างของเยอร์แม็ง กูซังในปัจจุบัน
ด้วยความขอบคุณสองสามีภรรยาจึงได้จัดสร้างโลงแก้วทำจากตะกั่วที่เหมาะสมกับท่าน เพื่อเก็บร่างของท่านไว้ในวัดสืบไป หลังจากนั้นมาความศรัทธาต่อท่านก็ค่อยๆเติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ แม้จะไม่มีการรับรองใดๆจากพระศาสนจักรก็ตาม จนล่วงมาเกือบ 200 ปีแห่งมรณกรรม เมื่อเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศสซึ่งรัฐบาลชุดใหม่ตั้งตนเป็นปฏิปักษ์กับพระศาสนจักร ในปี ค..1793 ทหารของรัฐสามนายก็บุกเข้ามาที่วัดในหมู่บ้านพิบรัก แล้วทำการขนร่างของท่านไปโยนใส่หลุมที่เตรียมไว้ ก่อนโรยทับด้วยปูนขาวเพื่อเร่งให้ร่างอัศจรรย์ของท่านเน่าสลายไปโดยเร็วขึ้น

เวลาต่อมาทหารทั้งสามนายที่กระทำอุกอาจต่อร่างของท่าน ก็มีอันล้มป่วยลงด้วยอาการผิดปกติต่างๆ หนึ่งในคนหนึ่งมีอาการผิดปกติที่คอ จนไม่สามารถหันหน้ามาข้างหน้าได้ แต่รายที่หนักสุดเห็นจะเป็นทหารที่อายุน้อยที่สุดในกลุ่ม เพราะป่วยเป็นโรคประหลาดจนแทบจะเดินโดยไม่มีไม้ค้ำไม่ได้ แล้วจึงสิ้นใจไปในเวลาไม่นาน ส่วนทหารสองคนที่เหลือภายหลังได้กลับใจ และไม่นานทั้งสองก็ได้รับการรักษาอาศัยคำเสนอวิงวอนของท่านต่อพระเป็นเจ้า
แม้ร่างของท่านจะถูกฝังไป และมีแตกความวุ่นวายปั่นป่วน ความเคารพต่อท่านของชาวบ้านก็มิได้จางหายไปไหน ทุกคนต่างรอคอยกระทั้งเวลาแห่งความสับสนจบลง ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันขุดร่างของท่านขึ้นมา ผลปรากฏว่าร่างของท่านถูกปูนขาวทำลายไปบ้าง แต่โดยรวมแล้วก็ยังสมบูรณ์อยู่ ชาวบ้านจึงได้นำร่างของท่านบรรจุในโลงแก้วและตั้งไว้ในวัดดังเดิม

องค์พระผู้เป็นเจ้ามิเคยหยุดที่จะเชิดชูข้ารับใช้ผู้ต่ำต้อยของพระองค์ ในปี ค..1850 กระบวนการดำเนินเรื่องแต่งตั้งท่านเป็นบุญราศีและนักบุญถูกนำมาปัดฝุ่นอีกครั้ง โดยคราวนี้ได้มีการแนบอัศจรรย์ไปมากกว่า 400 อัศจรรย์ซึ่งมีทุกรูปแบบไม่ว่าจะการรักษาคนตาบอด , คนพิการแต่กำเนิด คนพิการภายหลัง ,คนป่วยหรือการทวีอาหารก็มี(เหตุการณ์เกิดขึ้นที่อารามคณะภคินีศรีชุมพาบาลที่บูร์ชในปี ค..1845) และจดหมายร้องขอให้สันตะสำนักแต่งตั้งท่านเป็นบุญราศีจากทั้งพระอัครสังฆราชและพระสังฆราชในฝรั่งเศสถึงสามสิบฉบับ 
พิธีสถาปนาเยอร์แม็ง กูซังเป็นนักบุญ
สมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 9 เองก็ทรงประทับใจถึงเรื่องราวของท่าน แต่เนื่องจากเหตุการณ์บ้านเมืองก็ทำให้พระองค์ต้องชะลอการบันทึกนามท่านเป็นบุญราศีไป แต่กระนั้นพระองค์ก็ทรงได้บันทึกนามท่านในสารบบบุญราศีในวันที่ พฤษภาคม ค..1854  และที่สุดในวันที่ 29 มิถุนายน ค..1867 พระสันตะปาปาองค์เดียวกันก็ทรงสถาปนาท่านเป็นนักบุญ จึงทำให้บัดนี้เด็กหญิงที่ไม่มีใครต้องการ ก็ได้กลายเป็น ศักดิ์ศรีแห่งพิบรัก’ 

เมื่อรำพึงถึงสำนวนภาษาละตินที่ว่า ‘Memento Mori’ ที่ความหมายว่า จำไว้เถิดทุกคนต้องตาย เป็นความจริงที่ว่า ไม่ว่าจะช้าหรือเร็วในวันหนึ่งมนุษย์ทุกคนล้วนต้องไปอยู่เฉพาะพระพักตร์ของพระเจ้า เพื่อรับการพิพากษาตามผลของการกระทำของเราบนโลกใบนี้ ดังนั้นประกาศกอิสยาห์จึงได้ย้ำเตือนเราว่า จงแสวงหาองค์พระผู้เป็นเจ้าเมื่อพระองค์ทรงยอมให้เราพบ (อิสยาห์ 55:6)  เพราะการดำเนินชีวิตในโลกนี้ ซึ่งเราไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อไร คือเวลาที่พระเป็นเจ้า ทรงให้เป็นการพิสูจน์สำหรับเรา ว่าความเป็นนิรันดร์ในสวรรค์นั้นเหมาะสมกับเราหรือไม่
ดังนั้นในวันนี้ขอให้แบบฉบับอันงดงามที่ปรากฏชัดในชีวิตของท่านนักบุญเยอร์แม็ง เด็กหญิงเลี้ยงแกะธรรมดาๆ จากพิบลัก ซึ่งคือการเจริญชีวิตติดตามพระเยซูคริสตเจ้าในทุกๆ โอกาสของชีวิต โดยการพยายามค้นหาน้ำพระทัยของพระเป็นเจ้า ในทุกๆ ช่วงเวลาของชีวิต และพยายามปฏิบัติตามความสามารถของตน ดุจเดียวกับพระนางมารีย์ พระมารดาพระเจ้า ที่น้อมรับน้ำพระทัยของพระเจ้าเสมอในทุกเหตุการณ์ นับตั้งแต่พระวจนาตถ์ทรงรับเอากาย ได้หนุนนำให้เราไม่ยอมเสียเวลาที่มีค่าในชีวิต ในการติดตามพระเยซูคริสตเจ้า ไม่ว่าเราจะอยู่ในสภาพไหน เป็นเด็ก เป็นผู้ใหญ่ เป็นฆราวาส เป็นนักบวช หรือเป็นผู้ป่วย เพราะชีวิตในโลกนี้ของเราจะจบลงเมื่อไร ล้วนไม่มีใครรู้ ท้ายนี้ขอให้เราตระหนักว่าในวันนี้เด็กเลี้ยงแกะธรรมดาๆคนหนึ่ง มีสภาพชีวิตที่น่าอดสู และไม่ได้มีร่างกายที่เพียบพร้อม ยังสามารถเป็นนักบุญได้ เราท่านเองก็สามารถเป็นนักบุญได้ในสวรรค์เช่นกัน

"ข้าแต่ท่านนักบุญเยอร์แม็ง กูซัง ช่วยวิงวอนเทอญ"

ข้อมูลอ้างอิง
http://ville-pibrac.fr/index.php/ville/histoire-de-la-ville/item/4-sainte-germaine

ศักดิ์ศรีแห่งพิบรัก 'เยอร์แม็ง กูซัง' ตอนแรก

นักบุญเยอร์แม็ง  กูซัง
St. Germaine Cousin
ฉลองในวันที่ : 15 มิถุนายน
องค์อุปถัมภ์ : ผู้ถูกทอดทิ้ง , ผู้ตกเป็นเหยื่อความรุนแรง , การสู้ชีวิต , ผู้พิการ , เยาวชนหญิงจากพื้นที่ชนบท , ผู้ป่วย , คนยากจน , การสูญเสียผู้ปกครอง , คนเลี้ยงแกะ , การเจ็บป่วย , คนอาภัพเรื่องความสวยความงาม , นักกายภาพบำบัด

ในฝรั่งเศสมีนักบุญหญิงหลายองค์ ซึ่งมีชีวิตที่น่าพิศวงไม่ว่าจะเป็นนักบุญเยโนเวฟา ผู้นำปารีสรอดพ้นจากศัตรูด้วยคำภาวนา ,  นักบุญโจน ออฟ อาร์ค วีรสตรีผู้ปลดปล่อยฝรั่งเศสจากอังกฤษตามเสียงจากสวรรค์ , นักบุญเทเรซา แห่ง ลีซีเออร์ ชีลับน้อยผู้ได้นำเสนอหนทางสายน้อยสู่ความศักดิ์สิทธิ์ ฯลฯ แต่นักบุญที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ หาได้มีคุณสมบัติเหมือนนักบุญที่ยกมาข้างต้นเลย เพราะนักบุญองค์นี้ไม่ได้นำเมืองให้รอดพ้นจากศัตรูด้วยคำภาวนา ไม่ได้ปลดปล่อยประเทศให้เป็นอิสระ หรือแม้แต่เขียนหนังสือที่มีคุณค่าฝ่ายจิตใดๆ นักบุญองค์นี้ก็หาทำไม่ ตรงข้ามตลอดชีวิตนักบุญองค์นี้กลับเป็นสตรีธรรมดาๆ ที่เป็นที่รู้จักเพียงแค่ละแวกบ้าน และจากคนยากไร้ที่ผ่านแวะมาเท่านั้น

พิบรัก(พิ-บรัก) คือหมู่บ้านฝรั่งเศสเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ในเขตตูลูส ปกครองของจังหวัดโอต-การอน ประเทศฝรั่งเศส ในปี ค..1579 มีบันทึกว่าคือ เวลาแห่งฝันร้าย ด้วยพิษจากสงคราม(น่าจะเป็นสงครามศาสนาในฝรั่งเศส?-ผู้เรียบเรียง) ซึ่งนำมาสู่ความกันดารอาหารและโรคระบาดได้แพร่ไปทุกหัวระแหง ชาวพิบรักเวลานั้นซึ่งเลี้ยงชีวิตด้วยการเกษตร จึงอยู่ตกในสภาพที่ต้องดิ้นรนสู้ชีวิต ขณะที่กำลังใจใดๆก็แทบจะไม่มีเลย
บ้านตระกูลกูซัง
และก็เป็นในช่วงเวลานี้ และปีนี้เองที่บันทึกหน้าแรกของสตรีนางหนึ่ง ผู้จะเป็นศักดิ์ศรีแห่งพิบรักได้เริ่มขึ้นอย่างมีเงื่อนงำ เพราะไม่มีใครทราบแน่ว่า เยอร์แม็งเป็นลูกใครกันแน่ บางทีท่านอาจจะเป็นลูกน้อยที่มารดามิพึงปรารถนาและถูกนำมาทิ้งไว้ที่ประตูบ้านญาติ หรือเป็นลูกน้อยสุดรักของสองสามีภรรยาผู้ยากไร้ ที่ไม่อาจจะเลี้ยงดูบุตรสาวคนนี้ จึงจำต้องทิ้งไว้ให้คนอื่นเลี้ยงพร้อมความหวังว่าลูกน้อยจะมีอนาคตที่ดีกว่า หรือเป็นลูกแท้ๆของนายโลรังต์ กับภรรยาคนแรกของเขา ที่ด่วนจากไปตั้งแต่ท่านยังเล็กๆ ตามที่เชื่อกันมากที่สุด

แต่ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นก็ไม่มีใครตอบได้ และก็ไม่มีประโยชน์อะไรนักที่จะไปใส่ใจ เพราะศักดิ์ศรีแห่งพิบรัก ไม่ได้ว่าจากว่าท่านเป็นลูกใคร แต่อยู่ที่ชีวิตต่อจากนี้ต่างหาก แต่กระนั้นที่แน่ๆก็คือ บิดา(แท้?เลี้ยง?)ของท่านคือ นายโลรังต์ กูซัง(นามสกุลเขียนตามเสียงในคลิปประวัติท่านภาษาฝรั่งเศส) นั้นเป็นเจ้าของฟาร์มที่เป็นมรดกจากบิดาผู้เป็นช่างตัดเสื้อและอดีตนายกเทศมันตรีประจำเมืองในพิบรัก ผู้แม้จะมีบิดาที่เก่งธุรกิจแค่ไหน เขาก็ไม่ได้รับถ่ายทอดความสามารถนี้มาเลย 
ชีวิตในวัยเยาว์ของท่านในช่วงปีแรกๆ มีบันทึกน้อยมากเมื่อเทียบกับชีวิตในช่วงหลังๆ แต่ก็คงเดาได้ไม่ยากเพราะท่านก็เป็นเพียงเด็กธรรมดาๆ ไม่ว่าจะในแง่ไหน จึงพอสันนิษฐานได้ว่าท่านน่าจะได้รับการเลี้ยงดูตามแบบวิถีของชาวนาชาวไร่ทั่วไป ใน
ท่ามกลางทัศนียภาพท้องไร่ท้องนา และความขยันขันแข็งในการทำงานเลี้ยงชีพต่างๆ  ท่านคงเป็นเด็กน้อยผู้น่ารักและใสซื่อตามประสาลูกชาวบ้านชนบททั่วไป จนถึงวันหนึ่ง ที่ทุกสิ่งได้เปลี่ยนไป

เมื่อท่านมีอายุได้ราวสี่หรือห้าปี บิดาของท่านก็ได้รับเอา นางอาร์มองด์ เดอ ราโฌลเข้ามาเป็นภรรยาของเขา จึงทำให้นางอาร์มองด์กลายมาเป็นผู้รับผิดชอบดูแลงานบ้านงานเรือนในฟาร์มของตระกูลกูซังทั้งหมด การเข้ามาของนางอาร์มองด์ผู้นี้ ดูเหมือนจะช่วยเติมเต็มครอบครัวเล็กๆนี้ให้อบอุ่นขึ้น และช่วยเลี้ยงดูท่านที่เริ่มป่วย แต่ผิดถนัดเพราะการเข้ามานางนี้เองที่ทำให้ชีวิตของท่าน ประสบกับความทุกข์มากยิ่งขึ้น เพราะทันทีที่พบหน้าท่าน แทนที่นางอาร์มองด์จะมีจิตสมัครรักใครท่าน  ตรงข้ามนางกลับไม่ชอบขี้หน้าท่าน และไม่เคยพอใจท่านเลยสักนิด ยิ่งภายหลังลูกแท้ๆของนางมาตาย หลังเกิดได้ไม่นาน นางก็ยิ่งชังขี้หน้าท่านเข้าไปอีก
ที่นอนของท่านใต้บันได ภายในโรงงานของบ้านตระกูลกูซัง
ไม่เพียงเท่านั้นในช่วงเวลาเดียวกัน ท่านก็เริ่มมีอาการผิดปกติทางร่างกาย ซึ่งจะอยู่กับท่านไปตลอดชีวิต โดยจากชีวประวัติของท่านที่มีผู้เขียนไว้ ได้ทำให้เราทราบว่า ตั้งแต่เกิด ท่านมีอาการมือขวาพิการใช้งานไม่ได้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก่อนเมื่อท่านโตขึ้นมาหน่อย ท่านจึงเริ่มมีอาการของโรคหนองที่คนสมัยก่อนเรียกว่า วัณโรคต่อมน้ำเหลืองคอ ซึ่งทำให้เกิดแผลบริเวณคอและแก้มของท่าน รวมถึงยังทำให้บริเวณร่างกายของท่านเกิดอาการบวม และมีตุ่มฝีเกิดขึ้นอยู่ตลอด เพราะโรคดังกล่าวได้กินเข้าไปถึงกระดูกและข้อต่อส่วนต่างๆของร่างกาย เหตุนี้ท่านจึงต้องใช้ชีวิตที่เหลืออยู่อย่างคนทุคลภาพโดยสมบูรณ์ 

เมื่อนางอาร์มองด์ได้เห็นสภาพของลูกติดคนนี้ นางก็ยิ่งรู้สึกรังเกียจท่านมากขึ้น นางไม่อาจทนมองเห็นท่านอยู่ใกล้ตัวได้ และยิ่งชังน้ำหน้าลูกเลี้ยงคนนี้มากขึ้น ที่สุดนางจึงเอาเรื่องนี้มาเป็นข้ออ้างให้ไล่ท่านไปนอนไกลๆ บ้าน และแทนที่บิดาของท่านจะออกมาปกป้องท่าน เขาก็กลับคล้อยตามคำยุยงของภรรยาคนใหม่ จึงทำให้ในไม่ช้าท่านก็ถูกไล่ให้ไปยึดเอาโรงนา เป็นที่หลบหนาวหลบร้อนแต่เพียงลำพัง พร้อมถูกสั่งห้ามอย่างเด็ดขาดว่าไม่ให้เข้ามาในบ้านอีก ด้วยเหตุผลง่ายๆ คือเพื่อป้องกันไม่ให้ท่านเอาโรคร้ายนี้ไปติดคนอื่น และไม่เพียงเท่านั้นนางยังไม่ยอม ให้ท่านได้ใช้เสื้อผ้าดีๆตามฐานะลูกคนหนึ่งของครอบครัว ทำให้ท่านมีเพียงเสื้อผ้าเก่าๆ ขาดๆ คอยไว้ใช้กันแดดกันฝน กับเท้าที่เปื่อยเปล่าตลอด นักเขียนประวัติของท่านคนหนึ่งได้อธิบายสภาพชีวิตของท่านว่า เยอร์แม็งถูกเลี้ยงอย่างรักใคร่น้อยเสียยิ่งกว่าสุนัขของครอบครัวเสียอีก
ทั้งนี้เพื่อไม่ต้องเห็นหน้าท่านทั้งวันตลอดทั้งปี นางอาร์มองด์จึงจัดให้ท่านไปเลี้ยงแกะของครอบครัว จึงทำให้แต่นั้นมาทุกเช้า ท่านก็จะมาคอยที่ประตูบ้านอย่างซื่อสัตย์ เพื่อรับทราบงานที่ต้องทำในวันนั้น ส่วนนางอาร์มองด์ ผู้ผูกใจเจ็บกับท่านก็โยนเศษอาหารเหลือๆ จากอาหารเช้ามาให้ท่าน ซึ่งส่วนมากก็จะเป็นขนมปังบูดเสียส่วนใหญ่ แล้วท่านจึงต้อนฝูงแกะออกไปกินหญ้าตามทุ่งต่างๆ และนางอาร์มองด์ก็ยังมักถือโอกาสที่ต้องต้อนแกะไปกินหญ้านี้เอง สั่งให้ท่านไปเลี้ยงแกะที่บริเวณชายป่าบูกอนน์ ซึ่งขึ้นชื่อว่ามีหมาป่าดุร้ายวนเวียนอยู่ เพื่อหมายจะกำจัดภาระอย่างท่านให้หมดๆไปเสีย

นอกจากใช้ให้ไปเลี้ยงแกะแล้ว  นางอาร์มองด์ยังใช้ให้ท่านปั่นขนแกะเป็นด้ายทุกวัน ซึ่งเป็นงานที่ขนาดคนมีมือดีสองข้างยังต้องใช้ฝีมือ และจำเป็นที่ต้องได้รับการฝึกฝน ไม่เว้นแม้แต่ในฤดูหนาว ที่อากาศอันหนาวเหน็บปกคลุมไปทั่วร่างของท่าน จนท่านไม่อาจจะขยับนิ้วได้ ท่านก็ยังถูกบังคับให้ทำงานดังกล่าวอยู่ตลอด แต่กระนั้นท่านก็สามารถทำงานนี้ออกมาได้เหมือนงานอื่นๆ เพราะไม่มีอะไรที่ท่านทำไม่ได้ ท่านมุมานะอย่างยิ่งที่จะทำให้แม่ใหม่ของท่านพอใจอยู่ตลอด แต่ความมุมานะของท่านก็ไม่เคยมีค่าในสายตาของนางอาร์มองด์เลยสักครั้ง
วัดนักบุญมารีย์ มักดาเลนนา พิบลัก
เพื่อนบ้านหลายคนในละแวกข้างเคียง ซึ่งเป็นพยานในระหว่างเสนอแต่งตั้งท่านเป็นบุญราศี เล่าถึงการทำร้ายร่างกายท่านของแม่เลี้ยงซึ่งพวกเขาได้เห็น ว่าบ่อยครั้งเมื่อนางอาร์มองด์โกธรมากๆ นางก็จะเอาน้ำร้อนสาดใส่ท่าน ไม่ก็ทุบตีท่านด้วยเหตุผลต่างๆนานาที่นางจะสรรหามาได้ แม้บางครั้งงานที่นางมอบหมายให้ท่านทำ ท่านจะทำสำเร็จ นางก็สามารถที่จะหาเหตุผลมาทุบตีท่านได้ จนหลายคราชาวบ้านจึงมักพบท่านมีแต่พกช้ำและรอยเฆี่ยนตีทั่วทั้งตัว 

หามีความโหดร้ายอันใด หรือแม้นความป่าเถื่อนใดที่เกินกำลังของเธอ ท่ามกลางชีวิตที่ต้องสู้ ท่านก็ยังมีกำลังสู้ต่อไปทุกวัน บางที่กำลังนั้นก็อาจจะมาจากการที่ทุกๆวันอาทิตย์ นางอาร์มองด์จะอนุญาตให้ท่านไปร่วมมิสซา ที่วัดหลังเก่าประจำหมู่บ้าน อีกฝั่งของแม่น้ำชื่อ วัดนักบุญมารีย์ มักดาเลนนา เพราะจากที่แห่งนั้น ท่านได้ค้นพบการปลอบประโลมใจสำหรับชีวิตที่แสนจะโดดเดี่ยวของท่าน ท่านกระหายที่จะฟังคำเทศน์จากธรรมาสน์ และคำสอนจากการสอนคำสอนสำหรับเด็กหลังเลิกวัด  
จากที่วัดนี้เอง ท่านได้ปลูกเมล็ดพันธ์แห่งความเชื่อ ซึ่งท่านได้หล่อเลี้ยงมันด้วยกิจการดีทั้งหลาย ท่านตระหนักดีว่า ท่านต้องดำเนินชีวิตอย่างมีเหตุมีผล และต้องอยู่ภายใต้สายพระเนตรขององค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ถูกตรึงติดบนกางเขน บัดนี้ความทุกข์ยากสำหรับท่านแล้ว จึงคือรางวัลและการซ่อมแซมความบกพร่องต่างๆตามประสามนุษย์ ท่านมองเห็นว่าชีวิตเป็นเพียงแค่การทดลองเพื่อไปสู่ความเป็นนิรันดร์ร่วมกับพระคริสตเจ้า หากแม้นท่านสมควรกับสิ่งนั้น และทีละนิด ขณะความคิดของท่านค่อยๆโตขึ้น ท่านก็เข้าใจได้ว่าชีวิตของท่านคือ
พันธกิจแห่งรักกล่าวคือการสละตนเองและปฏิบัติกิจการดีเพื่อผู้อื่น ซึ่งไม่เว้นแม้แต่การกลับใจของแม่เลี้ยงผู้ผูกใจเจ็บกับท่าน

และแม้ว่าท่านจะไม่เคยได้มีโอกาสได้ไปโรงเรียน ท่านก็เป็นนักเรียนที่ดีในโรงเรียนแห่งความรักของพระเจ้า คำสอนต่างๆที่มีในหัวของท่าน เกิดจากการฟังบทเทศน์และคำสอนจากช่วงการสอนคำสอนเล็กๆ ที่ท่านเรียนด้วยหัวใจ และจดจำมันไว้ ก่อนจะนำมารำพึงคิดตลอดทั้งสัปดาห์อย่างสม่ำเสมอ นอกนี้แล้วจากการไปวัด ท่านยังพบอีกว่า พระเยซูเจ้าผู้สถิตองค์ในเพศปังเป็นประดุจกำลังและสหายสนิทที่สุดในชีวิตที่แสนจะอ้างว้างของท่าน บ่อยครั้งเมื่อสัตบุรุษคนอื่นๆกลับไปแล้ว ท่านก็ชอบคุกเข่าสวดอยู่บนพื้นหินแข็งๆ เบื้องหน้าพระองค์เป็นเวลานานๆ จนเวลาล่วงผ่านไปหลายปี ท่านก็ตระหนักได้ว่าการมามิสซาแค่วันอาทิตย์นั้น หาได้ตอบสนองต่อความศรัทธาเป็นพิเศษ และความปรารถนามาร่วมมิสซาที่ไม่อาจจะอดกลั้นได้ของท่าน ท่านอยากจะวิ่งไปที่วัดเพื่อร่วมมิสซาทุกวัน แต่ท่านก็ไม่อาจทำได้ด้วยภาระเลี้ยงแกะ
ทุกๆวันระหว่างสัปดาห์จากทุ่งหญ้าสีเขียว ขณะท่านต้อนบรรดาแกะให้เล็มหญ้า ท่านก็จะเห็นวัดประจำหมู่บ้าน พร้อมหอสูงที่จะคอยย่ำระฆังเงินเสียงใสในตอนเช้าเพื่อเรียกสัตบุรุษให้มาร่วมมิสซา และเมื่อเสียงระฆังดังขึ้น วิญญาณของเด็กเลี้ยงแกะน้อยผู้ทอดสายตาไปยังวัด ก็จะบินตรงไปยังวัดดุจนกพิราบเพื่อร่วมมิสซาทางใจ ท่านเฝ้าทำเช่นนี้อยู่ทุกวัน จนวันหนึ่งการกระทำเช่นนี้ ก็ไม่อาจตอบสนองต่อเสียงเรียกภายในใจของท่านได้อีกต่อไป

ดังนั้นเองท่านจึงตัดสินใจเรียกแกะของท่านเข้ามาอยู่ด้วยกัน หลังจากนั้นท่านจึงเอาแกนปั่นด้ายปักกับพื้นข้างๆพวกมัน แล้วจึงทำสำคัญมหากางเขน และวิ่งตรงไปวัดอย่างร้อนรน  จนกระทั้งมิสซาจบท่านจึงรีบกลับมา และก็พบว่าฝูงแกะของท่านต่างอยู่ในอาการสงบรอบๆแกนด้าย ใต้เงาทอดยาวของต้นโอ๊ค ดังนั้นเองในครั้งต่อๆไปท่านจึงปฏิบัติเช่นเดิมอีก และก็ปรากฏเป็นอัศจรรย์คือ ไม่ว่าครั้งไหนท่านจะละฝูงแกะท่านไปร่วมมิสซา ไม่ว่าที่ท่านเอาแกะไปปล่อยจะมีหมาป่าคอยซุ่มกินแกะ แกะหรือลูกแกะของท่านแม้แต่ตัวเดียวก็จะไม่เคยหาย หลายคนที่มาพบก็ต่างเป็นพยานและต่างพากันประหลาดใจ ที่ได้เห็นฝูงแกะของท่านต่างพากันเบียดเสียดอยู่รอบๆแกนปั่นด้ายอย่างเชื่อฟัง นอกนี้แล้วแม้นฝนหรือหิมะหรือพายุก็ไม่อาจจะหยุดท่านให้ไปร่วมมิสซาได้อีกด้วย
โปรดช่วยลูกให้เป็นที่พอใจของคุณแม่ และที่พอพระทัยของพระองค์ด้วยเถิด
จากสายตาไร้ประสีประสาของเด็กๆในหมู่บ้าน  ทีละนิดพวกเขาก็ค่อยๆมองข้ามสภาพร่างอันทุคลภาพของท่านทีพวกเขาเคยรังเกียจ และแลเห็นวิญญาณอันงดงามของท่านที่ซ่อนอยู่ จนอดที่จะชื่นชมท่านมิได้ เด็กๆต่างรู้สึกอยากจะเข้าใกล้ท่าน และอยากจะผูกมิตรกับท่าน หลายคนมักวิ่งตัดนาไปหาท่านหลังโรงเรียนเลิก และก็มักพบท่านกำลังคุกเข่าสวดอยู่เบื้องหน้าสักการสถานเล็กๆฝีมือของท่าน ที่เป็นเพียงไม้เท่าที่หาได้สองอันขัดเป็นกางเขน แลดูช่างขัดสน แต่สำหรับท่านแล้ว เพียงเท่านั้น มันก็พอให้ท่านระลึกถึงความรักขององค์พระมหาไถ่ ผู้ที่ท่านร้อนรนยิ่งที่จะเป็นที่พอพระทัยต่อพระองค์

นอกนี้พอใช้สายตาน้อยๆสอดส่ายสายตารอดผ่านช่องมือของท่านไป พวกเขาก็จะเห็นหนังสือเล่มเดีวในชีวิตของท่าน นั่นคือสายประคำ และแม้จะมีผู้มาเยือน ท่านก็ยังคงยกจิตใจของท่านขึ้นไปหาพระเป็นเจ้าผ่านการภาวนาและการรำพึงโดยสมบูรณ์ ท่านค่อยๆขยับสายประคำง่ายๆของท่าน ที่ท่านทำเองจากการเอาเชือกจากฟางเก่าๆมาขมวดปมอย่างง่ายๆ ข้าแต่พระเจ้าที่รัก โปรดอย่าให้ลูกหิวหรือกระหาย โปรดช่วยลูกให้เป็นที่พอใจของคุณแม่ และเป็นที่พอพระทัยของพระองค์ด้วยเถิด คือบทภาวนาง่ายๆที่ท่านชอบสวดบ่อยๆ แต่บางทีพวกเขาก็พบท่านกำลังนั่งปั่นด้ายอยู่บนโขดหิน รายล้อมไปด้วยเพื่อนๆที่ต่างนั่งอยู่กับพื้นหญ้า
ความปรารถนาของท่าน คือ การช่วยให้คนอื่นรักพระองค์มากขึ้น
เด็กๆในหมู่บ้านส่วนมากจะชอบเวลาท่านพูดคุยกับพวกเขา ซึ่งก็ไม่เคยเลยที่ท่านจะพูดถึงตัวท่านหรือชะตากรรมอันน่ารันทดของท่าน ตรงข้ามท่านจะพูดกับพวกเขา ถึงเรื่องเกี่ยวกับพระที่ท่านกลั่นกรองออกจากความรู้น้อยๆและความรักต่อความเชื่อของท่าน ท่านเผยถึงความปรารถนาอันแรงกล้าของท่านว่าคือการช่วยให้คนอื่นรักพระองค์ให้มากขึ้น และเมื่อเพื่อนของท่านแสดงความสงสารต่อชุดที่มอมแมมและอาหารที่อดๆอยากๆ หรือไต่ถามถึงรอยพกช้ำและรอยเฆี่ยนตี ท่านก็แสดงให้เห็นว่าท่านได้เปลี่ยนความทุกข์ยากเหล่านี้ เป็นโอกาสที่จะได้เลียนแบบองค์พระเยซูเจ้า ผู้ถูกเฆี่ยนตีอย่างทารุณเพื่อบาปของชาวเรา

และเมื่อกลับบ้านไป เด็กๆก็มักไปกล่าวยกย่องท่านให้บิดามารดาฟังอย่างซื่อๆ ฝั่งบิดามารดาก็จะทนฟังคำยกย่องเหล่านั้น และต่างพากันเรียกท่านอย่างเย้ยๆว่า คนใจศรัทธา ส่วนท่านเองก็จะน้อมรับคำตำหนิติเตียนเหล่านั้นด้วยความถ่อมสุภาพและความอดทน เหมือนที่ท่านปฏิบัติต่อคำด่าต่างๆของนางอาร์มองด์(คำติเตียนของคนทั้งหมู่บ้านรวมกัน ยังไม่มากเท่ากับนางอาร์มองค์พูดคนเดียว) ซึ่งก็ยังผลดีให้ชีวิตฝ่ายจิตของท่านถูกยกขึ้นสูงขึ้นเสียยิ่งกว่าจากเรื่องความทุคลภาพเสียอีก
แต่ละวันผ่านไป จากเพียงวันเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน เป็นปี ไม่มีอะไรในชีวิตประจำวันท่านที่เปลี่ยนไปเลย นอกเสียแต่ฤดูกาลที่ผันแปรไป แต่แผนงานของพระเจ้าสำหรับชีวิตของท่านหาได้เป็นเช่นไม่ เพราะวันหนึ่งพระเจ้าก็ทรงได้เผยแสดงถึงความศักดิ์สิทธิ์ของคนเลี้ยงแกะหญิงผู้นี้ให้บรรดาผู้มีตาแต่หามีแววไม่ให้ได้ประจักษ์  กล่าวคือวันหนึ่งในช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิใหม่ๆ ละอองทิพย์ที่เคยปกคลุมไปทั่วทุกทิศก็ค่อยๆทยอยละลาย ประกอบกับฝนที่พากันตกหนัก ระดับน้ำทั้งในแม่น้ำและลำธารทั่วพิบรักจึงเอ่อสูงขึ้นจากปกติ

วันนั้นพอท่านได้ยินเสียงสุกใสของระฆังวัด ท่านก็รีบลุดไปร่วมมิสซาดั่งที่ปฏิบัติเช่นปกติ แต่เนื่องด้วยในวันนี้การจะวิ่งไปสะพานเพื่อข้ามไปยังวัด เห็นทีคงจะทันได้ร่วมมิสซา ท่านจึงตัดสินใจจะเดินข้ามลำธารชื่อ กูร์แบ’ ไปเลย เพราะปกติแล้วลำธารนี้จะเป็นเพียงลำธารตื้นๆที่เดินข้ามได้ แต่เมื่อท่านมาถึงท่านก็พบว่า ในเวลานี้ลำธารได้แปรสภาพไปเป็นลำน้ำที่เชี่ยวกราด จนยากเกินกว่าจะเดินข้ามไปได้

เพื่อนของท่านสองคนที่อยู่ฝั่งตรงข้าม เมื่อเห็นท่านมีท่าทีคิดหนัก ทั้งสองก็รีบเตือนท่านว่าน้ำตอนนี้ลึกมาก และเชี่ยวเกินกว่าจะข้ามมาได้ พร้อมบอกให้ท่านว่าอย่าเสี่ยงข้ามมาเลย แต่ฝั่งท่านที่มีจิตปริตรวิตกถึงมิสซา ก็ตัดสินใจจะข้ามไปให้ได้ แต่ก่อนจะเริ่มข้ามท่านก็ทำสำคัญมหากางเขนก่อน และบัดดลเองน้ำในลำธารกูร์แบที่กำลังไหลเชี่ยว ก็แหวกออกเป็นทางแห้งให้ท่านข้ามไปอีกฝั่งได้ เหมือนดั่งเช่นเหตุการณ์ที่ทะเลแดงในพระธรรมเดิม

ฝั่งเพื่อนทั้งสองของท่านเมื่อเห็นเหตุการณ์เป็นดังนั้น ก็ต่างพากันเอาเรื่องนี้ไปเล่าต่อ จนจากปากต่อปากชาวบ้านทั้งหมู่บ้านก็ต่างทราบถึงการอัศจรรย์ครั้งนี้ และเริ่มเปลี่ยนความคิดที่มีต่อท่านเสีย ยกเว้นเสียแต่คนเดียวที่ไม่พอใจกับข่าวนี้ก็คือนางอาร์มองด์ เพราะยิ่งเห็นชาวบ้านหลายคนให้ความเคารพท่านมากเพียงใด เพลิงโทสะในใจของนางก็ยิ่งครุกกรุ่นมากขึ้นเท่านั้น เป็นความจริงที่ว่าอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นมากกว่าหนึ่งครั้งไม่เคยจะเปลี่ยนหัวใจของนางได้ เพราะนางเป็นหญิงแข็งกระด้างและชอบลงไม้ลงมือ

"ข้าแต่ท่านนักบุญเยอร์แม็ง กูซัง ช่วยวิงวอนเทอญ"


วันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2563

"มาร์เกอริต เบย์" แบบฉบับฆราวาส

นักบุญมาร์เกอริต เบย์
St. Marguerite Bays
ฉลองในวันที่ : 27 มิถุนายน

ลา ปีร์ราซ’ คือชื่อของหมู่บ้านเล็กๆ ที่ตั้งอยู่แถบชนบทของรัฐฟรีบูรก์ ทางตะวันตกของประเทศสวิสเซอร์แลนด์  ลา ปีร์ราซแห่งนี้ เมื่อพิจารณาดีๆ ก็จัดเป็นชุมชนหลังเขาพอสมควร มันเป็นเพียงชุมชนหนึ่งของตำบลซีวีรีส ที่รายล้อมไปด้วยทุ่งหญ้าสีเขียว กับแม่น้ำลา แกลนไหลผ่าน ชีวิตของชาวบ้าน ที่อาศัยอยู่ก็ดำเนินไปอย่างเรียบง่าย ตามประสาชาวชนบททั่วไป ไม่ได้มีอะไรหวือหวาหรือพิเศษ ที่จะทำให้มันโดดเด่นต่างจากชุมชนในชนบทอื่นๆ แต่เป็นชุมชนที่ต่ำต้อยนี้เอง ที่พระเป็นเจ้าได้ทรงเลือกและได้ส่งของขวัญอันล้ำค่ามายังโลก ในวันเดียวกันกับที่พระศาสนจักรระถึงการบังเกิดของพระนางมารีย์เพื่อให้ชาวโลกได้รับพรอาศัยของขวัญชิ้นนี้  ผ่านการเกิดของธิดาคนหนึ่งของสองสามีภรรยา ผู้อาศัยอยู่ ณ หมู่บ้านแห่งนี้

อ็องตวนและโฌเซตเต เป็นสองสามีภรรยาเจ้าของฟาร์มขนาดกลางในหมู่บ้านลา ปีร์ราซ ทั้งคู่เป็นคริสตชนใจศรัทธา ที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาตั้งแต่ชีวิตแทบจะไม่มีอะไรกิน จนพอลืมตาอ้าปากได้ในวันนี้ด้วยความขยันมุมานะ ซึ่งแม้จะไม่ถึงขั้นร่ำรวยมีกินมีใช้ ทั้งคู่ก็ได้ใช้ชีวิตเป็นประจักษ์พยานถึงกิจการเมตตาต่อคนยากคนจนในพื้นที่นี้เป็นอย่างดี เป็นครอบครัวนี้เองที่ในวันที่ชาวเราฉลองการบังเกิดของแม่พระ บุพผาแห่งรัก ผู้จะเป็นอนาคตนักบุญได้ถือกำเนิดขึ้นและส่งเสียงร้องงอแง เป็นสัญญาณถึงการมีชีวิต ในวันที่ 8 กันยายน ค..1815 
ทั้งสองตั้งชื่อธิดาตัวน้อย ผู้เป็นลูกคนที่สองจากเจ็ดคนของพวกเขาว่า ‘มาร์เกอริต และได้คอยช่วยกันอบรมธิดาน้อยให้เจริญขึ้นทั้งในด้านวิญญาณ และด้านร่างกายเป็นที่ชอบทั้งต่อพระพักตร์พระเป็นเจ้าและต่อหน้าเพื่อนมนุษย์ จนมีวัยตามเกณฑ์ ทั้งสองก็พาท่านไปรับศีลกำลัง( ค..1823)  และศีลมหาสนิทในปี (ค..1826)  พร้อมได้ส่งเสียเข้าเรียนในโรงเรียนชาว็องเนส เลส ฟอร์ตส์ตามกำลัง จนพออ่านออกเขียนได้ ทั้งสองจึงให้ท่านออกจากโรงเรียนมาช่วยงานที่บ้านอย่างเต็มตัว  และเมื่อท่านมีวัยได้ประมาณสิบห้าปี ท่านจึงเริ่มเรียนเย็บผ้า และได้เริ่มรับจ้างเย็บผ้ารายวันเพื่อช่วยหาเงินมาจุนเจือครอบครัวที่เริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้น

โดยหนทางอันน่าพิศวง นับตั้งแต่เยาว์วัยแสงแห่งพระเป็นเจ้าก็ทอดลงมายังหัวใจน้อยๆของท่าน และหัวใจของท่านก็เลือกจะติดตามแสงนี้ไป เฉกทานตะวันหันไปตามแสงแห่งสุริยา วิญญาณของท่านถูกดึงดูดไปหาพระองค์มากกว่าจะหันเหไปหาโลกภายนอกเหมือนคนอื่นๆ ท่านชอบที่จะเลือกหาความสันโดษและความเงียบมากกว่าเล่นสนุกกับเพื่อนๆวัยเดียวกัน เพื่อใช้เวลาเหล่านั้นอยู่กับพระองค์ ในทำนองใจสื่อใจ  ท่านสามารถจดจ่ออยู่กับการสวดภาวนา การรำพึง และการไตร่ตรองถึงพระเป็นเจ้าไปได้ตลอดวันตลอดคืน  “‘เธอสวดตลอดเวลาแม้ระหว่างทำงานก็ตาม’ ด้วยจุดหมายเดียวคือกลับไปหาพระองค์ ‘เธอปรารถนาจะที่จะเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า’ ซึ่งเพื่อความปรารถนานี้ ‘เธอมีชีวิตอยู่ในการสำแดงองค์ของพระเจ้า’ สรุปได้ว่า ‘ทุกๆอย่างที่พูดเกี่ยวกับเธอ ก็คือเธอรักที่จะสวด และสวด และสวดภาวนา  นักเขียนชีวประวัติของท่านคนหนึ่งได้เขียนไว้
แม้เมื่อโตขึ้น ชีวิตจะสาละวนกับการงานตามหน้าที่ ท่านก็ไม่ละทิ้งการสวดภาวนา และหมั่นที่จะพัฒนาชีวิตภาวนาของตนให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ไม่ช้ามันก็ยิ่งจะมีแต่ก้าวหน้า กระทั้งล้ำหน้าวัยของท่าน และผลิดอก อวดสี ส่งกลิ่นขจรไปรอบข้าง เป็นที่ชื่นชมจากผู้พบเห็นและได้สัมผัส จนพวกเขาอดไม่ได้ ที่จะคิดว่าวิญญาณที่งดงามเช่นนี้ช่างไม่คู่ควรกับโลกของฆราวาสที่ต้องสาละวนกับภาระงานมากมาย พวกเขาจึงต่างเอ่ยปากแนะนำให้ท่านไปสมัครเข้าอารามลา ฟิลเล ดือของคณะซิสเตอร์เซียนที่ตั้งอยู่ที่ โรม็อง ไม่ไกลเท่าไรจากบ้านของท่าน เพื่อท่านจะได้ใช้ชีวิตภาวนาได้อย่างเต็มที่ ไม่คะ ฉันขอสวดแบบอื่นดีกว่าค่ะ คือคำตอบที่ท่านตอบพวกเขา ชลอยว่าในที่เร้นลับ ที่มีแต่ท่านและพระเป็นเจ้า พระองค์อาจทรงไขแสดงพันธกิจบางประการไว้สำหรับท่าน

วิญญาณแห่งลา ปีร์ราซดวงนี้ ไม่เพียงงดงามด้วยความศรัทธา แต่ยังงดงามด้วยกิจการนานาที่เป็นที่ประจักษ์แจ้งแก่ผู้คนมากมาย ทั้งในเรื่องความรักเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ และความร้อนรนในการประกาศพระวรสาร ซึ่งปรากฏออกมาในหนทางที่แสนธรรมดา ไม่ได้หวือหวาหรือน่าตื่นเต้นเมื่อเทียบกับเรื่องราวของนักบุญองค์อื่นๆ  ที่ละทิ้งบ้านแล้วออกไปผจญภัยในโลกกว้าง เพื่อนำข่าวดีไปให้กับผู้ที่ยังไม่รู้ หรือตั้งคณะนักบวช/ฆราวาสเพื่อทำงานรับใช้พระศาสนจักร เพราะแท้จริงกิจการของท่าน เป็นเพียงการรับใช้พระศาสนจักรอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆแห่งนี้
เป็นความจริงที่ว่าในสมัยของท่านนั้นด้วยผลของการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนโฉมหน้าของโลก ทำให้เกษตรกรบางคนเริ่มหันมาพึ่งพาจักรกลแทนการใช้แรงงานคน สิ่งเหล่านี้ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มจำนวนผลตอบแทน ซึ่งเป็นผลดีแก่เกษตรกรที่เป็นเจ้าของ แต่ก็เป็นผลร้ายต่อเกษตรกรอีกหลายคนที่เคยมีรายได้จากการรับจ้างทำงานในไร่ เพราะทำให้พวกเขาต้องตกงานและมีชีวิตที่ยากลำบากกว่าแต่ก่อน สิ่งเหล่านี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีผลกระทบต่อชีวิตท่านบ้าง แต่มันก็ไม่เคยเป็นข้ออ้างที่ท่านจะปฏิเสธการทำกิจการเมตตาต่อผู้อื่น สิ่งเหล่านี้มีประจักษ์พยานมากมายที่ต่างได้พบเห็น และได้สัมผัสด้วยตัวเอง

เธอมีชีวิตเรียบง่ายสมถะ เธอไม่เคยคิดจะร่ำรวย คนยากไร้หลายคนชอบไปที่บ้านของเธอ และมาร์เกอริตก็ได้ให้การต้อนรับพวกเขาเป็นอย่างดี
เธอไม่เคยปล่อยให้คนยากไร้ต้องอดข้าว ทุกวันอาทิตย์พวกเราจะไปรับประทานอาหารเย็นกันที่เลส ปีแอร์ร๊อต พร้อมกับมาร์เกอริตกับพี่น้องของเธอ
ท่านอาบน้ำให้เด็กยากจน ปะชุนเสื้อผ้าของพวกเขา และบางครั้งก็หาเสื้อผ้าดีๆมาให้แล้วโยนผ้าขี้ริ้วของพวกเขาลงกองไฟ
เธอปฏิบัติความรักต่อเพื่อนบ้านในระดับที่พิเศษกิจการเมตตาของเธอไม่มีขอบเขตและมันล้วนมากจากหัวใจทั้งสิ้น  
เหล่านี้คือตัวอย่างของคำพยาน ที่เล่าถึงข้ารับใช้พระเจ้า ผู้ได้รับการขนานนามจากบรรดาผู้ยากไร้ว่า ผู้ที่พระเจ้าทรงโปรดปราน และได้รับการยกย่องจากชาวบ้านบางคนว่าทำงานหนักกว่าพระสงฆ์
กิจการของพระเจ้าก็คือให้ท่านทั้งหลายเชื่อในผู้ที่พระองค์ทรงส่งมา (ยน. 6:29) เมื่อท่านทำงานท่านชอบที่จะนั่งเป็น ผู้ฟัง’ มากกว่าเป็น ผู้พูด เพื่อรับฟังเรื่องราวต่างๆทั้งความเป็นไปของบ้านเมืองและบุคคลจากบรรดานักข่าวสตรีทั้งหลาย ไม่ใช่เพราะท่านหลงใหลในเรื่องสนุกต่างๆของโลก แต่เพื่อตามหาดวงวิญญาณที่หลงหายไปจากคอกแกะของพระศาสนจักร เพราะสำหรับท่านแล้ว ความรอด’ ไม่ได้จำกัดแค่เพียงวิญญาณของท่าน แต่ยังรวมไปถึงของคนอื่นๆ ท่านจึงเฝ้าที่จะตามหาวิญญาณที่หลงหาย แล้วยกถวายพวกเขาไว้ในคำภาวนา ร่วมกับพลีกรรมต่างๆของท่าน เพื่อหวังว่าพวกเขาจะกลับใจในเร็ววัน บางครั้งท่านก็สวดภาวนาด้วยจุดประสงค์นี้ถึงค่อนคืน และบางครั้งท่านก็ชักชวนให้เพื่อนๆใจศรัทธาสักคนสองคนร่วมสวดภาวนาเพื่อจุดประสงค์นี้อีกด้วย

และแม้วิญญาณของท่านจะรักความเงียบและความสันโดษ ด้วยความกังวลต่อความรอดของเพื่อนมนุษย์ และตระหนักถึงดีถึงความจำเป็นที่จะต้อง ‘ประกาศสัจธรรม’ อย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ นอกจากการสวดภาวนาให้คนบาปกลับใจ ท่านจึงเริ่มรวบรวมเด็กๆละแวกบ้านเพื่อ สอนคำสอน ให้กับพวกเขา แต่วิธีการสอนของท่านนั้นเป็นวิธีสอนที่สวนทางกับความนิยมในเวลานั้น เพราะแทนที่จะสอนแบบตรงไปตรงมาด้วยภาษาที่แสนจะน่าเบื่อ ท่านเลือกที่สอนเด็กๆด้วยการใช้ภาษาสัญลักษณ์ พร้อมบทเพลงในการสวดภาวนาตามแบบที่ท่านถนัด  
บรรดานักเรียนคำสอนน้อยๆทุกคนในวันนั้น ในวันที่พวกเขาโตขึ้นมาและได้มาเป็นพยานถึงครูคำสอนของพวกเขา ยังจดจำได้แม่นถึงรางหญ้าพร้อมพระกุมารที่เสด็จไปเยี่ยมยังที่ต่างๆ พระแท่นประดับดอกไม้นานาพันธุ์ในเดือนแม่พระ การเชิญชวนไปวัดแม่พระแห่งบัวส์ หรือแม้แต่เรื่องที่ครูคำสอนคนนี้ของพวกเขาปลอมตัวเป็นนักบุญนิโคลัสเพื่อเอาของขวัญมาให้พวกเขาทุกคน พวกเขาเล่าถึงตัวของท่านว่า
คุณแม่มาร์เกอริตไม่เคยเบื่อที่จะพูดกับเรา , ท่านรักที่จะหัวเราะ ท่านเป็นคนร่าเริงตลอด , ท่านพูดถึงตัวเองน้อยมากๆ ท่านยังเป็นคนศรัทธามากๆ ,   ท่านทำทุกอย่างเพื่อพระสิริของพระเจ้า , หลายๆครั้ง ก็ดูเหมือนท่านกำลังรำพึง” , “กฎชีวิตของท่านก็คือทำงานและสวด
และเล่าถึงการสอนของท่านว่า
ท่านพูดคุยแบบง่ายๆและร่าเริงและมีเมตตา แต่สิ่งที่ชนะใจของพวกเรา ก็คือความเรียบง่ายที่น่าชื่นชม ความศรัทธาอันบริสุทธิ์ที่ส่องแสง ณ ที่นี่ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งความพอประมาณ และความถ่อมตนของท่าน อาทิการผลักไสการสรรเสริญ 
ท่านพูดคุยกับเรา แต่ไม่ใช่แบบเทศน์ ท่านเป็นคนใจศรัทธา แต่ไม่ใช่คนหัวแข็ง ท่านไม่เคยพูดเมื่อมีอะไรจะพูด
การสวดภาวนาร่วมกับท่านใช้เวลาไม่นาน ท่านไม่ทำให้เราเบื่อ

ตลอดช่วงชีวิตของท่าน เด็กๆทุกคนในหมู่บ้านต่างคุ้นชินดีกับทางเส้นเล็กๆที่นำไปสู่ฟาร์มแห่งหนึ่ง อันเป็นที่ที่พวกเขาจะพบกับท่านกำลังนั่งปั่นฝ้าย ไม่ก็สวดภาวนาอยู่ เพราะเมื่อถึงเวลาเลิกเรียนหรือวันหยุด พวกเขาก็จะพากันเดินทางมายังที่นี่เพื่อพบท่าน ฝั่งท่านเอง เมื่อทราบว่าเด็กๆมาก็ละจากภาระเบื้องหน้า เพื่อมาสนทนากับพวกเขา และแน่นอนด้วยความเป็นเด็ก ก็ต้องมีความซุกซนตามประสาเด็กๆตามมาเป็นธรรมดา แต่เรื่องนี้ไม่ต้องห่วงไป เพราะแม้ท่านจะเป็นคนเงียบๆ ท่านก็สามารถรับมือจอมวายร้ายเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี นอกนี้แล้ว ไม่เพียงแต่เป็นครูคำสอนให้กับพวกเขา ท่านยังกลายมาเป็นเหมือน แม่ อีกคนของบรรดาเด็กๆ ท่านคอยเป็นช่างเย็บผ้าของพวกเขา และบางครั้งเป็นช่างตัดชุดใหม่ให้ฟรีๆอีกด้วย
วัดแม่พระแห่งบัวส์
นอกจากบ้านของท่านที่เป็นจุดนัดพบระหว่างครูคำสอนผู้นี้กับบรรดานักเรียนของเธอแล้ว วัดแม่พระแห่งบัวส์’ วัดน้อยที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากบ้านของท่าน ก็เป็นหนึ่งในจุดนัดพบอีกจุดระหว่างท่านกับเด็กๆ ที่นี่เป็นวัดที่ท่านชอบแวะเวียนมาสวดภาวนา  เพราะเป็นสักการสถานที่มีบรรยากาศที่เงียบสงบ (มีเรื่องเล่าว่าครั้งหนึ่งที่ท่านมาสวดภาวนาต่อหน้าพระรูปแม่พระในวัดนี้ จู่ๆพระรูปก็ก้มพระพักตร์มาหาท่าน) และเนื่องจากมันรายล้อมไปด้วยทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ที่พอจะให้นักเรียนวิ่งเล่น และก็มีต้นไม้ใหญ่ที่พอใช้เล่นซ่อนหาได้ ในทุกวันอาทิตย์ ท่านจึงชอบพาเด็กๆมาเรียนคำสอนที่นี่เสมอ โดยท่านจะเริ่มจากสวดก่อน แล้วจึงค่อยพาพวกเขาเล่นเกมส์ กระทั้งถึงเวลาสมควรท่านก็จะปล่อยทุกคนกลับบ้านไป เวลาเหล่านั้นช่างเป็นเวลาแห่งความสุขสำหรับเด็กๆ พวกเขาจึงอดเสียดายไม่ได้ แต่หลังจากกอดลาแล้วทุกคนก็จะแยกย้ายกันกลับบ้านไปแต่โดยดี

และด้วยความร้อนรนที่อยากจะแบ่งปัน ความรอด’ ไปให้กับทุกคน ในทุกๆวันฉลองพระคริสตสมภพ ดั่งที่ท่านนักบุญฟรานซิส แห่ง อัสซีซี ที่ได้จำลองฉากแห่งเหมันต์ที่เบธเลเฮมขึ้นในอดีต ท่านก็ได้ทำถ้ำพระกุมารเล็กๆขึ้น เพื่อหวังจะให้เด็กๆ และชาวบ้านได้มาเฝ้าองค์สันติราชาด้วยตาเนื้อและกายเนื้อของพวกเขา มาเฝ้าพระองค์ผู้ทรงหลับพริ้มในรางหญ้า เพื่อพวกเขาจะได้รู้สึกเหมือนว่าพวกเขาคือผู้เลี้ยงแกะ ที่ได้รับข่าวดีจากทูตสวรรค์ว่าพระทรงธรรมบังเกิดแล้ว
ชุดถ้ำพระกุมารของท่าน
ท่านพยายามจะถ่ายทอดความรู้สึกนั้นไปให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ลูกในกฎหมายและนอกกฎหมาย ผู้เจ็บป่วยและผู้แข็งแรง ที่มารายล้อมเพื่อเฝ้าพระกุมารน้อยด้วยความยินดีและสันติ ให้พวกเขาได้รำพึง ดั่งที่ท่านรำพึงว่าในวันนี้  กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ได้ถ่อมพระองค์ลงมาบังเกิดเป็น ผู้ต่ำต้อยที่สุด ตลอดพระชนม์ชีพบนโลก นับแต่เวลาที่ทรงบังเกิด ทรงสำแดงพระองค์ ทรงรับททรมาน จนสิ้นพระชนม์ และกลับคืนพระชนมชีพ เป็นความรักเหลือประมาณ ที่รุนเร้าให้ท่านอดไม่ได้ที่จะต้องถามขึ้นว่า อะไรกันหนอที่พวกเราจะทำให้เรารักพระเจ้าได้มากกว่านี้

ส่วนในช่วงเดือนพฤษภาคมขอทุกปีที่เป็นเดือนของแม่พระ ท่านก็จะชักชวนบรรดาเด็กๆที่มาเรียนคำสอนไปร้องเพลงตามบ้านหลังต่างๆ ท่านเชิญชวนพวกเขาให้เปล่งเสียงขับขานเพลง เพื่อถวายพระชนนีพระเจ้าจากหัวใจของพวกเขา ไม่เพียงเฉพาะวันที่ 1 พฤษภาคม แต่ทุกๆวันตลอดทั้งเดือนนี้ นอกนี้ที่บ้านของครอบครัว ท่านก็จะจัดแท่นประดับด้วยดอกไม้เพื่อถวายเกียรติแด่แม่พระ และทุกวันท่านก็จะมาสวดภาวนา ร้องเพลง ณ แท่นนี้  ตัวอย่างเพลงเหล่านี้เช่น  นี่เป็นเดือนมงคลแม่มารีย์ บรรเจิดศรีเดือนนี้ช่างสวยสุด โอ้ พรหมจารีผู้พิสุทธิ์ มาร้องชุดเพลงใหม่สรรเสริญกัน
วัดแม่พระแห่งฤษี เมืองไอน์ซีเดิลน์
ไหนๆก็กล่าวถึงเรื่องแม่พระแล้ว ก็อดได้ที่จะขอแทรกเรื่องราวความศรัทธาของท่านที่มีต่อแม่พระ ตัวท่านนี้ทั้งชีวิตมีความศรัทธาพิเศษต่อแม่พระมาก ทุกวันท่านจะต้องสวดสายประคำ และครั้งหนึ่งเมื่อท่านมีวัยได้ 20 ปี ท่านพร้อมเพื่อนๆจำนวนหนึ่งก็ได้ออกเดินเท้า จาริกแสวงบุญไปยังสักการสถานพระแม่แห่งฤษี เมืองไอน์ซีเดิลน์ ซึ่งอยู่ห่างหมู่บ้านของท่านไปถึง 120 ไมล์ โดยท่านกับเพื่อนใช้วิธีเดินพลาง สวดภาวนาพลาง พอค่ำก็อาศัยนอนในโรงนา มีเงินติดตัวไปนิดๆหน่อยๆ การเดินทางใช้เวลาประมาณสามวัน และเต็มไปด้วยความยากลำบาก แต่ท่านและเพื่อนก็ไม่หวั่น เพราะพวกท่านต่างตระหนักรู้ถึงความรักที่พระนางมารีย์นั้นมีต่อพวกท่านตลอด

ดังที่เล่าไปแล้วว่าเพื่อช่วยจุนเจือครอบครัว ท่านได้เริ่มรับงานเป็นช่างเย็บผ้า และด้วยฝีไม้ลายมือในการเย็บผ้าของท่าน ก็ทำให้มีผู้คนมากมาย มากหน้าหลายตาแวะเวียนเข้ามาในชีวิตประจำวันของท่าน ซึ่งได้เล่าไปบางแล้วว่าพวกเขาเหล่านั้น นอกจากนำงานมาให้ก็นำทั้งข่าว และเรื่องทุกข์สุขหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนมาเล่าให้ท่านฟังเสมอ ซึ่งท่านก็ไม่เคยเลยที่จะปฏิเสธที่จะไม่รับฟังพวกเขา แต่ท่านท่านฟังพวกเขาอย่างมีสติ  เพื่อค้นหา ความต้องการ ที่ท่านจะสามารถช่วยพวกเขาได้ และบางทีก็ชักชวนให้พวกเขาร่วมสวดภาวนากับท่าน และเมื่อจะกล่าวโต้ตอบ ท่านก็ไม่เคยเลยที่จะเลือกใช้วาจาที่ส่อเสียดหรือทำร้ายใคร เหล่านี้คือคำพยานถึงเรื่องเหล่านี้
เธออารมณ์ดีเสมอ
ชาวบ้านมีความสุขเสมอเมื่อเธอมาทำงานที่บ้าน เธอไม่เคยรบกวนเวลาใครและเธอก็เป็นช่างเย็บผ้าฝีมือดี
 “ฉันประทับใจด้วยความแตกต่างของเธอ ทั้งความเรียบง่าย คำพูด คำตอบ อันเต็มไปด้วยความศรัทธาและชีวิตฝ่ายจิตที่สูงส่ง 
มาร์เกอริตไม่เคยโกธรเลยสักครั้ง….. ในความอดทนของทูตสวรรค์ พวกเราจึงเธออยู่ในสันติสุขเสมอ
 เธอตอบกลับอย่างเร็วไว บาดใจไม่มาก แต่เป็นสิ่งที่ถูกที่ควร
เธอมีชีวิตมากกว่าคำว่าทั่วไป แล้วเธอยังเป็นคนเป็นๆ เรายังสามารถเห็นรอยย่นที่หน้าผากของเธอได้ เธอไม่เคยตอบกลับด้วยอารมณ์
ชีวิตอันน่าพิศวงของท่านนี้ อาจทำให้พวกเราจินตนาการไปว่า ท่านต้องมีชีวิตที่ผิดแปลกไปจากชาวบ้านคนอื่นๆ แต่แท้จริงเมื่อคนในครอบครัวเล่าถึงท่าน ภาพที่ถูกฉายออกมากลับไม่ใช่ภาพของนักบุญผู้กระทำการอัศจรรย์ หรือวีรสตรีผู้มีชีวิตโลดโผน ตรงกันข้ามกลับเป็นภาพของ ช่างเย็บผ้าแห่งลา ปีร์ราซ’ ผู้ที่ทุกวันจะลุกขึ้นมาแต่เช้ามืด เพื่อสวดภาวนา ณ เบื้องหน้าพระแท่นแม่พระเล็กๆที่ทำขึ้นเป็นอันดับแรก แล้วจึงเริ่มปั่นด้ายจากต้นป่าน ก่อนออกไปรีดนมวัว และช่วยงานในฟาร์มเท่าที่จะทำได้ จนเวลาล่วงมาถึงเวลาต้องไปมิสซาประจำวัน ก็จะรีบสลัดจากภาระทุกสิ่ง แล้วรีบคว้าหนังสือมิสซา เพื่อมุ่งหน้าไปร่วมมิสซาที่วัด ซึ่งห่างออกไปประมาณยี่สิบนาที เพื่อร่วมมิสซาอย่างตั้งใจ จนมิสซาจบจึงจะกลับมา และกลับมาทำงานเย็บผ้า ซึ่งหากเป็นช่วงหน้าร้อนก็จะเป็นการไปตามบ้านต่างๆ แต่หากเป็นช่วงหน้าหนาวก็จะเป็นที่บ้านของครอบครัว จนจบวัน ปฏิบัติกิจส่วนตัวต่างๆ สวดภาวนาและเข้านอน

นอกนี้พวกเราบางคนคงต้องจินตนาการเป็นแน่ ว่าครอบครัวนี้ต้องเป็นครอบครัวที่เพียบพร้อมและมีความสุข จึงเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นแรงขับให้ท่านพร้อมที่จะนำพระพรไปมอบแก่ทุกคน แต่ผิดถนัดเพราะถึงแม้บิดามารดาของท่านจะเป็นคริสตชนใจศรัทธา ครอบครัวของท่านก็ไม่ได้มีชีวิตที่จัดว่า ราบรื่น’ เสียทีเดียวตรงข้ามกลับเต็มไปด้วยเรื่องราวชวนปวดหัวมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของมารี มาร์เกอริต ลูกสาวคนหนึ่งของบ้าน รายนี้ได้ตัดสินใจแต่งงานออกเหย้าออกเรือนไป แต่สุดท้ายชีวิตคู่ของเธอก็ไปไม่รอดและต้องจบด้วยความเจ็บปวด เรื่องของโฌเซฟ ลูกชายอีกคนของบ้าน รายนี้เป็นคนเจ้าอารมณ์ อีกหย่อนยานในทางศีลธรรม จนสุดท้ายก็ถูกตัดสินจำคุก แต่เรื่องที่น่าจะชวนปวดหัวมากที่สุดน่าจะเป็นเรื่องของโคล้ด ลูกชายคนเล็กของบ้านนี้ เพราะรายนี้ไปทำเขาท้องจนได้ลูกมาคนหนึ่ง ซึ่งภาระในการเลี้ยงอบรมก็ตกมาอยู่กับท่านในวัย 17 ปี ไม่พอเมื่อมีวัยได้ 47 ปี เขาก็ไปคว้าคนนิสัยหยาบกระด้างอย่างนางโฌเซตต์มาเป็นศรีภรรยา นางโฌเซตต์ผู้นี้เมื่อตกแต่งเข้ามา แทนที่จะช่วยแบ่งเบาภาระงานในบ้าน ก็กลับชอบกลั่นแกล้งท่าน ซ้ำชอบจิกหัวใช้งานท่านแทน แต่ในวาระสุดท้ายของนาง เมื่อนางป่วยหนักท่านก็ไม่ถือโทษนาง ซ้ำคอยเฝ้าพยาบาลนางอย่างดี คอยเตรียมจิตใจนาง กระทั้งนางสิ้นใจไป
ภาพวัดจากหน้าต่างบ้านของท่าน
เอ แล้วถ้าไม่ใช่ เพราะมีพื้นฐานครอบครัวที่อบอุ่นที่เป็นแรงขับในตัวของท่านแล้ว สิ่งใดกันหนอที่เป็นแรงขับในตัวของท่าน ให้ท่านลุกขึ้นมาทำกิจการอันน่าพิศวงเหล่านี้ได้ เมื่อลองพินิจดูๆดีแล้วคำตอบของความสงสัยนี้ อยู่ท่ามกลางชีวิตของท่านที่สาละวนกับหลายสิ่ง นั่นก็คือ การภาวนา การรำพึง และ การอ่านพระคัมภีร์ สิ่งเหล่านี้เองที่เป็นแรงขับสำคัญ ที่ควบคู่กับไปความคิดที่ว่า องค์พระเยซูเจ้าทรงกระทำทุกสิ่งในตัวของเรา หน้าที่ของเรามีเพียงการปล่อยให้พระองค์ทรงกระทำ ที่ทำให้ท่านสามารถเจริญชีวิตที่น่าพิศวงนี้ได้ แม้สภาพแวดล้อมรอบข้างจะไม่เอื้ออำนวยก็ตาม

ท่านเจริญชีวิตอันน่าพิศวงนี้ครองตนเป็นโสดอยู่ในบ้านของครอบครัว กระทั้งมีอายุได้ 35 ปี ท่านก็เริ่มมีอาการปวดท้องอยู่บ่อยๆ เป็นอาการเรื้อรังมาตลอด ทีแรกท่านก็พยายามซ่อนมันไว้จากสายตาคนอื่นๆ จนหนักเข้าๆ ครอบครัวของท่านก็สังเกตเห็นอาการผิดปกติในตัวท่าน พวกเขาจึงพาท่านไปพบแพทย์ และได้ทราบว่าท่านนั้นป่วยเป็นโรคมะเร็งลำไส้ ซึ่งแน่นอนว่าในเวลานั้น ไม่มีวิธีทางการแพทย์ใดๆจะรักษาท่านหายได้ เวลานั้นจะด้วยเหตุผลเรื่องอะไรในใจของท่านก็ตาม ท่านจึงหันหน้าไปพึ่งพระมารดาเจ้าที่รักของท่าน ด้วยความวางใจสุดหัวใจ เพื่อวิงวอนขอพระนางให้ทรงวิงวอนต่อพระบุตรให้รักษาท่าน แลกกับการที่ท่านจะต้องรับทรมานร่วมกับพระองค์ เพื่อชดเชยความทรมานในสถานต่างๆ จากวันเป็นสัปดาห์ จากสัปดาห์เดือน จากเดือนเป็นปี ล่วงมาได้สี่ปี คำภาวนาของท่านก็ยังคงไร้ผล บางทีอาจถึงเวลาแล้ว ที่พระองค์จะทรงรับวิญญาณดวงนี้ไปรับบำเหน็จในสวรรค์?
(ซ้ายมือ-ที่มีรูปแม่พระ) เก้าอี้เตากากน้ำตาลที่บ้านของท่าน
พระราชกิจของพระองค์น่าพิศวง ดั่งคำสรรเสริญในหนังสือสดุดีบทที่ 139 ข้อ 14 ในวัยกลางคนของสตรีธรรมดาๆ พระเป็นเจ้าได้ทรงตระเตรียมแผนการณ์อันน่าพิศวงอีกประการที่ไม่เพียงจะเปลียนชีวิตของสตรีคนหนึ่งให้เปลี่ยนไป แต่จะเปลี่ยนลา ปีร์ราซให้เป็นมากกว่าเพียงหมู่บ้านเกษตรกรเล็กๆ โดยพระองค์ได้เลือกสรรค์วันที่พระศาสนจักรประกาศยอมรับธรรมล้ำลึกของการปฏิสนธินิรมลของพระนางมารีย์ ซึ่งก็คือในวันอาทิตย์ที่ 8 มีนาคม ค..1854 ให้เป็นวันที่จะเริ่มแผนการณ์นี้ โดยวิถีทางอันน่าพิศวง กล่าวคือ ในวันนั้นขณะแสงเทียนแห่งชีวิตของท่านใกล้จะดับลงเต็มที ท่านที่เวลานั้นนอนรอความตายอยู่เพียงลำพังในบ้าน เพราะคนอื่นๆต่างออกไปมิสซา ก็ได้รับการดลใจจากสวรรค์ให้นำเหรียญแม่พระผู้ปฏิสนธินิรมลไปแตะส่วนที่ท่านเจ็บ พร้อมวอนขอพระแม่โปรดเมตตาท่านด้วย

ทันใดนั้นเองพระเจ้าผู้ทรงความรักมั่นคงก็ทรงรักษาท่านให้หายจากอาการป่วยครั้งนี้ ท่านรู้สึกมีกำลังวังชาอีกครั้ง จนสามารถลุกออกจากเตียงมานั่งอยู่ที่เก้าอี้เตากากน้ำตาล ด้วยหน้าตาที่แจ่มใส ไร้เค้าลางของโรคร้ายที่เกือบจะฆาตชีวิตท่านไป แน่นอนภาพท่านนั่งสวดสายประคำในเวลานี้ ยังความประหลาดใจไม่น้อย เมื่อทุกคนในครอบครัวของท่านกลับมาถึงไม่ว่าจะเป็นตัวพี่ชายของท่าน น้องสาวของท่าน หลานชายและหลานสาว เพราะก่อนพวกเขาจะไปวัดท่านยังอยู่ในสภาพที่ไม่น่าจะรอดอยู่เลย ช่างเป็นเรื่องอัศจรรย์ที่ยากจะหาคำอธิบาย แต่แผนการอันน่าพิศวงของพระเจ้าจบลงเพียงเท่านี้หรือ?
ตรงข้ามเลยนี่คือ การเริ่มต้น เพราะแท้จริงแล้ว ชีวิตหลังจากนี้ไปของท่าน พระองค์ได้ทรงจัดเตรียมท่านไว้ให้มีส่วนในถ้วยของพระองค์ พระองค์ทรงได้เชื้อเชิญและอนุญาตให้ท่าน ไม่เพียงแต่ต้องแบกกางเขนของตัวท่านเองติดตามพระองค์ แต่ได้มีส่วนร่วมแบกกางเขนของพระองค์และร่วมกับพระองค์ ณ บนกางเขนนั้น ในไม่ช้าภายหลังจากหายขาดจากอาการป่วยหนัก ที่มือทั้งทั้งสองข้าง เท้าทั้งสองข้าง และที่สีข้างของท่านก็ปรากฏบาดแผลคล้ายบาดแผลศักดิ์สิทธิ์ทั้งห้าจุดของพระเยซูเจ้า และในบ่ายของวันศุกร์ ท่านก็เริ่มมีอาการเข้า ฌาน ร่วมส่วนในเหตุการณ์พรมหาทรมานขององค์พระเยซู

การปรากฏขึ้นของ รอยแผลศักดิ์สิทธิ์ เปลี่ยนวิถีของท่านไปตลอด กล่าวคือนับตั้งแต่วันที่เครื่องหมายนี้ปรากฏขึ้น จิตใจของท่านก็มุ่งหาแต่สวรรค์โดยสมบูรณ์ เสมือนหนึ่งท่านได้ตายจากโลกนี้ แล้วฟื้นขึ้นมามีชีวิต เป็นชีวิตใหม่ที่มุ่งหาแต่สวรรค์และความเป็นนิรันดร์ แม้กายจะยังอยู่ในโลก ดั่งคำพยานหนึ่งที่ว่า ท่านมีความหวังในสวรรค์ … เมื่อพวกเราได้พบท่าน พวกเราพบว่าท่านนั้นเต็มเปี่ยมไปด้วยพระเจ้า…” นอกนี้การเจริญชีวิตต่อจากนี้ ท่านได้กลายเป็นดั่งพระคริสตเจ้าอีกองค์ กล่าวคือ ความปรารถนาของพระองค์กลายเป็นความปรารถนาของท่านเอง คือ ความปรารถนาให้ผู้คนได้กลับใจ ดั่งคำพยานที่คนหนึ่งได้เล่ว่า เป้าหมายสูงสุดในชีวตของท่าน คือ พระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าและความรอดของวิญญาณทั้งหลาย

ถุงมือที่ท่านใช้สวมปิดบังรอยแผลศักดิ์สิทธิ์
ในทีแรกด้วยความถ่อมตนท่านพยายามซ่อนสิ่งเหล่านี้ไว้จากคนรอบตัว ในวันธรรมดาท่านจึงเลือกที่จะซ่อนรอยแผลศักดิ์สิทธิ์ของท่านไว้ใต้ถุงมือ และพยายามดำเนินชีวิตเช่นปกติ แต่มีหรือที่คนรอบข้างท่านจะไม่สงสัยต่อความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับท่าน ไม่ว่าจะเป็นความคิดอ่านที่เปลี่ยนไป อาการแปลกๆ หรือแม้แต่การสวมถุงมือ แม้จะเป็นหน้าร้อน ดังนั้นด้วยความอยากรู้อยากเห็น พวกเขาบางคนจึงเริ่มพยายามจะล้วงความลับของท่าน แต่ไม่ว่าจะตะล่อมถามท่านเช่นไร ท่านก็จะพาพวกเขาเปลี่ยนไปพูดคุยเรื่องอื่นอย่างสุภาพ ไม่เว้นแม้แต่บรรดาเพื่อนๆของท่าน ท่านก็ไม่ยอมบอกพวกเขา นอกนี้ท่านยังได้วิงวอนต่อพระเป็นเจ้าให้รอยแผลดังกล่าวหายไป และพระองค์ก็ทรงอนุญาตให้ช่วงเวลาหนึ่งรอยแผลดังกล่าวได้หายไป

แต่ที่สุดข่าวว่าช่างเย็บผ้าแห่งลา ปีร์ราซ มีรอยแผลศักดิ์สิทธิ์ก็แพร่ไปทั่ว ส่งผลให้มีผู้มากหน้าหลายตาแวะเวียนมาเยี่ยมท่านเรื่อย มีทั้งพวกที่เชื่อ พวกขี้สงสัย และพวกไม่เชื่อเลย เพราะท่านไม่เพียงมีรอยแผลศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น แต่ท่านยังได้รับพระพรในการหยั่งรู้ พระพรในการทำนาย และพระพรในการให้คำแนะนำ ที่ชักนำให้คนมากมายเลือกจะเดินทางมาหาท่าน จนทำให้โคล้ด น้องชายของท่านต้องตั้งกฎสำหรับบรรดาแสวงหาเหล่านั้นขึ้นมา เพื่อให้พี่สาวของเขาได้พักผ่อนบ้าง ซึ่งทุกคนที่เคารพกฎและได้พบกับท่านแล้ว ทุกคนก็พบกับความสุขที่ยิ่งใหญ่ในหัวใจของเขา เมื่อพวกเขาเข้าไปถึงห้องเล็กๆ ที่สว่างไปด้วยความเรียบง่าย พวกเขาจะพบการต้อนรับด้วยใบหน้าที่สงบพร้อมสองลักยิ้ม พวกเขาจะได้เห็นดวงตาที่เป็นประกายและลึกลับไปในตัว และสัมผัสได้ถึงความอบอุ่นจากช่างเย็บผ้าผู้นี้ ผู้ที่อ้าแขนรับทุกคนที่มาหา เดชะพระจิตเจ้าได้ทรงเปลี่ยนช่างเย็บผ้าผู้ต่ำต้อยนี้ ให้เป็นเสมือนวัด บ้านแห่งความรัก’ ไปแล้ว
หนึ่งในผู้คนที่มาขอคำแนะนำจากท่าน ก็คือเด็กชายคนหนึ่งที่ท่านได้เคยสวดขอพระพรที่วัดแม่พระแห่งบัวส์ ให้ได้บวชเป็นพระสงฆ์ และพระเป็นเจ้าก็ทรงสดับฟังคำวิงวอนดังกล่าว เขาก็คือ แคนนอน โฌเซฟ ชอร์เดเรต ในเวลาดังกล่าวคุณพ่อได้ริเริ่มตั้งคณะนักบวชสตรีเล็กๆ ที่มีวัตถุประสงค์คือการทำสื่อสิ่งพิมพ์ออกมา เพื่อต่อสู้กับความชั่วร้ายในเวลานั้นด้วยความดี ในชื่อ คณะภคินีแห่งนักบุญเปาโล หรือ คณะกิจการนักบุญเปาโล และได้เริ่มผลิตหนังสือพิมพ์ลา ลิแบรท์ออกมา แต่ด้วยสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนั้น ที่พระศาสนจักรคาทอลิกภายในเมืองฟรีบูร์กำลังถูกเบียดเบียน คุณพ่อจึงไม่ได้รับการสนับสนุนเสียเท่าไร โดยเฉพาะจากพระสังฆราช

คุณพ่อจึงรู้สึกลังเลใจว่าสิ่งที่ทำเป็นน้ำพระทัยของพระเป็นเจ้าจริงไหม ดังนั้นเมื่อมีโอกาสได้เดินทางกลับมาบ้านเกิด คุณพ่อจึงได้แวะไปขอคำภาวนาและคำแนะนำจากท่าน ฝั่งท่านเมื่อทราบเรื่องทั้งหมดก็ได้ให้ความมั่นใจกับคุณพ่อไปว่า อย่าห่วงเลย จงก้าวไปข้างหน้าเถิด กิจการนี้เป็นสิ่งที่ดีมากสำหรับชาวเราและจะได้รับพรเฉพาะจากพระเจ้าเพราะคือน้ำพระทัยของพระองค์ คุณพ่อเมื่อได้ยินเช่นนั้นแล้ว ในเย็นวันเดียวกันเมื่อคุณพ่อกลับถึงฟรีบูร์ คุณพ่อก็ได้รวบรวมบรรดาหญิงสาวที่เคยทำงานด้วยกัน และได้ให้พวกเธอได้ปฏิญานตนครั้งแรกที่วัดนักบุญนิโคลัส ประจำเมือง นี่จึงนับเป็นการเริ่มต้นคณะภคินีแห่งนักบุญเปาโลอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ.1873
คณะภคินีแห่งนักบุญเปาโล หรือคณะกิจการนักบุญเปาโล
ผลของการตั้งคณะนักบวชใหม่ ทำให้ท่านได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ร่วมงานของคณะใหม่นี้อีกคน ภายใต้สถานภาพ ธิดาของนักบุญเปาโล และมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลืองานคณะเท่าที่สามารถทำได้ และคอยเป็นกำลังหลักในการสวดภาวนา แต่เวลาเดียวกันการตั้งคณะใหม่ดังกล่าว ก็ทำให้ท่านถูกพระสังฆราชท้องถิ่นเรียกตัวไปพบ เพื่อตำหนิและขอให้ท่านนึกถึงเรื่องของตนเองก่อนที่จะไปก้าวก่ายเรื่องของคนอื่น แต่ที่สุดเมื่อพระคุณเจ้าองค์ดังกล่าวได้เห็นถึงความเชื่อความศรัทธาของท่าน พระคุณเจ้าจึงเปลี่ยนใจและภายหลังยังได้ให้อุปสังฆราชมาเป็นคุณพ่อวิญญาณณารักษ์ของท่านอีกด้วย

ดังที่กล่าวไปแล้วว่าในช่วงเวลาที่ได้ให้คำแนะนำคุณพ่อโฌเซฟตั้งคณะนักบวชขึ้น เป็นช่วงเวลาที่พระศาสนจักรภายในฟรีบูร์กำลังถูกเบียดเบียน เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างจักรวรรดิ์ปรัสเซียหรือเยอรมันนี ที่แผ่อิทธิพลมาถึงพื้นที่ กับพระศาสจักรคาทอลิก ในประเด็นเรื่องอิทธิพลของพระศาสนจักรเหนืออำนาจรัฐ จึงทำให้เกิดความพยายามปลดแอกอำนาจ จนนำไปสู่เหตุการณ์ที่เรียกว่า คุลทูร์คัมพฟ์ (Kulturkampf) หรือการต่อสู้ทางวัฒนธรรมในระหว่างปี ค..1871 – ..1878 ผลของเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้พระศาสจักรท้องถิ่นถูกเบียดเบียนอนอย่างหนัก บางแห่งก็ถึงขั้นมีการสั่งปิดอาราม จนพระสงฆ์จำนวนมากต้องหลบหนีไปที่ต่างๆ เหตุการณ์ที่ครุกรุ่นนี้เป็นที่กังวลใจของหลายฝ่าย ซึ่งก็รวมถึงท่านและคุณพ่อโฌเซฟ ซึ่งได้เลือกตั้งคณะนักบวชหญิงเพื่อทำงานขึ้น ในขณะที่ท่านเองก็พยายามติดตามพระสมณสาส์นของสมเด็จพระสันตะปาปาอย่างระมัดระวังโดยตลอด และหมั่นสวดภาวนามาขึ้น เพื่อวอนขอให้เหตุการณ์เบียดเบียนนี้จบลงโดยเร็ว
การปรากฏรอยแผลศักดิ์สิทธิ์ นอกจากนำพระพรต่างๆ มาสู่ตัวท่านแล้ว แง่หนึ่งนับตั้งแต่การปรากฏขึ้นรอยแผลดังกล่าว ท่านก็เริ่มมีสุขภาพไม่แข็งแรงเหมือนแต่เก่า ท่านจึงไม่สามารถปฏิบัติกิจวัติประจำวันบางประการได้เหมือนเดิม ไม่ว่าจะเป็นการไปเยี่ยมเยียนคนยากไร้ คนป่วย หรือการเดินทางไปรับจ้างเย็บผ้าตามบ้านต่างๆ ดังนั้นท่านจึงใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่บ้านคอยรับงานเย็บผ้าและงานปั่นด้าย แต่กระนั้นแม้ท่านจะมีอาการสามวันดีสี่วันไข้ ท่านก็ไม่ได้ย่อหย่อนในการปฏิบัติศาสนกิจอื่นๆ นอกนี้บางคราวเมื่อท่านล้มป่วยหนัก ท่านก็ยังคงต้อนรับแขกผู้มาเยียน ซึ่งมาเพื่อขอคำแนะนำที่นำไปสู่การกลับใจ การเริ่มต้นใหม่ และการได้รับอิสระ

พระพรที่ได้รับมามิได้ทำให้ท่านยกตนให้สูงกว่าคนอื่น ท่านพยายามดำเนินชีวิตเป็นปกติเหมือนเดิม เท่าที่สามารถทำได้ ท่านยังคงตื่นนอนในเวลาราวตีสองถึงตีสองครึ่ง เพื่อมาสวดภาวนาก่อนจะนั่งปั่นด้ายหรือทำงานอื่นๆ ไปจนถึงเวลามิสซา ท่านจึงเดินทางไปร่วมมิสซาที่วัดตามปกติ จะผิดแปลกไปก็คงแต่ในวันศุกร์เท่านั้นเพราะท่านยังอยู่ในสภาวะฌานอยู่ นอกนั้นก็เหมือนเดิมท่านยังคงช่วยงานวัด และอุทิศตนต่อศีลมหาสนิท
หนังสือธรรมนูญคณะฟรังซิสกัันขั้นสามของท่าน
ท่านยังคงแวะเวียนไปที่อารามลา ฟิลเลดือ (อารามเดียวกันกับที่มีคนเคยแนะนำให้ท่านเข้าสมัยยังเป็นสาวๆ) ที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากบ้านของท่าน เพื่อเยี่ยมเยียนซิสเตอร์ที่ท่านรู้จักสองท่านก็คือ ซิสเตอร์ฟีเด็ล ที่ไปจากหมู่บ้านของท่าน แล้วก็มาแมร์ลุตการ์ด ลูกทูนหัวของท่านที่ได้เข้าอารามและได้เป็นคุณแม่อธิการในเวลาต่อมา และใช้เวลาในการเข้าเงียบประจำปีที่อารามแห่งนั้นตามที่ได้รับอนุญาต ซึ่งบางครั้งท่านก็จะถูกขอให้ช่วยไขข้อข้องใจกับซิสเตอร์บางท่านว่า หญิงสาวผู้นี้มีกระแสเรียกการเป็นนักบวชหรือไม่ เช่นครั้งหนึ่งซิสเตอร์ในอารามเห็นว่ามาเรียต ลูกสาวของฌาน พี่ชายของท่าน เป็นคนใจศรัทธาน่าจะมาเข้าอาราม จึงได้ถามท่านว่าหลานท่านจะมาเข้าอารามแห่งนี้ไหม ท่านก็ตอบไปว่า มาเรียตจะไม่มาที่นี่ เพราะเธอกำลังจะแต่งงาน แต่วันหนึ่งลูกสาวของเธอจะมาเข้าอารามแห่งนี้ และก็เป็นดังนั้นจริง เพราะภายหลังเหลนของท่านชื่อ แบร์นาแด็ต ที่เกิดจากมาเรียตตหลังท่านสิ้นใจได้สามปี ก็ได้เข้าอารามแห่งนี้

และยังชอบแวะไปอารามของคณะฤษีกาปูชิน ที่อยู่ใกล้ๆ กันกับอารามฟิลเลดือ ซึ่งท่านได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกขั้นสามของคณะฟรังซิสกัน ณ ที่นั่นตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ ค..1861 เพื่อยืมหนังสือฝ่ายจิตมาจากห้องสมุดของอารามมาอ่าน จากอารามแห่งนี้ท่านเรียนรู้ทจะเจริญชีวิตเลียนแบบนักบุญฟรานซิส ผู้ก่อตั้งคณะอย่างดี ท่านได้ปฏิบัติตนเป็นเหมือนน้องสาวฝ่ายจิตของนักบุญฟรานซิสในหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นการมีชีวิตภาวนา ธรรมทูต การไม่ตำหนินักบวช การถ่อมตน แต่โดยเฉพาะเรื่องความรักที่ไม่มีสิ้นสุดต่อพระคริสตเจ้าตามพระวรสาร ซึ่งผ่านนักบุญฟรานซิส ท่านก็ได้พบความปรารถนาที่จะติดตามพระคริสตเจ้า
แต่สำคัญไปกว่านั้นแม้จะมีรอยแผลศักดิ์สิทธิ์เกิดขึ้น ท่านยังตระหนักดีถึงสภาพบาปของมนุษย์ที่ท่านมีเสมอ ดังที่ในระหว่างท่านเข้าฌาน ท่านอุทานด้วยความยำเกรงและสั่นเทาในภาษาละตินว่า ซักตุส ซักตุส โดมินุส(ศักดิ์สิทธิ์ ศักดิ์สิทธิ์ พระเจ้าทรงฤทธา) ก่อนจะอุทานต่อว่า มีเซเร เมอี เดอุส…”(โปรดทรงพระเมตตาเถิด พระเจ้าข้า) และมีบางครั้งท่านจะมองไปรอบๆห้องที่มีผู้มาเฝ้าดูเหตุการณ์ ก่อนจะพูดว่า โอ้ โปรดให้อภัยลูก ผู้เป็นคนบาปผู้น่าสงสารด้วยเถิด” และเมื่อถูกตรึง ณ กางเขน  ในช่วงท้ายๆท่านก็พูดขึ้นว่า องค์ความรักไม่ได้รับความรัก ทรงขอลูก ลูกทำไม่ได้มันยากเกินไปสำหรับลูก…” ซึ่งคำพูดในระหว่างการเข้าฌานนี้เองที่ยืนยันถึงเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดีว่าท่านความถ่อมตนของท่านเป็นของแท้อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะแม้จะได้รับสิทธิ์พิเศษจากพระองค์ให้ร่วมรับทรมาน ท่านก็ตระหนักดีว่าท่านไม่คู่ควรกับมันเลย

กล่าวมาถึงเรื่องนี้ หลายท่านก็อาจสงสัยว่ารอยแผลศักดิ์สิทธิ์ของท่านมีลักษณะเช่นไร ซึ่งจากรวบรวมประวัติของท่านทำให้เชื่อว่า รอยแผลของท่านในวันปกติกับวันที่ร่วมพระมหาทรมานจะไม่เหมือนกัน โดยมีคนได้เห็นรอยแผลของท่านน้อยมาก โดยคนที่ให้ข้อมูลนี้ดีที่สุดก็คือมาแมร์ลุตการ์ด ลูกทูนหัวที่สนิทกับท่าน มาแมร์เล่าถึงเรื่องนี้ว่า ดิฉันได้เห็นรอยแผลศักดิ์สิทธิ์ที่มือของท่านหลายครั้ง พวกมันเป็นผื่นแดงรูปกางเขนทั้งที่ฝ่ามือและหลังมือของท่าน ซึ่งท่านซ่อนรอยแผลของท่านนี้อย่างระมัดระวัง ส่วนในทุกๆวันศุกร์ มันจะมีสีแดงเข้มขึ้น ซึ่งดิฉันเห็นตั้งแต่เล็กๆจนโตเป็นเด็กหญิงโดยไม่รู้เลยว่านั้นคือรอยแผลศักดิ์สิทธิ์ของท่าน ส่วนมองซินญอร์ เลอ โดยอง ปิลลูด เล่าว่าเขาสามรถแหย่ปลายไม้เท้าของเขาลงไปในบาดแผลได้เลย ฝั่งคนอื่นๆที่ได้เห็น ยืนยันว่ามันเป็นแบบเดียวกับของนักบุญฟรานซิส  คือเป็นรอยตะปู
เตียงนอนของท่าน
ต่อไปนี้จะเป็นตัวอย่างคำให้การณ์จากพยานบุคคลที่ร่วมสมัยของท่าน

“…ข้าพเจ้าได้ยินคนเล่าลือกันมาบ้าง ว่ามีคนได้รับรอยแผลศักดิ์สิทธิ์อยู่ที่ตำบลซีวีรีส ข้าพเจ้าจึงได้สอบถามเรื่องนี้กับคุณพ่อสองสามองค์ พวกท่านก็ได้เล่าว่ามีหญิงชาวบ้านธรรมดาๆ คนหนึ่งจากลา ปีร์ราซ ได้รับพระพรพิเศษในทุกๆวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ ตลอดสิบห้าถึงยี่สิบปี  ข้าพเจ้าจึงได้ขออนุญาตเข้าพบเธอ แต่มาร์เกอริตไม่ประสงค์เป็นที่รู้จักเท่าที่จะเป็นไปได้ และครอบครัวของนางเองก็ไม่ประสงค์จะต้อนรับผู้มาเยี่ยมชมเสียเท่าไร กระนั้นความอยากรู้อยากเห็นของข้าพเจ้าก็ยิ่งทวีขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับท่านโทมัส ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะได้เห็นเพื่อจะได้เชื่อ วันหนึ่งข้าพเจ้าได้มีโอกาสถูกพาเข้าไปในห้องของมาร์เกอริต ข้าพเจ้าเห็นหญิงวัยห้าสิบนอนอยู่บนเตียงพร้อมด้วยหน้าผากที่ขมวดเป็นรอยย่น นางดูทรมานเพระความเจ็บปวดจำนวนมาก ข้าพเจ้าเห็นเพียงมือขวาของนาง ที่หลังมือระหว่างกระดูกที่เชื่อมระหว่างนิ้วกลางและนิ้วนาง ข้าพเจ้าได้เห็นรอยแผลทรงกลมลึกเข้าไป แต่บริเวณฝ่ามือไม่มีรอยแผลใดๆ  จูลส์ กร็องจี อดีตนายอำเภอเขียนเล่า

ในทุกวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์เวลา 15.00 . นางได้ถูกยกออกไปจากชีวิตปกติ เพื่อเข้าสู่สภาวะฌานซึ่งกินเวลาถึงหนึ่งชั่วโมง ข้าพเจ้ายังคงจดจำได้แม่นเมื่อได้รับอนุญาตให้เข้าไปสังเกตุข้ารับใช้พระเจ้าในช่วงที่นางเข้าสู่สภาวะฌาน… มาร์เกอริตค่อยๆ เข้าสู่สภาวะเหมือนคนสิ้นใจ ความมีชีวิตดูคล้ายจะค่อยๆ จางหายไปจากนาง นางดูเหมือนศพจริงๆ ข้าพเจ้าอยู่ที่นั่นตั้งแต่เวลาบ่ายสามโมง สัญญาณของการมีชีวิตค่อยๆปรากฏขึ้นอีกครั้งหลังเวลาล่วงเข้าสี่โมงเย็นได้ไม่นาน เธอเริ่มหายใจอย่างช้าๆ ก่อนจะเร็วขึ้นเรื่อยๆ แล้วกลับสู่สภาวะปกติ สีแดงระเรื่อขึ้นบนแก้มของนาง นางดูเหมือนจะตื่นขึ้นจากเสียงรอบข้าง ภายหลังการหลับสนิท ความยินดีที่ยิ่งใหญ่และศักดิ์สิทธิ์ปรากฏฉายขึ้นบนใบหน้าของนาง นางถอนหายใจแล้วจึงเริ่มกล่าวถ้อยคำที่เต็มไปด้วยความเชื่อ ความรัก และความรู้ซึ่งในพระคุณต่อพระเจ้า พระเยซูคริสตเจ้าองค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา  คุณพ่อฟร๊องซัวส์ เมอเนอเตรย์ พระสงฆ์ประจำตำบลของท่าน

การตรวจสอบทางการแพทย์สำหรับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับท่าน เกิดขึ้นในวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ที่  11 เมษายน ค..1873 โดยเป็นการริเริ่มของพระสงฆ์ประจำตำบลซีวีรีส ที่ได้เชิญนายแพทย์อเล็ซ เปไกตาซ วัย 30 ปี จากตำบลบูลล์ ซึ่งเป็นที่ยอมรับในวงการแพทย์ให้มาเป็นผู้ตรวจสอบ โดยได้มีคำสั่งเป็นรายลักษณ์อักษรจากทางสังฆมณฑลในท้องถิ่นให้ดำเนินการตรวจสอบนี้ ทำให้ในวันดังกล่าวคุณหมออเล็ซพร้อมด้วยพระสงฆ์อีกสองสามรูปจึงได้เดินทางมายังทีบ้านของท่าน ก่อนเวลาบ่ายสามโมงเพื่อเฝ้าสังเกตอาการ ต่อไปนี้จะเป็นคำให้การของจูลส์ กร็องจีผู้ร่วมสังเกตการณ์ในวันดังกล่าว
ในช่วงต้นของการตรวจ คุณหมอได้รับอนุญาตให้เข้าไปพร้อมกับหลานสาวของมาร์เกอริต ข้าพเจ้าไมทราบว่าเกิดอะไรขึ้นระหว่างคุณหมอและคนไข้ของเขา สิ่งเดียวที่ข้าพเจ้าพอจะเล่าได้คือ พวกเราต่างได้ยินเสียงมาร์เกอริตผู้น่าสงสารถอนหายใจและกรีดร้องออกมาจากห้องข้างๆ หลายครั้งพวกเราต้องคอยสงบสติอารมณ์ท่านนายกเทศมนตรี หรือน้องชายของนาง เพราะท่านต้องการจะไล่คุณหมอที่กำลังทำพี่สาวของท่านทรมานออกไปเสีย กระทั้งเมื่อเสียงกรีดร้องเงียบลง พระสงฆ์จึงได้รับอนุญาตให้เข้าไปในห้องของมาร์เกอริต ข้าพเจ้าก็ได้รับอนุญาตเช่นกัน

คุณหมอเปไกตาซแสดงเท้าของมาร์เกอริตและให้พวกเราดูรอยแผลศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับที่อยู่บนมือของนางไม่มีผิด หลังจากนั้นข้าพเจ้าจึงถอยออกมาอยู่ที่ห้องข้างๆ เสียงครางค่อยๆ เงียบลงและหยุดไป สภาวะฌานได้เริ่มขึ้น ในเวลาประมาณ 15.20 ผู้มาสังเกตการณ์ทั้งหมดได้เข้ามาดูหญิงใจศรัทธา นางนอนนิ่ง หลับตาลงและมีรอยยิ้มอยู่ที่ริมฝีปาก นางดูเหมือนตัดขาดจากสิ่งรอบตัวโดยสมบูรณ์ คุณหมอพยายามทดสอบอาการไม่รู้สึกตัวของนาง เขาเริ่มจี้ไปที่ฝ่าเท้าของนาง แล้วจึงเปลี่ยนมาใช้ของมีคมแทงไปที่ระหว่างนิ้วเท้าของนางจนนางเลือดออก แต่ก็ไม่เป็นผล แขนขาของนางยังคงไม่มีการเคลื่อนไหวและใบหน้าของนางก็ไม่ได้แสดงอาการอะไร

คุณหมอจึงตัดสินใจเปลี่ยนมาทดลองตรงบริเวณศีรษะของมาร์เกอริตบ้าง เขาได้ลองเอาเครื่องมือบางอย่างสอดเข้าไปในจมูก ในตา และใต้เปลือกตาของนาง แต่ก็เปล่าประโยชน์ คุณหมอจึงได้ลองถ่างตาทั้งสองข้างของนางค้างไว้ แต่ตาของนางก็ไม่ได้เคลื่อนไหวไปตามแสงที่เขาส่องเข้าไป แต่ตรงกันข้ามพวกมันกลับดูเหมือนจับจ้องไปที่วัตถุบางประการ ซึ่งบางครั้งอยู่ทางขวาบ้าง และบางครั้งก็เป็นทางซ้ายบ้าง เขายังพยายามจุดเทียนและเอาไปลนที่ใต้จมูกของนาง แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ดังนั้นเขาจึงลองใช้คีมคีบเอาผิวหนังบริเวณรอยแผลศักดิ์สิทธิ์ที่เท้าของมาร์เกอริต แล้วชูให้พวกเราดู พร้อมกล่าวว่ามันคล้ายผิวหนังที่ถูกไฟไหม้ ผู้ได้รับรอยแผลศักดิ์สิทธิ์ดูคล้ายกับคนเสียชีวิตแล้ว หลังจากนั้นคุณหมอจึงได้เอามือของนางไปประสานกัน เขาลองยกแขนข้างหนึ่งของเธอขึ้น มันกลับมาอ่อนนุ่มอีกครั้ง เขาจัดท่าให้นางนั่งอยู่บนเตียง แล้วนางจึงค่อยๆ ฟื้นตัวกลับมาเป็นเหมือนเดิม

หลังจากสภาวะฌานดำเนินไปได้ครึ่งชั่วโมง การทดลองทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ จึงยุติลง ปล่อยให้มาร์เกอริตได้พักผ่อนในสันติ กระทั้งนางตื่นขึ้นมาพร้อมรอยยิ้มและหันไปมองผู้คนรอบตัวนาง ท่านอุปสังฆราชเข้าไปหานางและถามนางว่าเป็นอย่างไรบ้าง นางตอบว่า ลูกสบายดี ลูกสบายดี ลูกรู้สึกดีมาก โอ้ลูกรู้สึกดีมากๆ ใบหน้าของนามเปล่งประกายไปด้วยความยินดี

ทุกคนต่างเห็นพ้องต้องกันว่าการตรวจสอบของคุณหมออเล็ซ เปไกตาซนั้นเชื่อถือได้ และเขาได้ยอมรับว่ามีเรื่องบางเรื่องที่เขาไม่สามารถวิเคราะห์ได้ เขากล่าวว่า นี่มันอะไรกันเนี่ย ช่างเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์เสียจริง ผมได้พบกับปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติและน่าอัศจรรย์ของบุคคลที่ได้รับรอยแผลศักดิ์สิทธิ์ผู้นี้ และมันอยู่เหนือหลักการทางวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ไม่อาจช่วยให้เข้าใจหรืออธิบายปรากฏการณ์นี้ได้’” 
ภายหลังแหตุการณ์นี้มีบันทึกว่าเมื่อคุณหมอเปไกตาซกำลังจะสิ้นใจ เขาก็ได้ขอรับศีลเสบียงและได้ศีลใจในศีลและพระพร

ในช่วงปีสุดท้ายของชีวิต ท่านล้มป่วยหนักจนไม่ได้ออกจากห้องเลย ท่านมีอาการปวดเฉียบพลันบริเวณศีรษะ คอ และหน้าอก แต่ก็ไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับท่านบ้าง เพราะท่านไม่เคยบ่นหรือพูดอะไรซักคำ ท่านไม่ต้องการความบรรเทาใจและการปลอบประโลมใดๆ มากกว่าเดิม ท่านยังคงเจริญชีวิตอยู่ในความเรียบง่าย ท่านมีเพียงศีลมหาสนิทและชาสมุนไพรเย็นเป็นอาหารหลัก และกลายเป็นคนผอมมากๆ จนถึงขั้นน้องชายของท่านบอกกับท่านเลยว่าท่าน ตอนอุ้มท่านเหมือนอุ้มถุงใส่กระดูก
ฝั่งคนในครอบครัวเมื่อเห็นท่านเริ่มมีอาการแย่ลง พวกเขาก็คอยดูแลท่านเป็นอย่างดี คอยประคบน้ำส้มสายชู ประคบน้ำแข็ง รวมถึงจัดยาให้ท่านรับประทาน แต่ก็เพราะยาดังกล่าวไม่ตรงตามอาการ ท่านจึงไม่สามารถรับยาดังกล่าวได้ แล้วจำต้องเลิกไป ในช่วงเวลานี้ท่านเริ่มไม่ปรารถนาให้ใครมาเยี่ยม เพราะไม่อยากให้ใครเห็นความทุกข์ยากที่ท่านได้รับ จนล่วงถึงช่วงมหาพรต ค..1879 อาการของท่านก็แย่ลงเรื่อยๆ ท่านรับได้แต่เพียงชาสมุนไพรกับซุปขนมปังอ่อนผสมนมเล็กน้อยในทุกๆ สองวัน จนเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ที่ท่านยังคงดำรงชีวิตอยู่ได้ โดยที่ยังไม่เป็นอะไร ยิ่งในช่วงท้ายของชีวิต ท่านก็รับเพียงศีลมหาสนิทเพียงอย่างเดียว และพระเป็นเจ้าก็ทรงส่งทูตสวรรค์ให้เป็นผู้นำศีลมหาสนิทมาส่งให้ท่านในบางครั้ง

มาแมร์ลุตการ์ด หลานสาวของท่านเผยในภายหลังว่า วันหนึ่งพ่อของมาแมร์ได้เล่าให้ฟังว่า พ่อกำลังจะบอกเรื่องที่พ่อไม่เคยเล่าให้ใครฟังมาก่อน เรื่องนี้มีเพียงพ่อและคุณพ่อฌาน ไมล์ลาร์ดกับพี่สาวของพ่อเท่านั้นทีที่รู้เพราะเธอได้เล่าให้เขาฟัง ในช่วงที่คุณป้ามาร์เกอริตป่วยหนักครั้งสุดท้าย คุณป้าปรารถนาจะรับศีลมหาสนิทตลอดทั้งคืน  พวกพ่อก็พยายามที่จะจัดให้ตามคำขอ แต่ก็ไม่อาจจะทำได้สำเร็จ ดังนั้นองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้พระทัยดีจึงทรงส่งสารผู้รับใช้ของพระองค์ และทรงส่งทูตสวรรค์ ให้อัญเชิญศีลมหาสนิทมาให้คุณป้า ตัวพ่อเห็นเองยังไม่อยากจะเชื่อในสิ่งที่เห็นเลย
พิธีสถาปนาท่านเป็นบุญราศี
โอ้ ข้าแต่ยัญบูชาอันศักดิ์สิทธิ์
โปรดวาดลูกขึ้นมาใหม่ที่ด้านหลังพระองค์
โปรดให้เราได้เดินไปด้วยกัน
ลูกรับทรมานพร้อมพระองค์ นั้นถูกแล้ว
โปรดเถิด อย่าฟังคำค้านของลูก
โปรดให้ลูกสำเร็จสิ่งอันเป็นฝ่ายเนื้อหนังที่ขาดไปในความทรมานของพระองค์
ลูกกอดกางเขน
ลูกปรารถนาจะตายไปพร้อมพระองค์
ในบาดแผลที่ดวงหทัยพระองค์ลูกปรารถนาจะหายใจเป็นครั้งสุดท้าย 
คำปฏิญาณของท่านได้รับการสดับ ในวันศุกร์สมโภชพระหฤทัยอันศักดิ์สิทธิ์ยิ่งของพระเยซูเจ้าที่ 27 มิถุนายน ค..1879 ขณะอายุ 64 ปี พร้อมเจ้าบ่าวที่รัก ท่านก็ได้สิ้นใจสงบในเวลาบ่ายสามโมงของวันนั้น ภายหลังจากร่วมรับทรมานพร้อมกับพระองค์เป็นครั้งสุดท้ายบนโลกนี้ นักบุญของพวกเราตายแล้ว ชาวบ้านที่ทราบข่าวต่างพากันประกาศด้วยเสียงที่สั่นระริกพร้อมน้ำตา

พิธีปลงศพของท่านถูกจัดขึ้นอย่างเรียบง่าย ท่ามกลางฝูงชนที่แห่แหนกันมาจนแน่นวัดประจำเขต พิธีดำเนินไปท่ามกลางความเศร้า จนถึงเวลาจะฝังศพของท่าน ทุกคนก็ต่างต้องการใช้สายประคำสัมผัสโลงไม้ของท่าน เพราะทุกคนมั่นใจว่าท่านคือนักบุญแห่งปีร์ราซจริงๆ อย่างไม่ต้องสงสัย อย่าลืมวันนี้เราได้ฝังศพนักบุญ แต่อีกห้าสิบปี เราจะขุดท่านขึ้นมาใหม่ คนขุดหลุมเอ่ยเชิงทำนาย และก็เป็นจริง เพราะในปี ค..1929 หรือห้าสิบปีถัดมา ก็ได้มีการอนุญาตให้ขุดร่างของท่านขึ้นมาและเริ่มกระบวนการขอแต่งตั้งท่านเป็นบุญราศี และภายหลังจากเกิดอัศจรรย์ผ่านคำเสนอวิงวอนของท่าน ในวันที่ 29 ตุลาคม ค..1995 สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ก็ได้ทรงบันทึกนามท่านไว้ในสารบบบุญราศีอย่างสง่า
พิธีสถาปนาท่านเป็นนักบุญอย่างสง่า
ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม ค..2019 ภายหลังการตรวจสอบอัศจรรย์ที่สองผ่านคำเสนอวิงวอนของบุญราศีมาร์เกอริต เบย์ ท่านจึงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นนักบุญพร้อมบุญราศีอีกสี่ท่าน โดยสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิิส ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มีผู้ได้รับรอยแผลศักดิ์สิทธิ์เช่นเดียวกัน นั่นก็คือ บุญราศีมารีอัม เทรเซียจากประเทศอินเดีย โดยจะเป็นความบังเอิญหรือไม่ที่บุญราศีทั้งสองได้รับสถาปนาเป็นนักบุญพร้อมกัน หรือเป็นน้ำพระทัยของพระเป็นเจ้าก็ไม่อาจจะหยั่งถึงได้ 

เราแต่ละคนได้รับพระหรรษทานตามสัดส่วนที่พระคริสตเจ้าประทานให้(เอเฟซัส 4:7) ทุกคนเกิดมาไม่มีใครหรอกที่จะเหมือนกันเป๊ะๆ แม้แต่ฝาแฝดเองก็เหอะ เช่นเดียวกันเราทุกคนล้วนมีพระหรรษทานไม่เท่ากัน เพื่อให้เหมาะกับพันธกิจที่เราแต่ละคนได้รับมา และเหมาะกับความสามารถของเรา เช่นอุปมาเรื่องเงินตะลันต์ บางคนได้รับเยอะ บ้างได้รับน้อย แต่ทุกอันล้วนมีจุดหมายเดียวกันคือต้องนำพระหรรษทานนี้ไปกระทำให้เกิดผลให้ได้ บุญราศีมาร์เกอริตเป็นแบบอย่างอีกอันของฆราวาสที่น่าจะเหมาะยกให้เป็นตัวอย่างสำหรับ สัตบุรุษในวิถีชุมชนวัดผู้นำพระหรรษทานไปใช้ได้อย่างเกิดผล ด้วยท่านได้ใช้พระหรรษทานที่ท่านได้ในการอุทิศตัวเพื่อชุมชนวัดได้อย่างดีเลิศทั้งในด้านงานเมตตา และงานคำสอน 
ทั้งนี้ชีวิตท่านยังได้บอกเราอีกว่า งานประกาศพระวรสารไม่ได้จำกัดแต่เพียงนักบวช แต่ยังเป็นหน้าที่ของฆราวาสที่จะร่วมกันด้วย ไม่ใช่ด้วยแรงก็ด้วยคำภาวนา เวลานี้ชีวิตของท่านเหมือนถามเราว่า ขนาดท่านผู้เป็นเพียงชาวบ้านไร่จนไม่มีการศึกษาอะไรมากยังนำพระหรรษทานมาใช้ให้เกิดผลได้ขนาดนี้ แล้วเราละได้ใช้พระหรรษทานที่เจ้านายได้มอบแก่เราแล้วหรือยัง โปรดระลึกไว้ไม่มีใครล่วงรู้หรอกหนาว่าเจ้านายจะกลับมาเมื่อไร นี่แหละคือคำถามจากชีวิตของท่าน.. อัลเลลูยา อัลเลลูยา

อีกหนึ่งคริสตังชาวสวิสฯที่ได้ร่วมสู้ในสงครามความเชื่อ มาร์เกอริต เบย์เป็นฆราวาสธรรมดาที่มีชีวิตอย่างถ่อมตน ดั่งที่นักบุญเปาโลกล่าว ชีวิตของท่านก็ซ่อนอยู่กับพระคริสตเจ้าในพระเจ้า ท่านเป็นเพียงสตรีผู้เรียบง่ายที่ได้ดำเนินชีวิตธรรมดาๆในแบบที่เราสามารถเลียนแบบได้ ท่านไม่ได้ทำอะไรที่พิเศษ แต่อย่างไรก็ตาม มันคือการเจริญชีวิตในความเงียบไปตลอดเส้นทางแห่งความศักดิ์สิทธิ์ โดยมีศีลมหาสนิทเป็นอาหาร กำลังและการรำพึงถึงเรื่องราวของพระมหาทรมานของพระคริสตเจ้าที่ได้เปลี่ยนท่านให้ท่านให้สนิทเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า … ในฐานะครูคำสอนท่านปลูกฝังเรื่องของข่าวดีแก่บรรดาเด็กๆ พร้อมยังได้อุทิศตนเพื่อคนป่วยและคนจนโดยไม่ต้องไปไกลที่ไหน ใจของท่านเปิดออกไปยังพระศาสนจักรและคนทั่วโลก ท่านก้าวไปข้างหน้าอย่างนบน้อมต่อพระองค์ ผู้ทรงกระทำทุกสิ่งในชีวิตของท่านที่ได้รับแรงบันดาลใจจากความรักและเชิญชวนให้เราเปลี่ยนชีวิตของเราไปสู่ชีวิตแห่งความรัก
พระดำรัสของนักบุญสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 โอกาสแต่งตั้งบุญราศีมาร์เกอริ

ข้าแต่ท่านนักบุญมาร์เกอริต เบย์ ช่วยวิงวอนเทอญ

ข้อมูลอ้างอิง



'เบร์นาร์โด ฟรานซิสโก' ให้ชีวิตนี้เป็นสะพานนำรักพระองค์ไป ตอนจบ

บุญราศีเบร์นาร์โด ฟรานซิสโก เด โอโยส เด เซญา Bl. Bernardo Francisco de Hoyos de Seña วันฉลอง: 29 พฤษจิกายน [ย้อนกลับไปอ่าน  “‘เบร์นาร์โด ฟรา...