วันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2565

'ลูชีอา' หมดใจนี้มอบพระองค์ ตอนจบ


บุญราศีลูชีอา แห่ง นาร์นี
Bl. Lucia de Narni
ฉลองในวันที่: 16 พฤศจิกายน

กล่าวถึงท่านเคาท์เปียโตร ตั้งแต่วันที่ทราบว่าท่านย้ายจากกรุงโรมมายังวิเตร์โบ เขาก็ได้เดินทางมาเพื่อขอเข้าพบท่านมาโดยตลอด เช่นที่ทำเมื่อคราวท่านพำนักที่กรุงโรม แต่ไม่ว่าอย่างไรท่านก็ไม่ยอมให้เขาเข้าพบ ท่านเคาท์เปียโตร จึงเฝ้ารอท่านอยู่ที่หน้าประตูอารามโดยไม่ยอมกลับไปนาร์นี เขาเฝ้ารอวันที่จะได้พบท่านตลอด โดยเที่ยวนเวียนอยู่รอบ ๆ อารามเมืองวิเตร์โบเหมือนขอทานที่น่าสังเวช คอยมองไปยังกำแพงที่สูงตระหง่าซึ่งกั้นระหว่างเขาและภรรยาที่รัก ด้วยหวังในใจลึก ๆ ว่าการรอคอยนี้จะทำให้ภรรยาของเขากลับมา จนเวลาล่วงมาได้สองปีพิษที่ร้ายแรงที่สุดอย่างความรัก ผนวกกับความเสียใจต่อการกระทำในอดีตที่ให้เขาต้องสูญเสียสมบัติอันล้ำค่าที่สุดของเขาไป ก็ทำให้ชายหนุ่มที่เคยมีสง่าราศี กลายเป็นเพียงชายชราที่น่าสงสาร สวนทางกลับภรรยาของเขาที่นับวันจะงดงามขึ้นด้วยรัศมีแห่งสวรรค์

กระทั่งภายหลังการตรวจสอบครั้งที่สองโดยคุณพ่อโยวันนี กาญญัสโซเสร็จสิ้นลง ท่านจึงยอมให้ท่านเคาท์เปียโตรพบท่านได้ ชายหนุ่มที่มีสภาพไม่ต่างจากชายชราจึงได้เข้าพบกับอดีตภรรยาของเขาในห้องเยี่ยมของอาราม เขามีคำพูดมากมายที่เก็บอยู่ภายในใจมากกว่าสองปีที่เตรียมจะพูดกับท่าน เพื่อหวังจะให้ท่านเปลี่ยนใจและกลับไปอยู่กินฉันสามีภรรยากับเขาดังเดิมที่เมืองนาร์นี แต่ทันทีที่ท่านปรากฏขึ้นหลังลูกกรงซึ่งกั้นระหว่างเขตพรตและเขตของคนนอก คำพูดทุกอย่างที่เขาเตรียมมาก็พลันหายไปสิ้น เมื่อเขาได้แลเห็นรอยแผลศักดิ์สิทธิ์บนมือของภรรยา ผู้บัดนี้มีสง่าราศีเป็นรองมาจากทูตสวรรค์ เขาทำได้เพียงแต่ทรุดตัวลงคุกเข่าลงเบื้องหน้า ก้มหน้ามองพื้นและนิ่งเงียบ ปล่อยให้ภรรยาของเขากล่าวกับเขา ถึงความตั้งใจเดิมที่จะถือพรหมจรรย์ในคณะโดมินิกัน รวมถึงสัจธรรมหลายสิ่ง จนเวลาล่วงเลยมาชั่วโมงหนึ่งได้ภรรยาผู้แสนดี จึงได้กล่าวมอบถวายดวงวิญญาณของอดีตสามีผู้นี้ไว้ในพระหัตถ์อันทรงฤทธิ์ของพระเจ้า

บุญราศีโกลอมบา แห่ง รีเอตี

ในชั่วโมงนั้นเองพระเป็นเจ้าก็ทรงกระทำการอัศจรรย์เปลี่ยนหัวใจที่ทุกข์ทนเพราะพิษรักให้เห็นถึงสัจธรรมของชีวิต ท่านเคาท์เปียโตรเมื่อได้ฟังท่านกล่าวสิ่งต่าง ๆ จบลง ได้ค่อย ๆ ชันตัวลุกขึ้นยืนเผชิญหน้ากับภรรยาของเขาด้วยน้ำตาที่นองหน้าอย่างไม่อายใคร เขาขอให้ท่านอภัยให้กับการล่วงเกินทุกสิ่งที่เขาได้เคยกระทำ และยินดีที่จะปล่อยท่านเดินไปตามทางที่ท่านเลือก หลังจากนั้นเมื่อเขาไปยังเมืองนาร์นี ด้วยตระหนักถึงสัจธรรมของโลก เขาก็ได้ตัดสินใจขายทรัพย์สินทุกอย่างในบ้านของเขาทิ้ง และได้สมัครเข้าร่วมคณะภารดาน้อยฟรังซิสกัน เขากลายเป็นนักเทศน์ที่มีชื่อเสียง มีความศักดิ์สิทธิ์ดุจเดียวกับอดีตภรรยา เขายังมักนำเรื่องที่เขาประสบระหว่างอยู่กินกับภรรยาคนนี้มาใช้ในการเทศน์สอนอยู่เสมอ กระทั่งเขาสิ้นใจลงในเดือนกันยายน ค.ศ. 1544 หรือเพียงหนึ่งเดือนครึ่งก่อนภรรยาผู้ศักดิ์สิทธิ์ของเขา

เมื่อจบปัญหาระหว่างท่านและสามีลงด้วยดีแล้ว ในปีต่อมาหรือ ค.ศ. 1497 ในวันที่ 23 เมษายน เจ้าหน้าที่ศาลศาสนาแห่งโบโลญญาชื่อ คุณพ่อโดเมนิโก ดิ ยาร์ญาโม ก็ได้เริ่มทำการสอบสวนกรณีอัศจรรย์ของท่านอีกครั้งอย่างละเอียด และได้ตีพิมพ์ออกมาเป็นเอกสารอย่างระเอียดเผยแพร่ใน ค.ศ. 1500 เช่นเดียวกับการตรวจสอบทั้งสองครั้งก่อนหน้า คุณพ่อโดเมนิโกยืนยันว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องอุปโลกน์ลวงโลกเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีเอกสารบางชิ้นได้ระบุว่า สมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6 ได้เรียกให้ท่านไปพบที่กรุงโรม พระองค์ได้ทรงสนทนากับท่าน และเมื่อพระองค์ได้ทรงปรึกษากับบุญราศีโกลอมบา แห่ง รีเอตี ภคินีขั้นสามของคณะโดมินิกัน และเป็นรหัสยิกร่วมสมัยกับท่าน พระองค์ก็ทรงตัดสินว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับท่านไม่ใช่เรื่องอุปโลกน์ และได้ให้ท่านเดินทางกลับไปยังวิเตร์โบ พร้อมขอให้ช่วยสวดภาวนาเพื่อพระองค์ด้วย

ดยุค เอรโกเล ที่ 1 แห่ง เอสเต

ชื่อเสียงความศักดิ์สิทธิ์ของท่านแพร่ขยายไปทั่วอิตาลี จนไปถึงเมืองเฟร์รารา ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองวิเตร์โบขึ้นไปทางตอนเหนือราว 370 กิโลเมตร ผู้ปกครองเมืองนั้นชื่อ ดยุค เอรโกเล ที่ 1 แห่ง เอสเต ก็มีความปรารถนาให้ท่านมาพำนักในเมืองของเขา ท่านดยุคจึงได้ขอให้คุณพ่อโดเมนิโก ดิ ยาร์ญาโมเขียนจดหมายเชิญท่านในนามของเขา ให้มาพำนักยังเมืองเฟร์รารา ในฐานะ ‘ที่ปรึกษา’ ของเขา โดยเขายินดีจะสร้างอารามใหม่ให้เป็นที่พักของท่าน เมื่อท่านได้รับจดหมายท่านก็ตอบตกลงในทันที เนื่องจากท่านเองก็ได้มีความปรารถนาที่จะตั้งอารามใหม่ที่มีวัตรปฏิบัติที่เคร่งคัดมาได้สักระยะแล้ว ดังนั้นท่านดยุคจึงเริ่มส่งเรื่องนี้ไปยังสันตะสำนัก คณะโดมินิกัน และสภาเมืองวิเตร์โบ เพื่อดำเนินการตั้งอารามในเฟร์รารา โดยมีท่านเป็นคุณแม่อธิการ

ทางฝั่งสันตะสำนัก และคณะโดมินิกันไม่มีปัญหากับเรื่องนี้ ยกเว้นแต่สภาเมืองวิเตร์โบที่ไม่ประสงค์ให้ท่านเดินทางออกจากเมืองไป จดหมายลงวันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ. 1497 ท่านดยุคได้แจ้งกับท่านว่า เขายินดีกับการตัดสินใจของท่านและกำลังส่งนักพรตสองท่านพร้อมด้วยล่อสองตัวไปรับท่านจากวิเตร์โบ สองเดือนต่อมาในวันที่ 14 ตุลาคม ปีเดียวกัน เมื่อสองนักพรตเดินทางมาถึงวิเตร์โบ อันโตนีโอ เมอี คุณลุงของท่านอีกคนก็มารับท่านกลับไปดูใจมารดาของท่าน ที่กำลังสิ้นใจ ส่วนสองนักพรตเมื่อเดินทางมาถึง ก็ถูกชาวเมืองวิเตร์โบจับไปยังที่ว่าการเมือง และเกือบถูกทำร้ายจนถึงแก่ชีวิต พวกเขาจึงได้รีบแจ้งให้ท่านดยุคเร่งจัดส่งนายทหารติดอาวุธจำนวน 24 นายพร้อมด้วยม้าชั้นดี 1 ตัวเพื่อมารับท่าน

ตำแหน่งเมืองวิเตร์โบและเฟร์ราราในแผนที่ประเทศอิตาลี

ท่านดยุคจึงได้ให้อเลสซานโดร ดา ฟีโอลาโน หัวหน้านายทหารให้เร่งนำทหารจำนวน 24 นายเดินทางไปยังวิเตร์โบ แต่จากจดหมายของอเลสซานโดรลงวันที่ 10 มกราคม ค.ศ. 1498 ก็ทำให้ทราบว่าขณะเขานำกองทหารซ่อนตัวอยู่ที่สักการสถานแม่พระแห่งหนึ่งใกล้ ๆ เมืองวิเตร์โบเพื่อรอรับท่านตามที่นัดหมาย ทหารเมืองวิเตร์โบจำนวนราว 400 นายก็ได้เข้าล้อมพวกเขา และจับพวกเขาทั้งหมดในฐานะเชลย แล้วนำเข้าไปในเมือง ในการไต่สวนเขาพยายามกล่าวว่า พวกเขามาในสันติไม่ได้มีประสงค์ร้ายใด ๆ ต่อเมืองวิเตร์โบ พวกเขาเพียงรอให้นายทหารสองนายที่เข้าไปสวดภาวนาในวัด แต่ผู้ไต่สวนคดีก็ไม่ได้ปลักใจเชื่อ ทั้งได้ไล่ให้พวกเขาเดินทางกลับเฟร์ราราไป พร้อมฝากไปแจ้งให้ท่านดยุก เอรโกเล เลิกล้มความตั้งใจที่จะพาตัวท่านไปเสีย

เรื่องที่ชาวเมืองวิเตร์โบไม่ยอมส่งตัวท่านไปยังเมืองเฟร์ราราร้อนถึงสมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6 ต้องมีคำสั่งในวันที่ 18 มกราคม ค.ศ. 1948 ให้ส่งท่านมายังกรุงโรม แต่ทางเมืองก็ปฏิเสธที่จะอนุญาตให้ท่านเดินทางออกไปนอกเมืองตามคำสั่งนี้ ฝั่งท่านดยุค เอรโกเลเองก็ไม่ได้ยอมแพ้ต่ออุปสรรคนี้ ตลอดทั้งปีนั้นเขายังคงเขียนจดหมายอีกหลายฉบับไปยังเมืองวิเตร์โบ เพื่อขอให้ส่งตัวท่านมา เช่นเดียวกับสมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6 และเจ้าคณะใหญ่คณะโดมินิกัน ก็ต่างส่งจดหมายไปยังเมืองวิเตร์โบอีกหลายต่อหลายครั้งเพื่อให้แจ้งให้พวกเขายอมส่งตัวท่านไปเมืองเฟร์รารา และขู่ว่าหากพวกเขายังไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่ง พวกเขาก็จะต้องโดนลงโทษ แต่ทางเมืองวิเตร์โบก็ยังคงนิ่งเฉย และยืนยันที่จะให้ท่านพำนักที่เมืองวิเตร์โบต่อไป

ตำราจัดการกับแม่มด มัลเลอุส มาเลฟีการุม

ความขัดแย้งระหว่างเมืองเฟร์ราราและเมืองวิเตร์โบกินเวลามาได้ 2 ปี เพราะชาวเมืองวิเตร์โบไม่ยอมเสียนักบุญของพวกเขาไป ส่วนท่านดยุค เอรโกเลเอง แม้จะต้องสูญทรัพย์และเวลาไปจำนวนมาก เขาก็ยังคงไม่ลดละที่จะนำท่านมาให้ได้ กระทั่งถึง ค.ศ. 1499 ในวันที่ 15 เมษายน ด้วยวัย 22 ปี ท่านที่ปรารถนาจะเดินทางไปยังเมืองเฟร์รารา จึงได้หลบหนีออกจากเมืองวิเตร์โบโดยการนำของนายทหารท่านดยุค ด้วยการแกล้งหลบอยู่ในตระกร้าใส่สินค้าในคาระวานล่อที่ดยุคได้จัดเตรียมมา ท่านหยุดพักที่บ้าน ณ เมืองนาร์นี ก่อนจะออกเดินทางต่อ และมาถึงเมืองเฟร์ราราพร้อมด้วยนางเยนตีลีนา และสตรีใจศรัทธาชาวเมืองนาร์นีจำนวนหนึ่ง ในวันที่ 7 พฤษภาคม ปีเดียวกัน ท่านดยุค เอรโกเล พร้อมด้วยเหล่าข้ารับใช้ได้ออกมาต้อนรับท่านถึงประตูเมืองในฐานะ ‘ผู้นำฝ่ายจิต’ และ ‘ที่ปรึกษาส่วนตัว’ ของท่านดยุค เขายังได้จัดเตรียมผู้สมัครเข้าอารามใหม่นี้ไว้ 13 คน

ไม่ถึงเดือนหลังท่านเดินทางมาถึงเมืองเฟร์รารา ในวันที่ 2 มิถุนายน ปีเดียวกัน ท่านดยุคจึงได้เริ่มสร้างอารามแห่งใหม่พร้อมวัดเพื่อเป็นเกียรติแด่นักบุญแคทเธอรีน แห่ง ซีเอนาให้กับท่านและคณะ ระหว่างการก่อสร้างอารามที่กินระยะเวลาราวสองปี ในวันที่ 2 มกราคม ค.ศ. 1500 พระสมณทูตขององค์พระสันตะปาปาก็ได้เริ่มทำการสอบสวนและตรวจสอบปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับท่านเป็นครั้งที่ 4 โดยได้รับความช่วยเหลือจากนักสอบสวนชาวเยอรมัน ผู้เขียนหนังตำราเกี่ยวกับศาสตร์ของแม่มด และกระบวนการจัดการพวกแม่มดชื่อ ‘มัลเลอุส มาเลฟีการุม’ (Malleus Maleficarum) ใน ค.ศ. 1487 ชื่อ คุณพ่อไฮน์ริค ครามาร์ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างเดินทางจากกรุงโรมไปยังแคว้นโมราเวีย (สาธารณรัฐเช็กในปัจจุบัน) ให้มาร่วมตรวจสอบในครั้งนี้

นักบุญโดมินิก และบุญราศีลูชีอา 

เช่นเดิมผลการสอบสวนก็ออกมาในทำนองเดียวกับการตรวจสอบในครั้งก่อนหน้า และในภายหลังเมื่อคุณพ่อไฮน์ริคเดินทางถึงโมราเวียแล้ว คุณพ่อจึงได้ตีพิมพ์หนังสือคู่มือสำหรับนักเทศน์ในการจำแนกเรื่องนอกรีต ซึ่งมีจดหมายยาวของท่านดยุค เอร์โกเล ลงวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 1500 รับรองความน่าเชื่อถือของปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับท่าน และเอกสารรับรองผลการสอบสวนที่เมืองวิเตร์โบลงใน ค.ศ. 1497 ในวันที่ 20 เมษายน ค.ศ. 1501 และปีเดียวกันนั้นในวันที่ 16 กันยายน คุณพ่อยังได้ตีพิมพ์หนังสือขนาดเล็ก ซึ่งกล่าวถึงเหตุการณ์เหนือธรรมชาติของท่านและสตรีชาวอิตาลีผู้ศักดิ์สิทธิ์อีก 3 ราย โดยได้นำจดหมายฉบับใหม่ลงวันที่ 23 มกราคม ค.ศ. 1501 ของท่านดยุค เอร์โกเล มาตีพิมพ์พร้อมกับจดหมายอีกสามฉบับจากพระสังฆราชเมืองเฟร์รารา อาดรีอา และมิลาน นอกนี้ยังมีบทกวีถึงสี่หน้ากล่าวยกย่องท่านไว้อีกด้วย ซึ่งเพียง 5 ปีหลังตีพิมพ์ครั้งแรก หนังสือเล่มนี้ก็ได้ถูกแปลไปถึง 3 ภาษา ได้แก่ภาษาละติน ภาษาเยอรมัน และภาษาสเปน

กลับมาที่เมืองเฟร์รารา ในเวลาเดียวกับที่คุณพ่อไฮน์ริคตีพิมพ์เรื่องราวของที่โมราเวีย ในวันที่ 29 พฤษาคม ค.ศ. 1501 สมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6 ก็ทรงมีประกาศแต่งตั้งให้ท่านเป็นอธิการคนแรกของอารามเมืองเฟร์รารา โดยมีสิทธิ์เด็ดขาด ทั้งยังอนุญาตให้อารามของท่านมีสิทธิพิเศษบางประการ หลังจากนั้นในวันที่ 5 สิงหาคม ปีเดียวกัน ซึ่งตรงกับวันฉลองนักบุญโดมินิก ผู้ก่อตั้งคณะ ท่านพร้อมสมาชิกอารามจำนวน 22 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือมารดาของท่าน จึงได้ย้ายเข้าไปอาศัยภายในอารามแห่งใหม่ ซึ่งยังคงมีการก่อสร้างต่อจนแล้วเสร็จเป็นอารามขนาดใหญ่ ซึ่งมีห้องพิเศษสำหรับท่าน ห้องสำหรับภคินีท่านอื่น ๆ 95 ห้อง และห้องสำหรับนวกะอีก 46 ห้อง ใน ค.ศ. 1503

นางลูเกรชีอา บอร์ยา 

เมื่ออารามแห่งใหม่เรียบร้อยแล้ว ท่านจึงได้แจ้งความประสงค์ไปยังท่านดยุคว่าท่านปรารถนาให้อารามแห่งนี้มี สหายของท่านจากทั้งเมืองวิเตรโบและนาร์นี ประจวบเวลากับที่กับลูเกรชีอา บอร์ยา บุตรสาวของสมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6 ซึ่งกำลังจะเข้าพิธีวิวาห์กับบุตรชายของท่านดยุค เอร์โกเล พอดี ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1501 ท่านดยุคจึงได้ส่งคนถือสารให้ไปแจ้งความประสงค์นี้ของท่านกับนางลูเกรซีอา นางลูเกรชีอาจึงได้จัดหาภคินีจำนวน 11 คนพร้อมด้วยผู้สนใจสมัครเข้าอารามอีกจำนวนหนึ่งส่งมาเป็น ‘ของขวัญส่วนตัวของเธอ’ ให้กับว่าที่พ่อตา ภายหลังจากที่เธอเดินทางมาถึงเมืองเฟร์ราราในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1502 ได้ราวสองสามวัน

ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่ท่านได้รับของขวัญของนางลูเกรชีอา ซึ่งบางเอกสารระบุว่าเป็นวันที่ 18 มกราคม แต่บ้างก็ระบุว่าเป็นวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ใน ค.ศ. 1502 สมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6 ก็มีพระประสงค์จะตรวจสอบปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติของท่านอีกครั้ง โดยการตรวจสอบครั้งที่ 5 นี้ พระองค์ได้โปรดให้แพทย์ประจำพระองค์ พระคุณเจ้าแบร์นาโด โบนโยวันนี เด เรกานาตี พระสังฆราชแห่งเวโนซา ให้มาเป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบในท่านในท่ามกลางประจักษ์พยาน คือ ข้าราชการทั้งหลาย ทั้งเรื่องของรอยแผลศักดิ์สิทธิ์ พระพรในการหยั่งรู้จิตใจคนและอนาคต ผลการสอบสวนครั้งนี้ออกมาเป็นเช่นเดิม คือ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับท่านไม่ใช่เรื่องอุปโลกน์หรือกิจการของปีศาจ


มีบันทึกว่าครั้งหนึ่งเมื่อท่านเข้าไปในห้องพักของท่านที่อารามหลังใหม่ ท่านได้พบกับนักบวชท่านหนึ่งยืนคอยท่านอยู่ ซึ่งในทันทีท่านทราบว่านักบวชคนดังกล่าวก็คือ นักบุญแคทเธอรีน แห่ง ซีเอนา ที่ท่านเคารพ ท่านจึงได้ล้มตัวลงกราบเบื้องหน้าท่านนักบุญและได้ขอให้ท่านนักบุญช่วยอวยพรอารามหลังนี้ ซึ่งสร้างขึ้นเป็นเกียรติแก่ท่านนักบุญ ฝั่งนักบุญแคทเธอรีนก็รับคำขอของธิดาบุญธรรม และได้เดินนำพรมน้ำเสกไปตามห้องต่าง ๆ โดยมีท่านเป็นผู้คอยถือถังน้ำเสกเดินเคียงข้าง ทั้งสองต่างร่วมกันขับเพลงวันทาดาราสมุทรขณะเดินไปทั่วอาราม กระทั่งการอวยพรเสร็จลงแล้ว นักบุญแคทเธอรีนจึงได้มอบไม้เท้าของท่านนักบุญให้กับท่าน ซึ่งเป็นเครื่องหมายถึงการรับภาระปกครองบ้านหลังนี้ ก่อนท่านนักบุญจะอันตรธานหายไป 

ในวาระอื่นท่านได้แลเห็นบรรดาทูตสวรรค์จำนวนหนึ่งปรากฏขึ้น มีทูตสวรรค์องค์หนึ่งเหมือนเป็นประธานของกลุ่มทูตสวรรค์เหล่านี้ ทูตสวรรค์องค์นั้นมีรูปลักษณ์ที่งดงามกว่าทูตสวรรค์องค์อื่น สวมใส่อาภรณ์สีฟ้าประทับยืนอยู่ท่ามกลางบรรดาทูตสวรรค์ ทูตสวรรค์ตนนั้นได้สั่งให้บรรดาทูตสวรรค์องค์อื่น ๆ ไปประจำอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของอารามเพื่อทำหน้าที่เฝ้าพิทักษ์อารามแห่งนี้ ทูตสวรรค์องค์นั้นกล่าวสั่งว่า “พวกเราจะต้องปกป้องบ้านหลังนี้” เหตุการณ์ทั้งสองที่ยกมานี้ตอกย้ำให้เห็นว่า อารามแห่งเมืองเฟร์ราราเป็นอารามที่ได้รับการอวยพรจากสวรรค์ เป็นดังสถานที่ศักดิ์สิทธิ์บนพื้นโลก แต่นี่ก็ไม่ได้เป็นเครื่องประกันว่า ปีศาจจะไม่สามารถเข้ามายังอารามแห่งนี้ได้ เพราะหลังการก่อตั้งอารามได้มาถึงสามปี ความชั่วร้ายที่มารูปของความอิจฉาก็ได้ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นในอารามอันศักดิ์สิทธิ์นี้ และจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของท่าน


ความศักดิ์สิทธิ์ของท่านเป็นที่กล่าวถึงไปทั่วในกลุ่มวงสังคมชั้นสูง เรื่อยมาจนถึงคนชนชั้นล่าง ผู้คนมากมายต่างแวะเวียนมาพบท่าน เช่นเดียวกับที่มีสตรีใจศรัทธาเริ่มทยอยกันมาสมัครเข้าอารามของท่านมากขึ้น โดยรายงานในเดือนกรกฏกาคม ค.ศ. 1502 ได้ระบุว่าอารามนักบุญแคทเธอรีนของท่านมีสมาชิกถึง 72 คน ซึ่งท่านดยุคผู้อุปถัมภ์อารามเองก็ประสงค์จะให้มีมากถึง 100 คน ซึ่งก็ได้ลูกสะใภ้อย่างนางลูเกรชีอาเป็นคนคอยช่วยจัดหาหญิงสาวที่สนใจเข้าอารามร่วมกับท่านอีกแรง ปริมาณสมาชิกในอารามเพิ่มมากขึ้นนี้เอง ทำให้ในไม่ช้าอารามของท่านก็เริ่มเกิดปัญหา ซิสเตอร์บางกลุ่มในอารามเริ่มมีความเห็นว่าท่านในวัย 25 ปี ยังเยาว์เกินไปที่จะเป็นคุณแม่อธิการ บ้างว่าท่านไม่มีความเข้มงวดพอ บ้างก็ว่าวัตรปฏิบัติของท่านเคร่งคัดและรุนแรงเกินจะรับได้ แต่บ้างก็เพียงอิจฉาลาภยศและสิทธิพิเศษที่ท่านได้รับจากผู้คนมากหน้าหลายตา

ต้นตอของปัญหาหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากการกระทำของท่านดยุค เอร์โกเล เสียเอง เนื่องจากท่านดยุคนั้นมีความภูมิใจในอารามเขาสร้างขึ้นนี้มาก เขาจึงมักพาแขกที่แวะเวียนมาหาเดินทางมายังอารามนี้อยู่บ่อย ๆ เพื่ออวดผลงานที่เขาภูมิใจเป็นหนักเป็นหนา มีครั้งหนึ่งเขาถึงขั้นพาบรรดาสาวนักเต้นตรงจากงานเลี้ยงในปราสาทมายังอาราม เพื่อขอให้ท่านแสดงรอยแผลศักดิ์สิทธิ์ให้พวกเขาชม และจะเป็นการดียิ่งขึ้นไปอีกถ้าท่านจะเข้าฌานให้พวกเขาชมเป็นขวัญตา พฤติกรรมเช่นนี้ของท่านดยุค เอร์โกเล ทำให้อารามที่ควรจะอยู่ในความสันโดษต้องถูกรบกวนอยู่บ่อยครั้ง จึงทำให้สมาชิกในอารามหลายคน ที่ปรารถนาจะเจริญชีวิตนักพรตไม่พอใจ และเริ่มโทษว่านี่คือความผิดของท่าน

พระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6

ความไม่พอในกลุ่มของสมาชิกอารามเมืองเฟร์ราราจำนวนหนึ่ง นำไปสู่การรวมตัวกันส่งจดหมายร้องเรียนไปถึงพระสังฆราชประจำเมือง ให้มาจัดการปัญหาเหล่านี้ จนที่สุดสมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6 จึงมีคำสั่งให้ส่งภคินีคณะโดมินิกัน ซึ่งมีสถานภาพเป็นนักบวชขั้นที่ 2 จากอารามอื่นจำนวน 10 คนไปยังอารามของท่าน เพื่อทำการปฏิรูปอารามในวันที่ 26 มีนาคม ค.ศ. 1503 การมาถึงของคณะซิสเตอร์เหล่านี้ได้ ซึ่งมีสถานะเป็นนักบวชแท้ และสูงกว่าสถานะนักบวชกึ่งฆราวาสอย่างนักบวชขั้นสามแบบพวกท่าน ถูกอธิบายในเอกสารทางประวัติศาสตร์ว่า “ได้นำกล้าอ่อนของความขัดแย้งในรูปของผ้าคลุมศีรษะสีดำ” มายังอาราม (ในคณะโดมินิกันสิทธิ์ในการคลุมศีรษะด้วยผ้าสีดำ ได้รับอนุญาตเฉพาะนักบวชขั้นสองเท่านั้น)

เนื่องจากพื้นฐานสมาชิกในอารามที่แตกต่างกัน ฝั่งหนึ่งเป็นกลุ่มของสมาชิกขั้นสอง ในขณะที่ฝั่งหนึ่งก็เป็นสมาชิกขั้นสาม จึงทำให้เกิดเป็นความไม่ลงรอยภายในอารามเมืองเฟร์ราราอย่างต่อเนื่อง กระทั่งในวันที่ 18 สิงหาคม สมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6 ซึ่งให้การสนับสนุนท่านก็เสด็จสวรรคตลง ท่านจึงถูกปลดลงจากการเป็นอธิการของอาราม เพื่อให้ภคินีมารีอา เด ปาร์มา หนึ่งในซิสเตอร์ขั้นสองที่ถูกส่งมาเมื่อเดือนมีนาคมขึ้นเป็นคุณแม่อธิการอารามแทน ในวันที่ 2 กันยายน หรือเพียงไม่ถึงเดือนภายหลังการสวรรคตของสมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6 ทำให้สถานการณ์ภายในอารามของท่านดีขึ้นมาจากอดีต แต่ไม่วายความอิจฉาริษยาที่มีต่อตัวท่าน ซึ่งเจ้าปีศาจได้สร้างขึ้นภายในจิตใจของสมาชิกในอารามบางคนก็ไม่ได้หมดไป เพียงแต่ด้วยสถานภาพทางสังคมโดยทั่วไป ท่านยังเหลือคนที่คอยสนับสนุนท่านอย่างท่านดยุค เอร์โกเล อยู่ ท่านจึงยังเป็นที่นับหน้าถือตาของผู้คน

ภารดายาโรลาโม ซาโวนาโรลา

แต่แล้วในวันที่ 24 มกราคม ค.ศ. 1505 เมื่อท่านดยุค เอร์โกเล สิ้นใจลงอย่างกะทันหัน บรรดาสมาชิกในอารามที่ไม่พอใจท่าน เมื่อทราบว่าท่านสิ้นคนหนุนหลังโดยสมบูรณ์แล้ว จึงพร้อมใจกันลุกขึ้นต่อต้านท่านอย่างโจ่งแจ้ง จนนำไปสู่การบีบให้ท่านต้องลงนามในเอกสารขอยกเลิกสิทธิพิเศษต่าง ๆ ที่ท่านได้รับทั้งหมด ทั้งต้องยอมที่จะถูกกักบริเวณภายในอาราม และห้ามพูดกับใครในพื้นที่ส่วนตัวโดยไม่มีสมาชิกในอารามอยู่ ณ ที่ตรงนั้น มากไปกว่านั้นคุณพ่อนิกโกโล คุณพ่อวิญญาณณารักษ์ของท่านยังต้องถูกแทนที่ด้วยคุณพ่อเบเนเด็ตโต ดา มันโตวา ซึ่งไม่เชื่อในเรื่องเหนือธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับท่าน ณ เบื้องหน้าผู้แทนเจ้าอธิการคณะโดมินิกัน และนางลูเกรชีอา ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ปีนั้นเอง (มีข้อสันนิษฐานหนึ่งได้เสนอว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ท่านถูกลงโทษเช่นนี้ มาจากการที่ท่านให้การสนับสนุนแนวคิดปฏิรูปพระศาสนจักรตามแนวคิดของภารดายาโรลาโม ซาโวนาโรลา ซึ่งปรารถนาให้พระศาสนจักรที่เน่าเฟะในเวลานั้นได้รับการชำระอย่างเปิดเผย)

เมื่อสิ้นคนหนุนหลังไม่ว่าจะเป็นฝ่ายศาสนาและฝ่ายบ้านเมือง ท่านถูกประจานในที่สาธารณะว่า ท่านเป็นคนหลอกลวง ท่านสร้างความศักดิ์สิทธิ์จอมปลอมขึ้นมา เช่นเดียวกับบาดแผลทั้งห้าที่ถูกลือว่า คือรอยแผลศักดิ์สิทธิ์แบบเดียวกับองค์พระเยซูเจ้า โดยกลุ่มของสมาชิกในอารามที่ไม่พอใจท่าน ได้สร้างหลักฐานเท็จว่าพวกเธอได้เห็นท่านใช้มีดเพื่อทำรอยแผลที่มือและเท้าของท่านอยู่ในห้อง ข้อกังขาเหล่านี้ยิ่งทวีความน่าเชื่อถือมากขึ้น เมื่อรอยแผลศักดิ์สิทธิ์ที่มือและเท้าของท่านได้หายไป เหลือเพียงรอยแผลที่สีข้างซึ่งท่านซ่อนไว้อย่างมิดชิด ตามคำวิงวอนของท่านที่ปรารถนาจะเจริญชีวิตอย่างเรียบง่าย ไม่ต้องยุ่งวุ่นวายกับใคร ผู้คนที่เคยศรัทธาในตัวท่าน จึงต่างคล้องตาม ชื่อของท่านจึงถูก ‘ลบ’ ออกจากเอกสารที่เขียนถึงท่านในเชิงบวก เมื่อมีการตีพิมพ์เอกสารชิ้นนั้นใหม่ สมาชิกในอารามหลายคนต่างมองท่านด้วยความไม่วางใจและเย็นชา ในขณะที่คนอื่น ๆ นอกอารามก็ต่างพากันดูหมิ่นและดูถูกท่าน แตกต่างลิบลับกับในเวลาก่อนหน้าเพียงไม่กี่ปี

บุญราศีกาเตรีนา แห่ง รักโกนีจี

อธิการอารามคนใหม่ได้สั่งให้ท่านเจริญชีวิตใช้โทษบาปของตน ประดุจหนึ่งท่านเป็นคนบาปหยาบช้า โดยกำหนดลำดับชั้นของท่านนั้นต่ำกว่านวกะที่อายุน้อยที่สุด ส่วนสมาชิกในอารามคนอื่น ๆ ที่เคยปฏิญาณตนกับท่าน ก็พากันปฏิญาณตนเสียใหม่กับอธิการคนใหม่ ดังว่าการปฏิญาณตนที่พวกเธอเคยทำไว้กับท่านนั้นไม่สมบูรณ์ ในขณะที่คุณพ่อเจ้าอธิการแขวงโดมินิกัน ซึ่งอารามของท่านอยู่ในเขตดูแล ก็มีคำสั่งไม่ให้สมาชิกในคณะนอกอารามเดินทางมาพบกับท่าน เพื่อไม่ให้คณะต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงไปมากกว่านี้ ทำให้ในเวลานั้นท่านค่อย ๆ ถูกลืมเลือนไปจากความทรงจำของใครหลายคน ซึ่งเคยสรรเสริญยกให้ท่านเป็นนักบุญที่มีชีวิต คงมีเพียง ‘พระเจ้า’ ที่ยังจำท่านได้

ในห้องขังแสงอ้างว้างในอารามที่ท่านก่อตั้ง พระเป็นเจ้า พระมารดา และนักบุญบางองค์ยังคอยเฝ้าแวะเวียนมาหาท่านเพื่อบรรเทาใจท่านอยู่ตลอด หนึ่งในนั้นคือนักบุญที่มีชีวิตร่วมสมัยกับท่านชื่อ ‘บุญราศีกาเตรีนา แห่ง รักโกนีจี’ บุญราศีท่านนี้นักบวชขั้นสามของคณะโดมินิกันชาวอิตาลี เธอมีชะตาชีวิตที่ไม่ต่างอะไรกับท่าน เพราะด้วยเหตุอัศจรรย์มากมาย เธอจึงถูกชาวเมืองตูรินไล่ออกจากเมือง เพราะคิดว่าเธอเป็นแม่มด จนต้องไปสร้างบ้านเล็ก ๆ อยู่ที่เมืองการามัจโนกับเพื่อนอีกสองคน โดยพระเป็นเจ้าทรงได้นำทั้งสองมาพบกันด้วยวิถีทางอันน่าอัศจรรย์ในยามราตรีที่หลายชีวิตกำลังหลับใหล


ท่านเจริญชีวิตอยู่ในเงามืดของอารามเมืองเฟร์รารา ด้วยใจนบนอบต่อความอยุติธรรมยาวนานถึง 39 ปี โดยที่ท่านยังคงมีความเชื่อและไว้ใจในองค์พระเยซูเจ้า เจ้าบ่าวแต่เพียงคนเดียวของท่านเสมอ ท่านไม่เคยบ่นหรือถือโทษอันใด ท่านใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ไปกับการสวดภาวนา จนท่านมีวัยเข้า 67 ปี ท่านก็ล้มป่วยลง แต่ก็ไม่มีสมาชิกในอารามคนใดใยดีที่จะเข้ามาปฏิบัติดูแลท่านเลย แม้พวกเธอที่มีหน้าที่ดูแลบรรดาคนยากไร้ในเมือง ก็ยังปฏิเสธที่จะมาดูแลท่าน พวกเธอทำประหนึ่งท่านเป็นคนโรคเรื้อนที่น่ารังเกียจ ที่สมควรจะถูกปล่อยให้ตายไปเสียตามมีตามเกิด แต่ในขณะที่โลกทั้งใบทิ้งท่านไว้อยู่เบื้องหลัง พระเป็นเจ้าก็ไม่เคยทอดทิ้งท่านไปไหน เช่นเดียวกับชาวสวรรค์ และเหมือนครั้งในวัยเยาว์ นักบุญแคทเธอรีนผู้เป็นมารดาคนหนึ่งของท่าน ก็คอยแวะเวียนมาดูแลบุตรสาวคนนี้อยู่ตลอด มีหลายครั้งซิสเตอร์ในอารามได้เห็นซิสเตอร์ท่านหนึ่งปรากฏมาดูแลท่านที่ป่วยหนัก ร่วมกับซิสเตอร์อีกท่านในอาราม ซึ่งสิ้นใจไปด้วยความศักดิ์สิทธิ์ก่อนหน้านี้อีกด้วย

ไม่นานก่อนท่านจะสิ้นใจ ท่านได้เปิดเผยกับคุณพ่อวิญญาณของท่านว่า พระนางมารีย์ได้ตรัสปลอบประโลมใจท่านว่า “นามของลูกคือความสว่าง เพราะลูกคือบุตรสาวของความสว่างนิรันดร์” ในขณะที่พระเยซูเจ้าเองก็ทรงตรัสกับนักบุญเปาโล (ท่านเห็นในนิมิต) ว่า “เธอ (ลูชีอา) ได้ถูกตรึงกางเขนโดยบรรดาศัตรูใจทุรยศของเธอ บ้างตีไปที่หัว บ้างตีไปที่นิ้ว บ้างก็ชุดกระชากลากเธอไปตามที่ต่าง ๆ และปฏิบัติต่อเธออย่างชั่วช้า บ้างจับเธอโยนลงไปในบ่อน้ำ บ้างทุบตีฟันของเธอให้หักเสีย เธอรับทุกขเวทนาจากทั้งสิ่งเหล่านี้และความเจ็บปวดทั้งหลายด้วยน้ำใจอดทนโดยแท้ เพียงเพื่อความรักของเรา”


ในบั้นปลายชีวิตของท่าน ใน ค.ศ. 1544 คุณพ่อวิญญาณณารักษ์ ณ ขณะนั้นก็ได้มีคำสั่งให้ท่านเขียนถึงเรื่องที่ท่านได้รับการไขแสดง ท่านจึงได้เขียนบันทึกสั้น ๆ ซึ่งได้รับการค้นพบในเวลาต่อมาหอสมุดเมืองปาเวีย ใน ค.ศ. 1999 และในปีเดียวกันนั้นในวันที่ 15 พฤศจิกายน ท่านเมื่อทราบว่าเวลาสุดท้ายของท่านใกล้เข้ามาเต็มที จึงได้ขอให้สมาชิกในอารามมารวมตัวกันรอบเตียงของท่าน ท่านขออภัยพวกเธอสำหรับปัญหาต่าง ๆ ที่ท่านได้สร้างให้กับพวกเธอตลอดชีวิต ท่านได้ให้โอวาทสุดท้ายกับสมาชิกในอารามทุกคน โดยไร้ซึ่งการวิพากษ์วิจารย์ การแก้ต่าง ความโศกเศร้า โอวาทนั้นเป็นเพียงการเตือนใจทุกคน โดยชี้ให้เห็นถึงความไม่ครบครันของท่าน ให้ทุกคนรักพระ ให้หมั่นแสวงหาแต่สิ่งในสวรรค์ และมีใจมุ่งมั่นจะปฏิบัติตามกฏของอาราม

พระสงฆ์ได้ถูกตามเพื่อมาโปรดศีลเจิมคนไข้ให้กับท่าน และเมื่อได้รับการโปรดศีลเจิมแล้ว ท่านจึงขอให้คุณพ่อจิตตาธิการ ที่เดินทางมาโปรดศีลให้ท่านอย่างพึ่งกลับไป คุณพ่อจึงได้อยู่กับท่านจนถึงเวลาเที่ยงคืน ท่านจึงคืนวิญญาณอันงดงามเป็นเครื่องบูชาแด่พระเป็นเจ้า หลังท่านยกมือขึ้นไปบนอากาศและเปล่งเสียงออกมาว่า “ไปสู่สวรรค์ ไปสู่สวรรค์” ท่านถึงแก่มรณกรรมอย่างสงบโดยไร้ซึ่งอาการตรีทูตในค่ำคืนของวันที่ 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 1544 ขณะอายุได้ 67 ปี แม้จะเผชิญกับความทุกข์ยากมาครึ่งชีวิต ร่างที่แน่นิ่งของท่านก็ไม่ปรากฏมีความทุกข์ใด มีเพียงรอยยิ้มที่งามกว่ารอยยิ้มไหน ซึ่งใครได้เห็นก็ต้องระอายใจที่จะมอง หากไม่ตระหนักว่าเจ้าของรอยยิ้มนี้ เป็นนักบุญที่มีชีวิตโดยแท้


เสียงร้องเพลงของบรรดาทูตสวรรค์ของพระเจ้าดังขึ้นเหนือห้องของผู้วายชนม์ ซึ่งไม่ใช่เพียงสมาชิกในอารามหนึ่งหรือสองคนได้ยิน แต่ทุกคนต่างล้วนได้ยินเสียงแห่งความยินดีของสวรรค์ เช่นเดียวกับกลิ่นหอมประหลาดที่ตลบอบอวลไปทั่วพื้นที่ ไม่เพียงแต่ในห้องเล็ก ๆ นี้ แต่เป็นทั่วทั้งอาราม เครื่องหมายอัศจรรย์สองประการนี้ ซึ่งไม่อาจหาคำอธิบายได้โดยมนุษย์ ได้ชำระมลทินของท่านทุกประการให้สิ้นไป สมาชิกในอารามซึ่งเคยถูกชักนำให้รังเกลียดท่านจากสมาชิกไม่กี่คน ต่างประจักษ์ถึงความศักดิ์สิทธิ์และความบริสุทธิ์ของผู้วายชนม์เบื้องหน้า พวกเธอจึงเห็นพ้องกันว่าควรประการการสิ้นใจของท่านให้ทราบโดยทั่วกัน และสมควรยิ่งที่จะจัดพิธีปลงศพให้ท่านในวัดน้อยอารามอย่างสมเกียรติ อันเป็นสิ่งเดียวที่พวกเธอทั้งหลายจะชดเชยให้กับความอยุติธรรมที่พวกเธอได้ปฏิบัติต่อท่าน

ทำให้ในไม่ช้าข่าวการมรณกรรมของท่านจึงค่อย ๆ ถูกส่งต่อไปทั่วเมืองเฟร์รารา หลายคนอดประหลาดใจไม่น้อยที่ทราบว่าท่านไม่ได้เสียชีวิตไปตั้งแต่ก่อนหน้านี้ และหลายคนก็เปลี่ยนความคิดในใจที่มีต่อท่าน และเริ่มตระหนักได้ว่า มีเพียงบุคคลที่เป็นนักบุญแท้เท่านั้น ที่จะเจริญชีวิตอยู่ในความเงียบและความอยุติธรรมด้วยใจสงบราบคาบเช่นนี้ได้ถึง 39 ปี พวกเขาจึงต่างพากันเดินทางมายังอารามนักบุญแคทเธอรีน เพื่อจะได้เห็นและสัมผัสร่างนักบุญของพวกเขาเป็นครั้งสุดท้าย จนเป็นเหตุให้ทางอารามต้องเลื่อนพิธีฝังร่างของท่านออกไปถึง 3 วัน ซึ่งสามวันนั้นนอกจากพวกเขาจะเห็นบาดแผลที่สีข้างของท่านยังมีเลือดไหลซึมออกมา พวกเขายังได้คนป่วยได้รับการรักษา และได้เห็นคนที่ถูกปีศาจสิง ได้รับการช่วยเหลือผ่านผ้าที่สัมผัสร่างของท่านอีกด้วย

ร่างของบุญราศีลูชีอาในปัจจุบัน

ความศรัทธาที่มีต่อท่านนับวันก็ยิ่งทวีขึ้นเรื่อย ๆ จนล่วงมาได้ 4 ปี หลังมรณกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ของท่าน จึงได้มีการขุดร่างของท่านขึ้นมา เพื่อนำมาไว้ในบริเวณที่สะดวกแก่ผู้ศรัทธาจะเดินทางมาสวดภาวนา ทำให้ได้พบว่าร่างของท่านนั้นไม่เน่าเปลื่อย ทั้งเมื่อเกิดรอยแผลที่ร่างนั้น ก็กลับมีเลือดสีแดงไหลออกมาพร้อมกลิ่นหอมประหลาด ประหนึ่งเป็นเครื่องยืนยันถึงความศักดิ์สิทธิ์ของท่าน จึงได้มีการจัดสร้างโลงแก้วเพื่อบรรจุร่างของท่านและตั้งไว้ที่วัดน้อยประจำอาราม ตราบเมื่ออารามของท่านถูกปิดตัวลงตามคำสั่งของจักรพรรดิ์นโปเลียนใน ค.ศ. 1797 จึงได้มีการย้ายร่างของท่านไปรักษาไว้ ณ พระแท่นของนักบุญลอเรนซ์ มรณสักขี ในอาสนวิหารประจำเมืองเฟร์รารา กระทั่งวันที่ 26 พฤษภาคม ค.ศ. 1935 ร่างของท่านจึงถูกเชิญกลับมายังอาสนวิหารประจำเมืองนาร์นี บ้านเกิดของท่าน

ข้ารับใช้พระเจ้าลูชีอาได้รับการประกาศให้เป็นบุญราศี ในวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 1710 โดยอาศัยการรับรองคารวะกิจ (cultus confirmation) ที่มีต่อท่านของสมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 11 ลักษณะการแต่งตั้งเช่นนี้ เป็นการแต่งตั้งโดยไม่ได้มีการยื่นกรณีอัศจรรย์ที่เกิดผ่านคำเสนอวิงวอนประกอบ เหมือนในกรณีของการสถาปนาบุญราศีและนักบุญโดยทั่วไป แต่เป็นไปตามกฤษฎีกาชื่อ ‘กาเอเลสติส เยรูซาเลม ซีเวส’ (Caelestis Hierusalem Cives) ของสมเด็จพระสันตะปาปาอูร์บันที่ 8 ใน ค.ศ. 1634 ซึ่งมีใจความห้ามแสดงคารวะกิจต่อนักบุญในที่สาธารณะ เว้นเสียคารวะกิจนั้นจะได้รับอนุญาตโดยสมณะกระทรวงว่าด้วยจารีต (Congregation of Rites) และพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้นได้รับการแสดงคารวะกิจโดยสาธณชนมาอย่างน้อย 100 ปี ก่อนจะมีการประกาศกฤษฎีกาฉบับนี้ ลักษณะการแต่งตั้งเช่นนี้ไม่ได้มีเพียงกรณีของท่าน เพราะก็มีนักบุญหลายท่านที่เราคุ้นเคย ในขั้นของการขึ้นเป็นบุญราศีก็อาศัยการรับรองคารวะกิจ ก่อนที่จะมีการสถาปนาเป็นนักบุญอย่างเป็นทางการเมื่อมีอัศจรรย์ประกอบ อาทิ นักบุญอังเยลา เมดิชี นักบุญฮวน ดิเอโก นักบุญเบียตริซ ดา ซิลวา นักบุญริตา แห่ง กัสชา นักบุญฌาน แห่ง วาลัว เป็นต้น


จากชีวิตของบุญราศีลูชีอา ชาวนาร์นี ชวนให้เราได้ลองไตร่ตรองว่า อะไรหรือสิ่งใดกันหนอ ที่ทำให้บุญราศีลูชีอาสามารถก้าวผ่านอุปสรรคต่าง ๆ ในชีวิต โดยเฉพาะในช่วงชีวิตสุดท้าย ที่ท่านต้องกลายเป็นเหมือนบุคคลที่โลกปฏิเสธ ไร้ญาติ ขาดมิตร กลายเป็นคนแปลกหน้าในท่ามกลางคนรู้จักมา และยืนหยัดในความเชื่อจนถึงวินาทีสุดท้ายของชีวิตได้ โดยไม่ได้บ่นว่าหรือหันหนีไปจากพระเจ้า คำตอบนั้นอาจอยู่ในข้อพระคัมภีร์จากพันธสัญญาเดิม 2 ข้อความ คือ สดุดีถ้อยหนึ่ง ที่ผู้เขียนหนังสือดังกล่าวได้สดุดีพระเจ้าว่า “พระยาห์เวห์จะไม่ทรงทอดทิ้งประชากรของพระองค์ จะไม่ทรงละทิ้งมรดกของพระองค์” (สดุดี 94: 14) และพระวาจาของพระเป็นเจ้าเองที่ทรงตรัสกับประชากรของพระองค์ ในหนังสือประกาศกฮักกัย เมื่อทรงปลอบประโลมชาวอิสราเอลที่กำลังทุกข์ทนว่า “เราอยู่กับท่านทั้งหลาย … จงทำใจให้ดีเถิด” (ฮักกัย 1: 13 , 2: 4)

อาศัยการรับศีลล้างบาป บุญราศีลูชีอาตระหนักดีว่าท่านได้กลายเป็นประชากรของพระเจ้า และโดยวิถีทางดุจ ที่พระเป็นเจ้าทรงสัญญาไว้กับชาวอิสราเอล เมื่อออกทรงนำพวกเขาออกจากแผ่นดินอิยิปต์ ว่าจะไม่ทรงละทิ้งพวกเขาไปไหน (เทียบ ฮักกัย 2: 5) ท่านจึงมั่นใจว่าอาศัยการที่พระเยซูเจ้าทรงนำมนุษย์ออกจากการเป็นทาสของบาป ด้วยการสิ้นพระชนม์ พระสัญญานี้ก็ไม่ได้จำกัดเพียงแค่ชาวอิสราเอล แต่ยังรวมถึงมนุษย์ทุกคนที่ตอบรับการไถ่กู้ครั้งนี้ ดังนั้นเมื่อท่านพบปัญหาและความทุกข์ยากมากมาย โดยเฉพาะการถูกตราหน้าว่าเป็นคนหลอกลวงกว่าสามสิบปี ท่านจึงยังคงมอบหัวใจทั้งดวงไว้กับพระเจ้า และพบกำลังใจที่จะฟันฝ่าความยากลำบากมาได้ นั่นเพราะท่านมั่นใจว่า แม้โลกทั้งใบจะทิ้งท่านไป แต่พระเจ้าของท่านนั้นไม่เคยละทิ้งท่าน และตรัสกับท่านเช่นเดียวกับที่ตรัสกับชาวอิสราเอล ผ่านประกาศกฮักกัยว่า “เราอยู่กับท่านทั้งหลาย จงทำใจให้ดีเถิด” สุดท้ายนี้ขอให้เมื่อเราคริสตชน เมื่อพบความทุกข์ยากต่าง ๆ ในชีวิตเนรเทศนี้ ให้เราได้มีพระพรที่จะเลียนแบบบุญราศีลูชีอา ในการที่จะมอบ ‘หัวใจ’ ทั้งหมดให้กับพระเจ้า และ ‘เชื่อมั่น’ ว่า พระเป็นเจ้าจะไม่ทรงทอดทิ้งเราไปไหน ทั้งได้ยินเสียงเดียวกันที่ว่า “เราอยู่กับท่านทั้งหลาย จงทำใจให้ดีเถิด” อาแมน


"ข้าแต่ท่านบุญราศีลูชีอา แห่ง นาร์นี ช่วยวิงวอนเทอญ"

รายการอ้างอิง

Bernardo Sastre Zamora. La reina Lucy, de las Crónicas de Narnia, existió de verdad y era dominica. accessed July 19, 2021. available from https://www.dominicos.org/noticia/lucy-cronicas-de-narnia-dominica/
Blessed Lucy of Narni. accessed July 19, 2021. available from https://catholicsaints.info/blessed-lucy-of-narni/
Blessed Lucy of Narnia. accessed July 19, 2021. available from http://www.narnia.it/lucia_eu.htm
Franco Mariani. Beata Lucia (Broccadelli) da Narni. accessed July 20, 2021. available from http://www.santiebeati.it/dettaglio/90818
Georgiana Fullerton. Blessed Lucy of Narnia. accessed August 2, 2021. available from http://www.narnia.it/lucia1_eu.htm
Lucia Broccadelli da Narni. accessed July 18, 2021. available from https://it.wikipedia.org/wiki/Lucia_Broccadelli_da_Narni
Lucy Brocadelli. accessed July 18, 2021. available from https://en.m.wikipedia.org/wiki/Lucy_Brocadelli
Roberto Tarquini. Lucia da Narni. accessed August 2, 2021. available from https://cattedraledinarni.weebly.com/lucia-da-narni---don-roberto-tarquini.html
Stephen Bullivant. The real Blessed Lucy of Narnia was even more amazing than CS Lewis’s imagination. accessed July 19, 2021. available from https://catholicherald.co.uk/the-real-blessed-lucy-of-narnia-was-even-more-amazing-than-cs-lewiss-imagination/

วันพุธที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2565

'ลูชีอา' หมดใจนี้มอบพระองค์ ตอนแรก


บุญราศีลูชีอา แห่ง นาร์นี
Bl. Lucia de Narni
ฉลองในวันที่: 16 พฤศจิกายน

หลายท่านที่เป็นคอวรรณกรรมเยาวชน และวรรณกรรมแปล คงคุ้นเคยกับนวนิยาวชุดยาวเรื่อง ‘ตำนานแห่งนาร์เนีย’ ซึ่งกล่าวถึงการผจญภัยของพี่น้องตระกูลพีเวนซี่ ในดินแดนลึกลับชื่อ ‘นาร์เนีย’ จากปลายปากกาของ ซี. เอส. ลิวอิส นักเขียนชาวไอริช ผู้มีชีวิตอยู่ระหว่าง ค.ศ.1898 – ค.ศ.1963 และผู้เขียนก็เชื่อว่าหลายท่าน คงทราบดีว่าวรรณกรรมเรื่องนี้ถูกตีความว่าได้ซ่อนรหัสธรรมของคริสต์ศาสนาไว้ โดยมีตัวละครอย่างราชสีห์อัสลาน คือ ‘ภาพแทนของพระคริสตเจ้า’ ซึ่งเป็นปรปักษ์กับ ‘ภาพแทนของลูซีเฟอร์’ อย่างแม่มดขาว แต่จากการศึกษาของวอลเตอร์ ฮูเปอร์ นักเขียนชาวอเมริกา ผู้สนใจศึกษาชีวประวัติของซี. เอส. ลิวอิส ก็ได้เสนอทฤษฎีหนึ่งที่น่าสนใจว่า นอกเหนือจากเรื่องราวในพระคัมภีร์ไบเบิ้ลแล้ว ลิวอิสยังน่าจะได้รับแรงบันดาลใจตัวละครสำคัญอีกตัวหนึ่ง จากบุคคลที่มีตัวตนจริงทางประวัติศาสตร์ในช่วงรอยต่อระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 15 – 16 อีกด้วย

โดยฮูเปอร์ได้เสนอว่าตัวละครเอกอย่าง ‘ลูซี่ ’ น้องสาวคนสุดท้องของสี่พี่น้องตระกูลพีเวนซี่ ผู้ค้นพบทางเข้าไปยังดินแดนนาร์เนียนผ่านตู้เสื้อผ้าเป็นคนแรก ได้รับแรงบันดาลใจมาจากภคินีคณะโดมินิกัน ชาวอิตาลีจากเมืองนาร์นี ซึ่งฮูเปอร์ได้อธิบายว่า ลิวอิสได้เคยมีโอกาสไปเดินทางไปยังเมืองนี้ และด้วยความประทับใจ เขาได้นำชื่อภาษาละตินของเมืองดังกล่าว (นาร์เนีย) มาตั้งเป็นชื่อดินแดนลึกลับที่สิงสาราสัตว์ต่างพูดได้ พร้อมนำบุคลิกของบุคคลสำคัญประจำเมืองนามว่า ‘ลูชีอา’ หรือ ‘ลูซี่’ ในภาษาอังกฤษมาเป็นแรงบันดาลใจในออกแบบตัวละครดังกล่าว


เพราะในขณะที่ตัวละครลูซี่ แห่ง นาร์เนีย มีความเชื่อมั่นเสมอต่อราชสีห์อัสลานไม่ว่าจะในสถานการณ์ไหน ลูชีอา ชาวนาร์นี ก็มีความไว้ใจให้กับองค์พระเยซูเจ้าอยู่เสมอ แม้ว่าในสถานการณ์ที่ยากเย็นที่สุดของชีวิต ดังนั้นในวันนี้ผู้เขียนจึงอยากจะพาทุกท่านไปรู้จักกับบุคคลทางประวัติศาสตร์อีกท่าน ซึ่งพระศาสนจักรได้ยกย่องไว้ในด้วยฐานะอันมีเกียรติ เพราะไม่ว่าข้อสันนิษฐานของฮูเปอร์จะจริงเท็จเพียงใด ชีวประวัติของลูชีอา ชาวนาร์นีก็เป็นแบบฉบับที่มีคุณค่าแก่การเรียนรู้ เป็นพิเศษสำหรับคริสตชน ผู้มีความเชื่อในพระคริสตเจ้าเป็นอย่างยิ่ง

ย้อนไปในวันฉลองนักบุญลูซีอา มรณสักขีผู้มีสัญลักษณ์ คือ ดวงตาในถาด เมื่อกว่า 500 ปีล่วงมาแล้ว หรือก็คือในวันที่ 13 ธันวาคม ค.ศ. 1476 ที่เมืองนาร์นี จ. แตร์นี แคว้นอุมเบรีย ประเทศอิตาลี ที่ในเวลานั้นยังเป็นเพียงส่วนหนึ่งของรัฐพระสันตะปาปา (Papal States) ทารกเพศหญิงได้ถือกำเนิดขึ้น ในฐานะบุตรคนแรกจากทั้งหมด 11 คนของนายบาร์โตโลเมโอ โบร์กาเด็ลลี ผู้ดูแลงานคลังประจำเมืองนาร์นี กับนางเยนตีลีนา กาสซีโอ ทั้งสองที่เห็นว่าบุตรน้อยเกิดในวันดังกล่าว จึงให้นามเด็กหญิงตามนามนักบุญประจำวันนั้นว่า ‘ลูชีอา’

นักบุญแคทเทอรีนผู้รับ ด.ญ. ลูชีอาเป็นธิดาบุญธรรม

เช่นเดียวกับนักบุญหลายองค์ในพระศาสนจักร อาทิ นักบุญฮิลเดการ์ด แห่ง บิงเงน ภคินี รหัสยิกและนักปราชญ์พระศาสนจักรชาวเยอรมันในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12 นักบุญนิโคลัส แห่ง ฟลือเอ ฆราวาสและรหัสยิกชาวสวิทเซอร์แลนด์ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15 หรือนักบุญร่วมสมัยกับเราอย่างนักบุญมารีอัม เทรเซีย ภคินีและรหัสยิกชาวอินเดียในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 และนักบุญอิวพราเซีย เอลูวาธินกัล ภคินีและรหัสยิกชาวอินเดียในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 ตั้งแต่วัยเยาว์ท่านก็แสดงถึงลักษณะที่พิเศษกว่าเด็กหญิงชายรุ่นราวคราวเดียวกันให้เป็นที่ประจักษ์แก่คนรอบข้าง ดังปรากฏมีในชีวประวัติท่านหลายสำนวนที่ได้เขียนขึ้นในเวลาต่อมา

เริ่มตั้งแต่เมื่อลูชีอายังเป็นเพียงเด็กน้อยในเปล นางเยนตีลีนาและคนใช้ในบ้านก็เริ่มสังเกตเห็นว่า ในหลาย ๆ ครั้งจะปรากฏภคินีนางหนึ่ง แต่งกายด้วยเครื่องแบบคณะโดมินิกัน แต่ดูท่าทางมีสง่าราศีกว่าคนทั่วไป เดินทางมาเยี่ยมท่านถึงที่ห้อง โดยทุกครั้งที่ภคินีนางนี้ปรากฏมา เธอจะมาอุ้มท่านขึ้นมาจากเปล กอดท่านอย่างเอ็นดู แล้วอวยพรท่านก่อนจะจากไป ซึ่งไม่ว่านางเยนตีลีนาและคนใช้จะจับตามองว่าภคินีนางหนึ่งเดินมาจากทางไหน หรือกลับไปทางใด พวกเธอก็ไม่สามารถที่ตามหรือหาคำตอบได้ว่าภคินีนางนี้มาจากที่ใด นานวันเข้าเมื่อปรากฏการณ์ประหลาดนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า นางเยนตีลีนาจึงเริ่มเป็นกังวล แต่ไม่ช้าอาศัยการไขแสดงของพระเจ้า เธอจึงเข้าใจว่าภคินีนางนั้น คือ นักบุญแคทเธอรีน แห่ง ซีเอนา ซึ่งได้รับบุตรสาวของเธอเป็นบุตรบุญธรรม


ต่อมาเมื่อท่านอายุได้ 4 ปี ท่านก็ยิ่งแสดงให้เห็นถึงลักษณะที่แตกต่างจากเด็กรุ่นราวคราวเดียวกัน กล่าวคือวันหนึ่งคุณลุงของท่านชื่อ ‘ซีโมน’ ได้เดินทางจากโรมมาเยี่ยมนางเยนติลีนา ผู้เป็นน้องสาว เขาได้เตรียมของฝากเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นพวกของเล่นและของขวัญมาให้หลาน ๆ ได้เลือก ในท่ามกลางฝากจำนวนมากมาย ขณะที่น้อง ๆ ของท่านต่างเลือกเอาตุ๊กตาและของเล่นต่าง ๆ ท่านก็ไปสะดุดตากับสายประคำเส้นเล็กที่มีรูปพระกุมารเยซู ท่านจึงได้เลือกเอาสายประคำเส้นนี้ คุณลุงซีโมนจึงให้สายประคำนั้นกับท่าน ท่านรีบรับมันไว้ด้วยความยินดี และได้ตั้ง ชื่อให้กับพระกุมารองค์น้อยนี้ว่า ‘คริสตาเรลโล’ หลังจากนั้นท่านจึงได้ทำมุมเล็ก ๆ ในห้องนอน เพื่อต้อนรับพระกุมารน้อย และแต่นั้นมาท่านก็มักคลุกตัวเล่นกับของขวัญชิ้นนี้ ท่านไม่เคยเบื่อที่มองหรือหยิบจับของขวัญชิ้นนี้ขึ้นมา บางคราวเมื่อท่านพบปัญหาต่าง ๆ ในบ้าน ท่านก็มักมาปรับทุกข์กับของขวัญชิ้นนี้อยู่เสมอ และมีหลายคราวที่นางเยนติลีนาก็ได้แอบเห็นพระกุมารองค์นี้ได้ยื่นพระหัตถ์มาซับน้ำตาของท่านอีกด้วย

เมื่อท่านมีวัยพอจะไปวัดได้ ท่านก็เริ่มตามนางเยนติลีนาไปวัดนักบุญออกัสติน ที่อยู่ไม่ไกลบ้านของครอบครัว มีวันหนึ่งเมื่อท่านติดสอยห้อยตามมารดาไปวัดแห่งนี้ตามปกติ ท่านก็ไปสะดุดตากับรูปปั้นนูนต่ำรูปพระนางมารีย์ทรงอุ้มพระกุมารรูปหนึ่งในวัด ท่านจึงหยุดจ้องมองรูปนี้อย่างชอบใจ ฝั่งนางเยนติลีนาเมื่อเห็นลูชีอาน้อยมองรูปแม่พระอย่างตั้งใจ ก็ก้มลงบอกกับบุตรสาวว่า “ลูชีอา ลูกรู้ไหมว่าหญิงงามที่ลูกเห็นอยู่นี้เป็นใคร พระนางคือมารดาของคริสตาเรลโลของลูกยังไงละ ส่วนเด็กน้อยที่พระนางอุ้มอยู่ก็คือคริสตาเรลโล ถ้าหนูชอบรูปนี้ ไว้พวกเราจะมาที่นี่อีกถ้ามีโอกาส ลูกต้องเอาสายประคำที่ลูกชอบมาสวดที่หน้ารูปของพระนางนี้ด้วยนะ” เมื่อได้ยินมารดาบอกเช่นนั้น ท่านก็ยิ้มดีใจและหลังจากนั้นมาเมื่อท่านสบโอกาสหนีจากพี่เลี้ยงได้ ท่านก็มักมาอยู่เบื้องหน้าพระรูปนี้เสมอ


วันหนึ่งขณะท่านเรียนรู้ที่จะอุ้มน้องชายตัวน้อยของท่าน ท่านก็มีความคิดอย่างซื่อ ๆ ว่า ท่านอยากจะลองอุ้มคริสตาเรลโลไว้อย่างนี้บ้าง ท่านจึงได้ไปสวดภาวนาต่อแม่พระเบื้องหน้าพระรูปที่ท่านชอบ เล่ากันว่าทันใดนั้นพระรูปแม่พระซึ่งแกะจากหินอ่อน ก็ทรงยื่นพระกุมารน้อยที่พระนางอุ้มมาไว้ในอ้อมแขนน้อย ๆ ของท่าน ท่านรีบรับพระกุมารน้อยนั้นมาด้วยความยินดี พลันพระกุมารหินอ่อนนั้นก็กลับมีชีวิต ท่านจึงรีบวิ่งตรงกลับบ้านไปพร้อมกับพระองค์ แม้จะมึผู้คนมาขวางท่านไว้ตามรายทาง เพื่อหมายจะพาพระกุมารคืน ท่านก็อาศัยความเป็นเด็กน้อยวิ่งหลบซอกแซก จนพาตัวท่านเองพร้อมพระกุมารมาถึงยังห้องของท่านได้สำเร็จ

เมื่อมาถึงที่ห้องของท่าน ท่านก็เฝ้ามองพระองค์อยู่ตลอดสามวันสามคืน โดยไม่ได้ออกมารับประทานอาหารหรือหลับ แม้มารดาท่านจะเข้ามาขอให้ท่านกินข้าวกินปลาบ้าง ท่านก็ไม่ได้ตอบสนองต่อคำพูดของนางเลย คล้ายกับว่าในเวลานั้น โลกทั้งใบมีเพียงท่านและพระองค์ ล่วงถึงคืนที่สามด้วยความเหนื่อยล้าจากการไม่รับประทานอาหารและนอนติดต่อกันหลายวัน ท่านก็ผล็อยหลับไปและเมื่อสะดุ้งตัวตื่นขึ้น ท่านก็ไม่พบพระกุมารหรือคริสตาเรลโลของท่านแล้ว ด้วยความซื่อท่านเข้าใจในทันทีว่าพระเป็นเจ้าจะประทับอยู่กับผู้ที่เฝ้ามองพระองค์อยู่ตลอด ท่านเริ่มร้องไห้ด้วยความเป็นทุกข์ที่พระเป็นเจ้าได้จากท่านไป นางเยนติลีนาที่ได้ยินเสียงท่านร้องไห้ จึงเข้ามาปลอบท่าน และได้อุ้มท่านไปที่วัด ทั้งสองจึงได้พบว่าพระกุมารที่หายไปจากวัดถึงสามวัน ก็ได้กลับไปอยู่ที่อ้มแขนของพระมารดาของพระองค์ดังเดิม


เหตุการณ์ประหลาดระหว่างหนูน้อยลูชีอากับองค์พระเยซูเจ้า ซึ่งแสดงให้เห็นความพิเศษของหนูน้อยลูชีอา มิได้หมดเพียงเท่านี้ เมื่อหนูน้อยลูชีอามีอายุได้ 7 ปี วันหนึ่งเมื่อท่านได้ถูกพาไปเยี่ยมคุณลุงที่บ้านของเขา แถวนอกเมือง ด้วยความคุ้นชินกับบ้านหลังนี้จากการได้มีโอกาสมาในหลาย ๆ ครั้ง หนูน้อยเกิดจำได้ว่าที่บ้านหลังนี้ จะมีห้อง ๆ หนึ่งที่มีภาพเขียนกลุ่มทูตสวรรค์องค์น้อยที่ดูช่างคล้ายกับตัวท่าน กำลังจับมือกันพลางเต้นรำไปรอบ ๆ ดังนั้นเมื่อมาถึงบ้านของคุณลุงและสบโอกาส ในเช้าวันเดียวกันท่านจึงได้รีบเดินตามหาทูตสวรรค์เหล่านั้น ท่านเที่ยวค้นหารูปดังกล่าวจนไปพบรูปดังกล่าวอยู่ในส่วนของบ้านที่ผุพังและไม่ได้ใช้งานแล้ว ชนิดที่ว่าบันไดในส่วนนั้นก็ได้พังทลายลงจนใช้การไม่ได้

ความจริงท่านสามารถเห็นรูปนี้ได้จากพื้นห้อง แต่ด้วยความซุกซนผสมกับความปรารถนาที่จะได้เห็นบรรดาทูตสวรรค์นั้นใกล้ ๆ ท่านจึงได้ปีกซากบันไดที่พังนั้นขึ้นไป แต่ไม่ทันจะขึ้นไปถึงขั้นบันไดเจ้ากรรมก็เกิดหักลง ท่านที่กำลังจะตกจากบันได จึงได้รีบวิงวอนขอความช่วยเหลือจากพระเยซูเจ้า ดังที่เคยทำตามปกติ พลันท่านก็พบว่าตัวเองได้มาอยู่ในห้องว่างห้องหนึ่ง ท่านนึกสงสัยในทันทีว่าตนมานั่งอยู่ในที่ตรงนี้ได้อย่างไร แต่ไม่ทันจะได้หายสงสัย ท่านก็ลืมขอสงสัยนี้ไป เมื่อได้เห็นบรรดาทูตสวรรค์ตัวน้อยอยู่ในห้องนั้น พวกท่านเหล่านั้นมีรูปลักษณ์เป็นเช่นเด็กน้อย สวมมงกุฎดอกไม้ มีเสื้อคลุมที่พลิ้วไหวไปมาคล้ายต้องลมในอากาศ บรรดาทูตสวรรค์ต่างพากันเต้นรำอย่างรื่นเริง ด้วยท่าทีที่สง่างามเกินมนุษย์ปุถุชน

คริสตาเรลโลทรงสยุมพรกับ ด.ญ. ลูชีอา

หนูน้อยลูชีอาจ้องมองภาพอัศจรรย์เบื้องหน้านี้ด้วยความสุขใจ พลันก็มีเสียงหนึ่งเรียกชื่อท่าน ดังขึ้นจากหน้าต่างด้านหลัง ท่านจึงหันไปด้วยความคิดว่าถ้าไม่เป็นคุณลุงก็คงเป็นคนใช้ในบ้านที่มาตามตัวท่านกลับ แต่ทันทีที่ท่านหันกลับไปมอง ท่านก็เห็นภาพอันน่าอัศจรรย์เสียยิ่งกว่าภาพเบื้องหน้า ท่านได้เห็นคริสตาเรลโลของท่านเสด็จมา มีพระนางมารีย์ประทับอยู่ทางด้านขวา และมีนักบุญแคทเธอรีน แห่ง ซีเอนา และนักบุญโดมินิก ผู้ก่อตั้งคณะโดมินิกันยืนอยู่ทางด้านซ้าย ทั้งสี่รายล้อมด้วยบรรดาทูตสวรรค์และนักบุญมากมาย ซึ่งต่างมีรัศมีแห่งสวรรค์สาดส่องออกมา พวกท่านเหล่านี้ไม่ได้มาเพียงเพื่อเยี่ยมเยียนหนูน้อยลูชีอา แต่มาเพื่อเป็นสักขีพยานใน ‘พิธีมงคลสมรสฝ่ายจิต’ ระหว่างคริสตาเรลโลและลูชีอา

ในพิธีอันน่าพิศวงนี้ พระนางมารีย์ได้ทรงนำมือน้อย ๆ ของลูชีอาไปมอบให้พระบุตร ฝั่งพระคริสตเจ้าก็ทรงบรรจงสวมแหวนวงน้อยลงไปในนิ้วของท่าน พร้อมได้ทรงมอบให้นักบุญโดมินิกและนักบุญแคทเธอรีนให้เป็นผู้คอยพิทักษ์ท่าน และด้วยความซื่อตามวัย ท่านก็ได้ทูลถามพระองค์ว่า “แล้วพระองค์จะมีอะให้ลูกมากกว่านี้ไหม พระองค์จะไม่ประทานเสื้อคลุมไหมพร้อมสร้อยเส้นงามให้ลูกหรือ” พระเยซูเจ้าจึงตรัสสอนท่านในทำนองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสมบัติภายนอก ท่านที่ได้ฟังเช่นนั้นจึงรีบถอดเสื้อคลุมไหมสีแดงรวมถึงสร้อยเส้นงามที่ท่านสวมตามแฟชั่นในสมัยนั้นออก แล้วนำไปวางแทบพระบาทของพระองค์ ซึ่งในขณะที่ท่านกำลังจะถอดเสื้อคลุมไหมออกนั้น นักบุญโดมินิกก็ได้สวมสายจำพวกคณะโดมินิกันให้ท่านตามคำสั่งของพระคริสต์เจ้า พระองค์ได้ตรัสกับท่านว่า “จงครองตนอยู่ในเครื่องแบบนี้ไปตราบสิ้นชีวิต และจงมองโดมินิก ผู้รับใช้ของเราเหมือนเป็นบิดา และมองแคทเธอรีน ภรรยาของเราเหมือนเป็นมารดาเถิด” แล้วนิมิตนั้นจึงอันตรธานหายไป


เมื่อนิมิตตรงหน้าหายไป ท่านหันกลับมายังบรรดาทูตสวรรค์ตัวน้อยเบื้องหน้า ที่ค่อย ๆ อันตรธานหายไปเป็นลำดับสุดท้าย เมื่อทุกอย่างกลับสู่สภาวะปกติท่านก็ได้พูดกับรูปเขียนทูตสวรรค์บนกำแพง ด้วยน้ำเสียงยินดีและซื่อ ๆ ว่า “บรรดาทูตสวรรค์น้อย ๆ ของฉัน พวกเธอจะไม่ร่วมยินดีกับสิ่งที่องค์พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงกระทำงั้นหรือ” พลันบรรดาภาพเขียนก็กลับมามีชีวิตอีกครั้ง และได้ตอบท่านกลับมาว่า พวกเขาทั้งหลายต่างยินดีที่ท่านได้กลายมาเป็นราชินีและนายหญิงของพวกเขา ด้วยฐานะคู่ชีวิตขององค์พระผู้เป็นเจ้าของพวกเขา หลังจากนั้นพวกเขาจึงได้เชื้อเชิญให้ท่านร่วมเต้นรำและขับขานบทเพลงแห่งความยินดีไปพร้อมกัน ท่านที่เห็นดังนั้นจึงได้ยื่นมือออกไป และได้ร่วมยินดีกับพวกเขาอย่างสนุกสนาน ท่านร้องเล่นเต้นระบำกับบรรดาทูตสวรรค์ตัวน้อยจนคุณลุงของท่านมาพบ นิมิตทุกอย่างจึงหายไป และนับตั้งแต่นั้นมาด้วยพระหรรษทานพิเศษจากสวรรค์ ยิ่งท่านเจริญวัยขึ้น ความปรารถนาของท่านต่อ ‘โลก’ ก็ยิ่งลดลงสวนทางกับความปรารถนาถึง ‘สวรรค์’ จนเมื่อท่านมีอายุได้ 12 ปี ท่านจึงตัดสินใจอย่างเด็ดขาดที่จะครองพรหมจรรย์ไปจนสิ้นชีวิต ด้วยการปฏิญาณตนเช่นนักบวช

กระทั่งท่านมีวัยย่างเข้า 14 ปี ซึ่งถือว่าอายุอานามพอจะออกเหย้าออกเรือนได้แล้ว ญาติหลายคนก็เริ่มเตือนให้ท่านเตรียมแต่งงานเหมือนหญิงสาวรุ่นราวคราวเดียวกัน แต่ท่านก็พยายามปฏิเสธอยู่ตลอด กระทั่งบิดาท่านมาด่วนสิ้นใจลงอายุเพียง 40 ปี ใน ค.ศ. 1490 คุณลุงที่เข้ามาเป็นหัวหน้าครอบครัวแทนบิดาของท่าน ก็เล็งเห็นว่าท่านมีอายุพอออกเรือนแล้ว และนี่ก็เป็นความปรารถนาอย่างยิ่งของนายบาร์โตโลเมโอ ที่จะเห็นบุตรสาวคนนี้ได้ออกเรือน รวมถึงเป็นจะเป็นการดีที่ท่านจะแต่งออกไป เพื่อลดภาระครอบครัวที่มีขนาดใหญ่ จึงได้ตัดสินใจที่จะให้ท่านเข้าพิธีสมรสโดยเร็วที่สุด ซึ่งแรก ๆ คุณลุงของท่านก็พยายามทาบทามผู้ชายจากตระกูลต่าง ๆ มาให้ท่านเลือก แต่ท่านก็ปฏิเสธอยู่ทุกครั้ง และยังคงยืนยันที่จะเข้าอารามเสียให้ได้

เคาท์ เปียโตร แห่ง อาเลซซีโอ

คุณลุงของท่านเมื่อเห็นว่าให้ท่านสมัครใจเลือกเอง ท่านคงไม่มีทางได้แต่งงานออกไปแน่ จึงได้จัดการเลือกผู้ชายคนหนึ่งในเมืองนาร์นี ซึ่งมีศักดิ์เป็นลูกบุญธรรมของคุณป้าของท่านให้มาเป็นสามีของท่าน และได้วางแผนคลุมถุงชนให้ท่านต้องยอมแต่โดยดี ชายที่คุณลุงของท่านเลือกก็คือ ‘เคาท์ เปียโตร แห่ง อาเลซซีโอ’ นักกฎหมายหนุ่มชาวมิลานวัย 22 ปี ผู้มีทั้งหน้าตาที่หล่อเหลา และฐานะทางสังคมที่ไม่ได้น้อยหน้าใคร โดยคุณลุงของท่านก็ได้ไปทาบทามเขาไว้โดยไม่แจ้งให้ท่านทราบล่วงหน้า และได้ทำทีเป็นจัดงานเลี้ยง โดยเชิญคนภายในตระกูลทุกคนมาร่วมรับประทานอาหาร แน่นอนด้วยความที่เปียโตรก็เป็นเสมือนหนึ่งคนในตระกูลอยู่แล้ว ท่านจึงไม่ได้เอะใจ เมื่อเห็นเขามาร่วมงานดังกล่าว และได้มาร่วมงานนั้นโดยไม่มีความกังขาใด

คุณลุงของท่านรอจนสบโอกาส เขาจึงประกาศการหมั้นระหว่างท่านกับเปียโตรในท่ามกลางแขกผู้มีเกียรติ เพื่อเป็นการกดดันให้ท่านต้องจำยอมรับหมั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ฝั่งท่านเคาท์หนุ่มที่มีจิตเสน่หาท่านเป็นทุนเดิม และทราบแผนทุกอย่างเป็นอย่างดีก็พยายามที่จะสวมแหวนหมั้นให้กับท่าน ฝั่งท่านเองที่ตกตะลึงกับเหตุการณ์ก็พยายามปัดป้องอย่างสุดฤทธิ์ ไม่ให้เขาได้สวมแหวนหมั้นลงบนนิ้ว แต่ที่สุดแล้วความพยายามของท่านก็ไร้ผล แหวนวงนั้นได้ถูกสวมที่นิ้ว ท่านที่ไร้ซึ่งทางเลือกใด เป็นลมหมดสติลงไป และถูกพากลับไปพักในห้อง ไม่นานท่านก็ล้มป่วยลงด้วยความตรอมใจ ท่านร้องไห้อยู่ตามลำพังด้วยความสับสน เพราะแท้จริงเปียโตรก็ไม่ใช่คนอื่นคนไกลจากท่าน ท่านจึงรู้จักมักคุ้นกับเขา และลึก ๆ แล้วในความรู้สึก ท่านก็เหมือนจะปันใจให้เขา เขาก็ไม่ได้แย่สำหรับท่าน แต่เมื่อระลึกอีกครั้งถึงคำปฏิญาณที่ให้ไว้ว่าจะครองตนเป็นพรหมจรรย์ตลอดชีวิต ท่านจะเข้าจะวิวาห์ได้อย่างไรเล่า


ท่านป่วยหนักด้วยความตรอมใจในความสับสนได้ระยะหนึ่ง แม่พระพร้อมด้วยนักบุญโดมินิก และนักบุญแคทเธอรีน แห่ง ซีเอนาก็ได้ประจักษ์มาหาท่านอีกครั้ง พระนางได้บอกให้ท่านเข้าพิธีแต่งงานกับเปียโตรไปตามกฏหมาย พร้อมทั้งให้แจ้งกับเขาเสียว่าท่านนั้นได้ถือปฏิญาณจะเป็นพรหมจรรย์ตลอดชีวิต และขอให้ถือพหรมจรรย์ต่อไปหลังจากสมรมแล้ว เมื่อท่านทราบน้ำพระทัยของพระเจ้าดังนี้แล้ว รุ่งขึ้นท่านก็หายจากอาการป่วย และได้แจ้งกับคุณลุงของท่าน ว่าท่านยินดีจะเข้าพิธีสมรสกับเปียโตร พร้อมกันนั้นท่านก็ยังได้แจ้งกับเปียโตรถึงเรื่องการปฏิญญาณตนถือพรหมจรรย์ของท่าน ซึ่งเขาก็ยินดีรับข้อเสนอที่จะให้เกียรติและไม่แตะต้องพรหมจรรย์ของท่าน ดังนั้นใน ค.ศ. 1491 ท่านในวัย 14 ย่าง 15 ปี จึงได้เข้าพิธีแต่งงานกับท่านเคาท์ เปียโตร และกลายเป็น ‘เคาท์เตส ลูชีอา แห่ง อาเลซซีโอ’ ตามกฎหมาย

บทบาทใหม่ในฐานะ ‘นายหญิง’ ของบ้านหลังใหญ่ ทำให้ท่านมีภาระงานต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นเท่าตัว ซึ่งท่านก็สามารถจัดการได้อย่างดี ท่านไม่เพียงแต่ออกปากสั่งบรรดาคนใช้ให้ทำหน้าที่ต่าง ๆ แต่ท่านก็ช่วยพวกเขาทำงานเหล่านั้นด้วย ท่านสวมผ้ากันเปื้อนอย่างไม่เคอะเขินเพื่อลงมือช่วยสาวใช้ในบ้านทำงานต่าง ๆ ซึ่งรวมไปถึงการซักผ้า และงานที่น่าเบื่ออื่น ๆ การวางตัวของท่านเป็นประหนึ่ง ‘มารดา’ มากกว่า ‘นายหญิง’ ในท่ามกลางพวกเขา ท่านคอยระแวดระวังไม่ให้พวกเขาทำผิด ทั้งต่อหน้าที่ผู้รับใช้และต่อพระเป็นเจ้า ท่านคอยตักเตือนเสมอไม่ให้สบถสาบานหรือกล่าวผรุสวาทถึงพระเป็นเจ้า และหมั่นปฏิบัติศาสนกิจ ทำให้บ้านหลังใหญ่ของท่านจึงเปี่ยมไปด้วยความสงบ ต่างจากบ้านหลายหลังในยุคเดียวกัน


และแม้จะมีภาระงานภายในบ้านอยู่มากมาย ท่านยังสามารถหาเวลาว่างจากภาระงานเหล่านั้นไปประกอบกิจการเมตตาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการสอนคำสอนให้กับคนงาน การช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก ซึ่งสามีของท่านก็ไม่ได้ว่าอะไรที่ภรรยาคนนี้จะนำเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มหรืออาหารไปมอบให้ผู้ยากไร้ตามประสงค์ บางโอกาสท่านยังให้ไปดูแลผู้ป่วยที่ไม่มีใครดูแล จัดเตรียมขนมปังสำหรับผู้หิวโหย และมีครั้งหนึ่งท่านช่วยจัดหาสินสอดทองหมั้นให้หญิงชาวยิวที่กลับใจมานับถือศาสนาคริสต์อีกด้วย

นอกจากนี้แล้วท่านยังเจริญชีวิตอย่างศักดิ์สิทธิ์เหมือนนักบวชหญิงในอาราม ท่านครองตนเป็นพรหมจรรย์อย่างเคร่งครัดภายหลังแต่งงาน ท่านมักอดอาหารและรับประทานเพียงน้ำและขนมปัง ท่านทำพลีกรรมทรมานร่างกายอย่างร้อนรน สวมเข็มขัดตะขอไว้ใต้ชุดอันสวยงาม สวดสายประคำระหว่างทำงานประจำวัน ระวังตนไม่ให้พูดคำหยาบคาย และใช้เวลาส่วนใหญ่ของกลางคืนหมดไปกับการสวดภาวนา เมื่อถึงวันพฤหัสบดีศักดิ์สิทธิ์ ท่านเลียนแบบพระสวามีเจ้าของท่านด้วยการล้างเท้าให้กับบรรดาคนงานทุกคนในบ้าน และในช่วงเทศกาลปัสกา ในเวลารับประทานอาหารพร้อมหน้ากันทั้งครอบครัว ท่านก็ให้มีการอ่านประวัตินักบุญหรือพระคัมภีร์ไปด้วย วัตรปฏิบัติอันน่าเลื่อมใสนี้ของท่านเป็นอยู่ภายใต้ความรับรู้ของท่านเคาท์ เปียโตรโดยตลอด ซึ่งด้วยความรักเขาก็ยินยอมให้ท่านปฏิบัติทุกสิ่งตามที่ท่านปรารถนา โดยไม่ได้เข้ามายุ่งวุ่นวาย


คนงานภายในบ้านท่านต่างเคารพและเชื่อฟังท่านโดยไม่มีข้อกังขา พวกเขามักจะพูดติดปากกันเสมอว่า “ระวัง คุณผู้หญิงท่านเห็นนะ” เพราะหลายครั้งท่านสามารถทราบหยั่งรู้ได้ว่า คนงานคนใดภายในบ้านทำอะไรนอกลู่นอกทาง มีครั้งหนึ่งระหว่างท่านไปร่วมมิสซา คนงานบางคนในบ้านของท่าน ก็จัดการฆ่าไก่ตอนสองตัวแล้วนำไปย่างไฟเพื่อรับประทานอย่างเอร็ดอร่อย แต่ไม่ทันจะได้รับประทานจนหมด ท่านก็กลับมาจากวัดพอดี พวกเขาจึงรีบเอาเศษไก่ตอนที่ปรุงแล้วไปซ่อนไว้ใต้เตียง ฝั่งท่านที่หยั่งรู้ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงได้ถามพวกเขาว่าไก่พวกนั้นหายไหน คนงานกลุ่มนั้นจึงได้ตอบว่าพวกมันบินหนีไป ท่านที่ได้ยินคำตอบจึงได้เดินเข้าไปในห้องพักของคนงานกลุ่มนั้นและได้เรียกไก่ที่หายไป ทันใดนั้นเจ้าไก่ที่ถูกย่างก็กลับมามีชีวิต และกระโดดขึ้นมาจากใต้เตียง สร้างความประหลาดใจให้กับทุกคนในที่นั้น รวมถึงท่านเคาท์เปียโตร สามีของท่าน ซึ่งในเวลาต่อมาก็ยังได้เป็นประจักษ์พยานถึงเรื่องนี้อยู่หลายครั้ง

เรื่องอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นกับท่านภายในบ้านท่านเคาท์ เปียโตรยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ครั้งหนึ่งมีคนงานช่างฟ้องได้มาแจ้งกับท่านเคาท์เปียโตรว่า เขาเห็นนายหญิงกำลังหยอกล้ออยู่กับชายรูปงามผู้หนึ่ง ด้วยท่าทางสนิมสนมกันประหนึ่งเป็นสหายเก่าสหายแก่ ฝั่งเปียโตรเมื่อได้ยินว่าภรรยาตนกระหนุงกระหนิงอยู่กับชายสองต่อสอง เพื่อพิสูจน์ความจริงเขาจึงได้รีบรุดไปยังที่แห่งนั้นพร้อมด้วยดาบในมือ แต่เมื่อไปถึงที่หมายเขาก็ต้องประหลาดใจ เมื่อพบเพียงท่านกำลังเพ่งพิศยังไม้กางเขนใหญ่อันหนึ่ง และต้องประหลาดใจยิ่งขึ้นไปเมื่อคนงาน แจ้งกับเขาว่าชายหนุ่มปริศนาที่ว่าละม้ายคล้ายพระเยซูเจ้าบนไม้กางเขนไม่มีผิด และนอกจากเรื่องนี้แล้ว ยังมีเรื่องเล่ากันอีกว่าในโอกาสอื่น คนงานภายในบ้านท่านก็เห็นว่า เมื่อท่านลงมือทำขนมปังให้คนยากไร้ นักบุญแคทเธอรีน แห่ง ซีเอนา นักบุญอักแนส มรณสักขี และนักบุญอักแนส แห่ง มอนเตปุลชีอาโน ก็ได้ประจักษ์มาช่วยท่านอีกแรงด้วย

"...ฑูตสวรรค์ได้มาสวมมงกุฏดอกไม้ให้ท่านแล้ว"

เรื่องอัศจรรย์ของคุณหญิงตระกูลอาเลซซีโอยังไม่หมดเพียงเท่านี้ คราวหนึ่งหญิงคนงานของท่านซึ่งนำพรมไปซักที่แม่น้ำไม่ไกลจากตัวบ้าน ได้เกิดพลัดตกลงไปในแม่น้ำและจมหายไป ท่านที่ทราบเหตุการณ์จึงได้ทำสำคัญมหากางเขนเหนือลำน้ำ พลันร่างของหญิงผู้โชคร้ายก็โผล่พ้นน้ำขึ้นมาที่ใกล้ฝั่งในสภาพปลอดภัย และนอกจากคนงานภายในบ้านและสามีของท่านจะได้เป็นประจักษ์พยานถึงความหัศจรรย์ของท่านแล้ว คนรอบข้างท่านหลายคนก็ได้เป็นประจักษ์พยานถึงความอัศจรรย์เวลาในอยู่ในห้วงของการภาวนา ไม่ว่าจะเป็นลูกบุญธรรมของท่าน 2 คน ที่ได้แลเห็นทูตสวรรค์สององค์สวมมงกุฏดอกกุหลาบอันปราณีตบนศีรษะของท่าน จนพวกเขาพากันร้องไห้ออกมาตามประสาเด็กน้อย เพราะคิดว่า “คุณแม่ของพวกเราคงจะอยู่กับพวกเราอีกไม่นานแล้ว เพราะทูตสวรรค์ได้มาสวมมงกุฏดอกไม้ให้ท่านแล้ว” หรือสัตบุรุษที่ไปร่วมมิสซาพร้อมกับท่าน หลายคนก็ได้เห็นว่าเมื่อท่านรับศีลแล้ว บางครั้งก็ปรากฏมีเสาไฟอยู่เหนือศีรษะของท่าน แต่บางคราวใบหน้าของท่านก็กลับแผ่รัศมีออกมาคล้ายดวงอาทิตย์

ท่านครองเรือนอยู่กับท่านเคาท์เปียโตรได้ 3 ปี สามีของท่านก็เริ่มหมดความอดทนกับพฤติกรรมของท่าน โดยเฉพาะการครองพรหมจรรย์ ครั้งแรกด้วยความรักท่านเคาท์หนุ่มหวังว่าสักวันท่านจะล้มเลิกความตั้งใจนี้ เมื่อได้เห็นความรักที่เขามีให้ท่าน เขาจึงยอมตกลงรับข้อเสนอของท่านที่จะไม่หลับนอนกับท่านหลังแต่งงาน แต่เมื่อนานเข้าท่านก็ไม่มีทีท่าว่าเหตุการณ์จะดำเนินไปเช่นนั้น เช่นเดียวกับท่านที่หลังแต่งงานมาได้ 3 ปี ท่านก็ปรารถนาอย่าวแน่วแน่ว่าจะเจริญชีวิตเป็นนักพรตอย่างจริงจัง ดังนั้นในคืนวันหนึ่งท่านจึงได้หนีไปยังอารามคณะฟรังซิสกัน แต่เมื่อไปถึงก็ปรากฏว่าอารามได้ปิดไปเสียแล้ว ดังนั้นท่านจึงจำต้องกลับบ้านมาในเช้าวันถัดมา โดยมีนักบุญโดมินิกและนักบุญยอห์น ผู้ทำพิธีล้างเดินมาส่ง


ด้วยความเหลืออดของเปียโตร เมื่อเห็นภรรยาของตนกลับมาพร้อมชายปริศนาสองคน หลังจากหายออกไปจากบ้านตลอดทั้งคืน ก็บันดาลโทสะทุบตีบังคับให้ท่านยอมหลับนอนกับเขา ตามหน้าที่ของภรรยาพึงปฏิบัติต่อสามี แต่ท่านก็ยืนกรานปฏิเสธที่จะทำดังนั้น เพราะท่านยึดมั่นในคำปฏิญาณของท่าน พระเยซูเจ้าคือสามีเพียงคนเดียวของท่าน เปียโตรเมื่อเห็นว่าท่านไม่ยอมตามความประสงค์ของตน ดังคำโบราณที่ว่ายิ่งรักเท่าไรก็ยิ่งแค้นเท่านั้น เขาจึงจับท่านไปขังไว้ในห้องไม่ให้ออกไปไหน แต่โชคยังดีที่คนงานบางคนเห็นใจท่านคอยส่งข้าวส่งน้ำให้ท่านอยู่ตลอด กระทั่งพ้นช่วงมหาพรตไป สามีของท่านจึงยอมให้ท่านไปมิสซาวันปัสกาที่วัดได้ ท่านจึงได้ฉวยโอกาสนั้นกลับไปหามารดาของท่าน และในวันสมโภสปัสกา ค.ศ. 1494 ซึ่งตรงกับวันที่ 8 พฤษภาคม ท่านในวัยย่างเข้า 18 ปี จึงได้รับเครื่องแบบคณะโดมินิกัน เพื่อเข้าเป็นสมาชิกขั้นสาม (ฆราวาส) และตัดสินใจอย่างแน่วแน่ว่าจะไม่กลับไปบ้านของท่านเคาท์เปียโตรอีก

แต่หนทางหลังจากนั้นก็ไม่ได้เป็นไปอย่างเรียบง่าย เพราะการที่ท่านกลับมาอยู่บ้านและสวมเครื่องแต่งกายแบบนักบวชหญิง สร้างความไม่สบายใจไม่น้อยให้กับน้อง ๆ ของท่าน ไม่เพียงเท่านั้นฝั่งสามีของท่านเอง เมื่อทราบว่าสมัครเข้าคณะโดมินิกัน เขาก็ได้จัดการเผาวัดที่ท่านไปถวายตัว ทั้งยังพยายามที่จะฆ่าคุณพ่อวิญญาณของท่าน ซึ่งเป็นคนมอบเครื่องแบบคณะให้ท่าน และเริ่มใช้อิทธิพลที่มีในเมืองนาร์นีบีบให้ท่านต้องกลับมาอยู่กับเขาดังเดิม ทำให้ครอบครัวโบร์กาเด็ลลีตกอยู่ในสภาวะตึงเครียดไม่น้อย แต่ที่สุดเพื่อแก้ปัญหาทั้งหลายครอบครัวของท่านจึงตัดสินใจส่งท่านไปอยู่อารามนักบวชขั้นสามของคณะโดมินิกันชื่อ อารามนักบุญแคทเธอรีน แห่ง ซีเอนา ซึ่งเป็นสถานที่เดียวกับที่ท่านนักบุญแคทเธอรีนได้สิ้นใจลง ใกล้วิหารปันเธโอน ในกรุงโรมในปีต่อมา


ต้นปี ค.ศ. 1495 ท่านเดินทางมาถึงบ้านหลังใหม่ด้วยความยินดี และได้เจริญชีวิตอย่างศักดิ์สิทธิ์ด้วยวัตรปฏิบัติที่เคร่ดครัดเป็นที่น่าเลื่อมใสของบรรดาซิสเตอร์ร่วมอารามเดียวกัน ที่อารามแห่งนี้ท่านเริ่มมีปรากฏการณ์เข้าฌานเป็นเวลานานถึงเจ็ดชั่วโมงบ้าง แปดชั่วโมงบ้าน และมากที่สุดถึงยี่สิบชั่วโมง แต่ไม่วายความสุขของท่านก็อยู่ได้ไม่นาน เพราะเมื่อสามีของท่านทราบว่าท่านอยู่ที่กรุงโรม อารามนักบุญแคทเธอรีนที่ท่านพำนักจึงตกอยู่ในอันตราย สืบเนื่องมาจากท่านเคาท์เปียโตรนั้นมีเส้นสายอำนาจและสหายอยู่ในกลุ่มผู้มีอำนาจใจโรม ดังนั้นภายหลังท่านย้ายมาอยู่กรุงโรมได้ไม่นาน คุณพ่อโยอากิม ตูร์รีอาโน เจ้าคณะใหญ่คณะโดมินิกัน จึงตัดสินใจให้ท่านร่วมเดินทางไปยังเมืองวิเตร์โบ พร้อมกับซิสเตอร์อีกห้าคนเพื่อปฏิรูปอารามที่มีอยู่ เพื่อความปลอดภัยของทั้งท่านและอารามที่กรุงโรม

ดังนั้นในปลายเดือนมกราคม ค.ศ.1496 ท่านในวัย 19 ปี จึงเดินทางจากอารามนักบุญแคทเธอรีน มายังอารามนักบุญโทมัส เมืองวิเตร์โบ ไม่นานหลังจากนั้นในเช้าวันศุกร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ ปีเดียวกัน ขณะท่านขับบทมีเซรเรเรพร้อมกับสมาชิกในอารามนับจำนวนได้ 24 ท่านภายในส่วนภาวนาของอาราม ท่านก็นิ่งไปและเข้าสู่สภาวะฌาน ท่านเริ่มร้องไห้ไม่หยุด เพราะพระเป็นเจ้าได้ทรงให้ท่านได้เข้าส่วนในพระมหาทรมานของพระองค์ กระทั่งถึงช่วงที่ทหารจับพระองค์ตรึงกางเขน ท่านก็กล่าวออกมาว่า “ลูกเห็นพระองค์ องค์พระผู้เป็นเจ้าของลูก ถูกยกขึ้นและตรึงไว้ด้วยตะปู … ลูกปรารถนาจะยิ่งจะถูกตรึงกางเขนไปพร้อมพระองค์ โปรดประทานแม้เพียงเสี้ยวหนึ่งของทัณฑ์โทษของพระองค์ให้กับลูก ที่เท้าทั้งสอง มือทั้งสอง และหัวใจของลูกนี้ ขอให้รอยแผลนี้ตลอดถึงความเจ็บปวดของพระองค์สถิตอยู่ในตัวลูกนี้ด้วยเถิด”

"พระชนนีพระเจ้า เกิดอะไรขึ้นกับมือของซิสเตอร์"

ท่านในสภาวะเข้าฌาน กล่าวย้ำความตั้งใจเดิมซ้ำไปซ้ำมาอยู่หลายครั้ง ซิสเตอร์ดีอัมบราสังเกตเห็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับท่าน ซิสเตอร์จึงได้รีบเข้าไปใกล้เพื่อหวังจะช่วยพยุงตัวท่านที่ดูจะไม่ไหว ทันทีซิสเตอร์ดีอัมบราก็ต้องอุทานขึ้นมาด้วยความประหลาดใจว่า “พระชนนีพระเจ้า เกิดอะไรขึ้นกับมือของซิสเตอร์” เพราะเธอได้เห็นว่ามือของท่านมีลักษณะที่ผิดรูป คล้ายว่ากระดูกของท่านเคลื่อน ฝั่งท่านที่อาการไม่สู้ดี แต่ก็พยายามฝืนทำว่าไม่เป็นอะไรมากก็ตอบกลับอย่างแผ่วเบาว่า “ไม่มีอะไรหรอกค่ะ เดี๋ยวกลับไปพักผ่อนก็หายแล้วค่ะ” แต่ไม่นานด้วยความเจ็บปวดที่ทวีขึ้นเรื่อย ๆ ท่านก็เป็นลมหมดสติไป ดังนั้นท่านจึงถูกพาตัวกลับมาที่ห้องพักเป็นการด่วน

เมื่อท่านถูกนำมาพักในห้องพัก บรรดาซิสเตอร์ได้พยายามเรียกสติของท่านให้กลับมา แต่ก็ใช้เวลาร่วมชั่วโมงท่านจึงคืนสติและได้รับศีลมหาสนิท ทุกคนจึงคลายความกังวลใจ ยกเว้นซิสเตอร์ดีอัมบราที่เฉลียวใจได้ว่า จะต้องมีอะไรบางอย่างเกิดขึ้นกับท่านในขณะขับบทมีเซรเรเรเป็นแน่ เธอจึงได้เฝ้าสังเกตที่มือของท่าน และได้เห็นว่ามือของท่านมีลักษณะซีดเซียวลง ที่ผิวเริ่มมีรอยแยกและอักเสบ และเมื่อถึงช่วงสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ปีเดียวกันบาดแผลทั้งห้าได้แก่ บาดแผลที่มือทั้งสองข้าง บาดแผลที่เท้าทั้งสองข้าง และบาดแผลที่สีข้างคล้ายของพระเยซูเจ้า หรือที่เรียกว่า ‘รอยแผลศักดิ์สิทธิ์’ ก็ได้ปรากฏชัดขึ้นบนร่างกายของท่าน และเริ่มมีเลือดไหลออกมาอยู่เรื่อย ๆ จนไม่อาจปกปิดได้อีกต่อไป บรรดาซิสเตอร์เมื่อเห็นว่าดูคล้ายคนจะสิ้นใจลงไปทุกที จึงได้เชิญให้มารดาของท่านพร้อมด้วยคุณพ่อวิญญาณารักษ์ของท่านจากเมืองนาร์นีให้มาดูใจท่านเป็นครั้งสุดท้าย แต่เมื่อพ้นสัปดาห์ดังกล่าวมา ท่านก็หายเป็นปกติ และนับตั้งแต่นั้นมาท่านก็มีรอยแผลที่สังเกตได้ทั้งห้าตำแหน่ง และเริ่มมีสภาวะเข้าฌานบ่อยครั้งขึ้น


“ในหลายโอกาส ขณะเธออยู่ในสภาวะแห่งฌานในวิญญาณ … ดูคล้ายกับเธอนั้นอยู่ใกล้กับกองเพลิงขนาดยักษ์ และเธอได้กล่าวว่า เธอไม่อาจจะทนต่อความร้อนแรงของไฟนี้ได้ … ในสภาวะแห่งฌานเหล่านี้เธอสนทนากับพระเยซูคริสตเจ้า ผู้เป็นคู่ชีวิตของเธอ เธอโมทนาคุณพระเป็นเจ้าสำหรับพระพรนานาประการที่เธอได้รับ นี่คือตัวอย่างคำที่เธอเอ่ย ‘องค์พระผู้เป็นเจ้าและพระเจ้าของลูก พระองค์ทรงเป็นใคร แล้วลูกเล่านั้นเป็นใคร พระองค์คือผู้สร้างจักรวาล คือองค์ความดีสูงสุด และลูกนั้นก็เป็นเพียงคนบาปหนา’ และเมื่อพระคริสตเจ้ากำลังจะทรงละจากเธอไป เธอจะวอนขอให้พระองค์อวยพรให้เธอ เธอจะเรียกพระองค์ว่า เจ้านายที่รัก และคู่ชีวิต เธอยังเรียกนักบุญโดมินิกว่า คุณพ่อที่รัก เรียกพระนางพรหมจารีย์ว่า คุณแม่ผู้ประเสริฐ เรียกนักบุญแคทเธอรีน แห่ง ซีเอนา ว่า คุณแม่ที่รัก”

ข่าวเรื่องท่านได้รับรอยแผลแบบเดียวกับองค์พระเยซูเจ้าบนไม้กางเขน ไม่ช้าก็แพร่สะพัดไปทั่วเมืองวิเตร์โบ แม้ว่าท่านจะพยายามเก็บซ่อนเรื่องนี้ไว้เป็นความลับ ทำให้ท่านกลายเป็นที่จับจ้องของทุกสายตา ไม่ว่าท่านจะไปทางไหน ชาวเมืองต่างพากันมายังอารามเพื่อพบท่าน บ้างมาเพื่อซักถามด้วยความอยากรู้ แต่บ้างก็มาเพียงเพื่อดูท่าน และเพื่อพิสูจน์ว่ารอยแผลเหล่านี้เป็นเครื่องหมายจากสวรรค์ ไม่ใช่เรื่องอุปโลกน์ ครั้งหนึ่งบรรดาซิสเตอร์จึงได้ไปเชิญพระสังฆราชประจำเมือง ให้มาเฝ้าดูท่านที่กำลังร่วมส่วนอยู่ในพระมหาทรมานของพระคริสตเจ้าเป็นเวลานานถึง 12 ชั่วโมง พร้อมกับซิสเตอร์ท่านอื่น ๆ ภายในอาราม


แม้จะได้เฝ้าสังเกตการณ์ท่าน พระสังฆราชแห่งวิเตร์โบก็ยังไม่กล้ารับรองอย่างเต็มปากว่านี่คือเครื่องหมายจากสวรรค์ ดังนั้นท่านจึงให้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบปรากฏการณ์นี้โดยละเอียด โดยมีแพทย์ท้องถิ่นเขาร่วมในการตรวจครั้งนี้ หลังจากนั้นจึงมีการตรวจสอบท่านเป็นครั้งที่สอง โดยพระสงฆ์คณะโดมินิกัน ชื่อ โยวันนี กาญญัสโซ เด ตาบี หนึ่งในคณะผู้ไต่สวนจากศาลศาสนาแห่งเมืองโบโลญญาที่มีเป็นที่นับหน้าถือตา ผลการตรวจสอบทั้งสองครั้งจากทั้งทางการแพทย์และเทววิทยาต่างยืนยันว่า รอยแผลศักดิ์สิทธิ์ที่ท่านได้รับไม่ได้เป็นเรื่องอุปโลกน์ขึ้น และเป็นกิจการของพระเจ้า ไม่ใช่การหลอกลวงของปีศาจ

เรื่องราวชีวิตอัศจรรย์ของบุญราศีลูชีอา ยังไม่จบลงแต่เพียงเท่านี้ ในตอนต่อไป เมื่อท่านได้รับรอยแผลศักดิ์สิทธิ์แล้ว ชีวิตของท่านจะดำเนินต่อไปอย่างไร เพราะในเวลานี้ปัญหาระหว่างท่านกับนายเปียโตรก็ยังมิได้จบลงอย่างเด็ดขาด และในเวลาเดียวกัน 'พระพรพิเศษ' ที่ได้รับการรับรองว่าเป็นกิจการจากสวรรค์ ก็กำลังจะนำกางเขนใหญ่มาสู่ชีวิตของท่าน โดยเฉพาะในช่วงบั้นปลายที่พระพรดังกล่าวถูกตั้งคำถามจากคนรอบข้าง ท่านจะสามารถผ่านปัญหาเหล่านี้ไปได้อย่างไร ติดตามต่อใน 'ลูชีอา' หมดใจนี้มอบพระองค์ ตอนจบ (คลิกที่ลิ้งค์ได้เลย)


"ข้าแต่ท่านบุญราศีลูชีอา แห่ง นาร์นี ช่วยวิงวอนเทอญ"

รายการอ้างอิง

Bernardo Sastre Zamora. La reina Lucy, de las Crónicas de Narnia, existió de verdad y era dominica. accessed July 19, 2021. available from https://www.dominicos.org/noticia/lucy-cronicas-de-narnia-dominica/
Blessed Lucy of Narni. accessed July 19, 2021. available from https://catholicsaints.info/blessed-lucy-of-narni/
Blessed Lucy of Narnia. accessed July 19, 2021. available from http://www.narnia.it/lucia_eu.htm
Franco Mariani. Beata Lucia (Broccadelli) da Narni. accessed July 20, 2021. available from http://www.santiebeati.it/dettaglio/90818
Georgiana Fullerton. Blessed Lucy of Narnia. accessed August 2, 2021. available from http://www.narnia.it/lucia1_eu.htm
Lucia Broccadelli da Narni. accessed July 18, 2021. available from https://it.wikipedia.org/wiki/Lucia_Broccadelli_da_Narni
Lucy Brocadelli. accessed July 18, 2021. available from https://en.m.wikipedia.org/wiki/Lucy_Brocadelli
Roberto Tarquini. Lucia da Narni. accessed August 2, 2021. available from https://cattedraledinarni.weebly.com/lucia-da-narni---don-roberto-tarquini.html
Stephen Bullivant. The real Blessed Lucy of Narnia was even more amazing than CS Lewis’s imagination. accessed July 19, 2021. available from https://catholicherald.co.uk/the-real-blessed-lucy-of-narnia-was-even-more-amazing-than-cs-lewiss-imagination/

วันศุกร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2565

'ริตา' ชีวิตนี้แล้วแต่พระ ตอนจบ


นักบุญริตา แห่ง กาสชา
St. Rita of Cascia
ฉลองในวันที่ : 22 พฤษภาคม
องค์อุปถัมภ์ : การหลงหายไป , เหตุการณ์เป็นไปไม่ได้ , ผู้ป่วยยาก , บาดแผล , ปัญหาชีวิตคู่ , มารดา

เมื่อทุกอย่างเข้าที่เข้าทางแล้ว คืนหนึ่งขณะท่านกำลังสวดภาวนาอยู่ที่ก้อนหินบนเขาหินสูงตระหง่านใกล้หมู่บ้านร๊อกกา ปอร์เรนา ซึ่งเป็นที่ลับของท่าน ท่านก็ผลอยหลับไป และฝันว่าท่านถูกปลุกให้ตื่นจากห้วงเวลาระหว่างท่านกับพระเจ้าด้วยเสียงเคาะประตู ท่านจึงลุกออกไปดูและก็ไม่พบใคร ดังนั้นท่านจึงกลับมาสวดต่อ แต่ท่านก็ได้ยินเสียงเคาะประตูอีกครั้ง แต่คราวนี้มีเสียงหนึ่งเอ่ยขึ้นตามมาด้วยว่า “ริตา ริตา อย่ากลัวเลย องค์พระเจ้าจะทรงรับเธอเข้าอารามในฐานะเจ้าสาวของพระองค์”

บัดนั้นท่านจึงแลเห็นนักบุญยอห์น บัพติสต์ อยู่เบื้องหน้าท่าน นักบุญยอห์นกล่าวต่อไปว่า “มาสิ ริตา ที่รักของฉัน บัดนี้คือเวลาที่เธอจะได้เข้าอารามมัดเดลีนาซึ่งประตูได้ปิดกั้นเธอไว้” ท่านจึงลุกขึ้นตามนักบุญยอห์น บัพติสต์ออกไป และขณะติดตามนักบุญยอห์น บัพติสต์ไป นักบุญออกัสติน และนักบุญนิโกลัส แห่ง โตเลนติโน ก็ประจักษ์มาสมทบท่ามกลางแสงสว่าง ซึ่งส่องเรืองออกมาจากตัวทั้งท่านทั้งสอง ท่านเอง ที่เห็นเช่นนั้นจึงรีบคุกเข่าลงเบื้องหน้าทั้งสามและกล่าวขอบคุณสำหรับความเมตตาที่ทั้งสามมอบให้ท่าน ฝั่งทั้งสามจึงสั่งให้ท่านลุกขึ้นและตามพวกเขามา


ท่านจึงลุกขึ้นและตามนักบุญทั้งสามมาจนถึงอารามมัดเดลีนา และแม้ประตูอารามจะลงกลอนไว้อย่างแน่นหนา นักบุญทั้งสามก็สามารถพาท่านผ่านเข้าไปจนถึงตรงบริเวณระเบียงคดกลางอารามได้อย่างง่ายดาย ซึ่งเมื่อมาถึงในอารามแล้ว นักบุญทั้งสามก็ได้เอ่ยกับท่านว่า “ริตา จงครองตนเป็นดั่งผึ้งผู้มีเหตุผลในสวนของเจ้าบ่าว ผู้ที่เธอรักอย่างรุกร้อนมานานแสนนาน เพื่อว่าผ่านการเก็บสะสมดอกไม้แห่งคุณธรรมนานา เธอจะได้สร้างรังอันแสนหอมหวาน บัดนี้เธอได้อยู่ในบ้านของเจ้าบ่าวของเธอ องค์พระเยซูเจ้าแล้ว จงรักพระองค์ด้วยสุดใจและสุดวิญญาณ และความรอดนิรันดร์ของเธอจะถูกประกันไว้ จงโมทนาคุณพระเจ้าสำหรับกิจการชอบธรรมที่ทำในนามของเธอ จงสรรเสริญพระเมตตาอันมิรู้สิ้นสุดของพระองค์ และประกาศให้โลกรู้ว่าไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้สำหรับพระเจ้า ริตา สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ก็คือเอาชนะนามของเธอ”

พูดเสร็จทั้งสามก็อันตรธานหายไป ท่านจึงใช้เวลาที่เหลือตลอดคืนไปกับการโมทนาคุณพระเจ้า กระทั่งตะวันของวันใหม่โผล่ขึ้น ทั้งอารามก็จึงออกมาพบท่าน และแน่นอนซิสเตอร์ทุกคนก็ต่างพากันประหลาดที่ออกมาจากห้องพัก และพบท่านอยู่ในนี้เพราะประตูอารามก็ยังคงลงดาลแน่นหนาเช่นเดิม ดังนั้นท่านจึงเล่าเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นเมื่อคืนให้บรรดาซิสเตอร์ในอารามฟัง ฝั่งซิสเตอร์ทุกคนเมื่อทราบเรื่องทั้งหมดแล้ว ก็ต่างพร้อมใจต้อนรับท่านเข้ามาเป็นหนึ่งในสมาชิก พร้อมทั้งขอโทษขอโพยสำหรับหลาย ๆ ครั้งที่ปฏิเสธท่านไป

สถานที่เชื่อกันว่าเป็นที่ตั้งบ้านที่นักบุญริตาอาศัยภายหลังแต่งงาน

แต่ก่อนท่านจะเข้าอาราม ท่านก็กลับไปบ้านที่ร๊อกกา ปอร์เรนา และได้ไปพบกับทนายที่รู้จักกันดี คือ นายโดเมนิโก อังเยลี เพื่อให้เขารับภาระขายบ้านพร้อมทรัพย์สินของท่าน “แต่ริตา เธอยังไม่ทันได้ถวายตนเลยนะ รอไปก่อนดีไหม เธอจะได้ลองคิดดี ๆ ” เขารีบแย้งอย่างฉงน เมื่อทราบความต้องการท่าน ซึ่งจริง ๆ ลึกแล้ว ท่านก็ยังคงมีเสียงถามตัวเองอยู่บางครั้งว่า “จะเป็นอย่างไรถ้าฉันกลับไปบ้าน กลับไปโลกภายนอก” แต่ท่านก็ตระหนักดีว่ากระแสเรียกต้องมาก่อน และวางใจในการทรงนำของพระเจ้า ดังนั้นท่านจึงสั่งเขาว่า “ขายให้หมด และเอาเงินที่ได้ไปซื้อขนมปังให้คนจน” พร้อมถอดแหวนแต่งงานส่งให้เขาไป

หลังจากท่านจึงย้อนกลับมาอาราม และได้เข้าพิธีรับเครื่องแบบคณะ เพื่อเข้าเป็นนวกะของคณะออกัสติเนี่ยน ณ อารามมัดเดลีนา ด้วยอายุขณะนั้นคือ 30 ปี และในฐานะนวกะ ไม่ว่าจะได้รับมอบหมายงานใดมา ไม่ว่าจะงานปอกเปลือกมันฝรั่ง ซักผ้า ล้างจาน ขุดดินหรือล้างโถปัสสาวะ (สมัยก่อนนิยมมีโถไว้ใช้ปัสสาวะที่พกพาได้) ท่านก็อดทนและนบนอบต่อคำสั่งดุจเดียวกับคนใช้ จนบางครั้งมือของท่านถึงกับแดงกล่ำ บวม แตก และมีเลือดออก เพราะท่านมอบทุกสิ่งไว้เพื่อพระเยซูเจ้า ดังนั้นท่านจึงมีความสุขยิ่งที่จะได้รับทุกข์ทรมานไปพร้อมกับพระองค์ และเพื่อพระองค์ จนเมื่อถึงเวลาอันควร ท่านก็เข้าพิธีปฏิญาณตนเป็นซิสเตอร์คณะออกัสติเนี่ยน ภายใต้ศีลบนสามประการคือนบนอบ ยากจน และพรหมจรรย์อย่างเต็มตัว


และในฐานะซิสเตอร์ของอาราม ท่านก็แสดงออกชัดถึงความมีเมตตาของท่านต่อผู้ยากไร้ทุกคนที่แวะมาเคาะประตูของอาราม โดยบางครั้งท่านก็จะเอาอาหารที่ท่านได้รับในแต่ละมื้อมามอบให้พวกเขา เช่นครั้งหนึ่งเมื่อท่านพบว่ามีคนชราคนหนึ่งต้องอาศัยอยู่แต่ลำพังใกล้อาราม ท่านก็แบ่งอาหารเล็กน้อยไปให้อย่างไม่เคยหวง

นอกจากนี้ท่านยังอ้าแขนของท่านออก เพื่อผู้มีปัญหาเรื่องวิญญาณอีกด้วย ท่านมักใช้เวลาส่วนใหญ่ในห้องรับแขกของอาราม ไปกับการพูดคุยกับบรรดาสตรีที่เจ็บป่วยด้วยโรคภัย สตรีที่ถูกรังแก สตรีชราผู้ถูกทอดทิ้ง สตรีแรกรุ่นที่ชีวิตกำลังประสบปัญหา และมารดาผู้มีข้อข้องใจหรือไร้ที่พึ่ง ซึ่งต่างแวะเวียนกันมาขอให้ท่านสวดให้บ้าง ปรึกษาท่านบ้าง เพราะต่างทราบดีว่าซิสเตอร์ผู้นี้ คือ ผู้เชี่ยวชาญยิ่งในเรื่องปัญหาครอบครัวและสังคม เป็นผลให้หลาย ๆ ครั้ง ท่านจึงมีโอกาสได้ฟื้นความเชื่อและความหวังที่หายไปจากจิตใจของพวกเธอ “การอวยพรของท่านแก่ผู้มาเยี่ยมที่จะกลับไป คือเครื่องหมาย แท้จริงแล้วมันคือพลังที่สามารถเปลี่ยนจิตใจคน”


วันหนึ่งขณะท่านกำลังคุกเข้าอยู่เบื้องหน้าไม้กางเขนในห้อง ท่านก็เห็นภาพนิมิตบันไดทอดยาวจากสวรรค์ลงมายังพื้นโลก ณ ที่บนปลายสุดของบันได ท่านเห็นพระเจ้าทรงประทับอยู่และทรงกวักพระหัตถ์ เชื้อเชิญให้ท่านก้าวขึ้นไปตามบันไดนี้ และยังได้ยินสุรเสียงหนึ่งดังขึ้นว่า “ริตา หากเธอปรารถนาเป็นหนึ่งเดียวกับพระเป็นเจ้าในสวรรค์ เธอต้องไต่ขึ้นมาตามบันไดนี้” ท่านจึงเข้าใจว่า ท่านจำต้องเป็นเหมือนทูตสวรรค์ หากท่านปรารถนาจะเดินตามพวกเขา และเข้าใจว่าท่าน ‘จะต้องสร้างบันไดฝ่ายจิต ซึ่งแต่ละขั้นสร้างจากคุณธรรม เธอถึงจะได้บรรลุถึงสวรรค์ และได้รื่นเริงโสมนัสไปกับการสำแดงพระองค์และความสัมพันธ์ฉันมิตรกับพระเจ้าตลอดนิรันดร์’

บันไดขั้นแรกตามที่ท่านเข้าใจคือ ‘จิตตารมณ์แห่งการนบนอบ’ ซึ่งในข้อนี้ เจ้าสาววัยกลางคนคนนี้ก็ปฏิบัติมาโดยตลอด ดั่งเช่นวันหนึ่งขณะท่านยังเป็นวกะอยู่ จู่ ๆ คุณแม่อธิการก็สั่งท่านว่า “ซิสเตอร์ริตา เห็นไม้ที่วางอยู่ที่พื้นนั่นไหม” ท่านจึงตอบ “เห็นค่ะ คุณแม่ที่เคารพ” คุณแม่จึงสั่งท่านว่า “หยิบมันและเอาไปปลูกและรดน้ำมันทุกวัน” ท่านก็น้อมรับด้วยความนบนอบว่า “ได้ค่ะ คุณแม่ที่เคารพ” และได้ปฏิบัติดังนั้น ฝั่งซิสเตอร์คนอื่น ๆ เมื่อเห็นท่านปฏิบัติเช่นนั้นก็มิได้เห็นว่าเป็นเรื่องตลก แต่กลับมองเป็นที่น่ายกย่องเสียอีก


ท่านเพียรรดน้ำกิ่งไม้นั้นตลอดปีด้วยความนบนอบ จนที่สุดวันหนึ่งกิ่งไม้แห้ง ๆ นั้นก็แตกใบ ก่อนจะค่อยเติบโตขึ้นเป็นเถาองุ่นที่สวยที่สุดและให้ผลมากที่สุดในสวนของอาราม ซึ่งแม้ในปัจจุบันเหตุการณ์นี้จะผ่านล่วงมามากกว่า 600 ปีแล้ว เถาองุ่นเดียวกันกับที่ท่านปลูกก็ยังคงยืนต้นสง่าเป็นประจักษ์พยานถึงอัศจรรย์แห่งการนบนอบ ให้ผู้คนที่แวะเวียนไปยังอารามมัดเดลีนาได้ชื่นชม และยังคอยให้ผลผลิตที่บางส่วนก็ถูกแบ่งไปถวายสมเด็จพระสันตะปาปา ให้พระคาร์ดินัลบางองค์ รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐในระดับสูง ๆ บางคน นอกจากนี้ใบแห้ง ๆ หรือผงจากมันก็ยังถูกส่งไปทั่วโลกในฐานะพระธาตุ เพื่อมอบให้แด่ผู้กำลังอยู่ในความต้องการ และก็มีรายงานอัศจรรย์การรักษามากมายที่เกิดผ่านใบขององุ่นต้นนี้

บันไดขั้นที่สองตามที่ท่านเข้าใจก็คือ ‘จิตตารมณ์แห่งความยากจน’ ท่านตัดสินใจเลียนแบบความยากจนของพระคริสตเจ้า เจ้าบ่าวที่รักของท่าน ตามที่ท่านรำพึงถึงในทุกวัน ตลอดชีวิตท่านเลือกที่จะสวมเครื่องแบบคณะชุดเดียวกัน กับที่ท่านได้ในวันแรกที่ท่านเข้าอาราม ไม่เว้นแม้แต่ในยามจะสิ้นใจ หรือสิ้นใจไปท่านก็ยังคงถูกฝังไปพร้อมเครื่องแบบคณะที่ไม่เพียงเก่าคร่ำครึ แต่ยังมีรอยปะแล้วปะอีกเต็มไปหมด ส่วนห้องพักเล็ก ๆ ของท่านก็ไม่ได้หรูหราอะไร ตรงกันข้ามมันมีเพียงที่คุกเข่า , ม้านั่งยาวที่ท่านทำเป็นเตียงนอน และหมอนหินที่ท่านใช้หนุนนอน ทั้งนี้ท่านจะรับอาหารเพียงวันละหนึ่งมื้อ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นขนมปังและน้ำ

นักบุญริตาในเครื่องแต่งกายอารามมัดเดลีนาแบบดั้งเดิม

เมื่อใดก็ตามที่ท่านจำต้องออกไปนอกอาราม ท่านจะเอาผ้าคลุมศีรษะลงปรกหน้าไว้ และไม่พูดคุยกับใครระหว่างทาง ดังนั้นเองด้วยวิธีนี้ท่านจึงบรรลุถึงบันไดขั้นที่สามตามที่ท่านเข้าใจก็คือ ‘จิตตารมณ์แห่งพรหมจรรย์’ และเพื่อรักษาความเงียบไว้ ท่านยังอมหินก้อนเล็กไว้อีกด้วย

ท่านจะนอนหลับเพียงวันละไม่กี่ชั่วโมง ส่วนเวลาที่เหลือตลอดคืนนั้น ท่านมักใช้ไปกับการสวดภาวนาและการทำงานเย็บปักถักร้อย นอกนี้ที่สีข้างท่านก็จะสวมผ้าหยาบ ๆ ที่ถักจากหนาม ซึ่งจะแทงเนื้ออ่อน ๆ ของท่านจนเป็นแผล และยังเฆี่ยนตีตัวท่านด้วยโซ่เส้นเล็ก ๆ และสายหนัง โดยเฆี่ยนครั้งแรกเพื่อวิญญาณในไฟชำระ ครั้งที่สองเพื่อผู้มีอุปการคุณต่ออาราม และครั้งที่สามเพื่อวิญญาณที่ยังตกอยู่ในบาป แต่ก็น่าแปลกที่ว่าตลอดชีวิตที่เหลือ แม้ท่านจะมีร่างกายที่ผอมบางจนเห็นกระดูก หรือพลีกรรมอย่างหนักหน่วงแค่ไหน ท่านก็ไม่เคยล้มป่วยลงเลยสักครั้ง


พระเป็นเจ้าทรงพอพระทัยข้ารับใช้ผู้นี้ และได้ทรงกระทำการอัศจรรย์ผ่านท่านหลายครั้ง เช่นคราวหนึ่งสตรีนางหนึ่งซึ่งลูกป่วยเป็นโรคที่รักษาไม่หาย ได้เดินทางมาขอความอนุเคราะห์จากท่าน ท่านก็บอกให้เธอมีความเชื่อ และกลับไปเธอก็จะพบว่าลูกของเธอได้รับการรักษาแล้ว หลังจากนั้นท่านจึงเข้าไปสวดในวัดน้อย ส่วนสตรีนางนั้นก็กลับไป และก็พบตามที่ท่านบอกไว้จริง

อีกคราวหนึ่งมีสตรีนางหนึ่งถูกจิตชั่วร้ายครอบงำมานานหลายปีมาหาท่าน ท่านจึงช้อนดวงตาของขึ้นไปยังสวรรค์เพื่อสวดภาวนา แล้วจึงทำสำคัญมหากางเขนเหนือศีรษะของเธอ บัดดลจิตชั่วร้ายก็ละจากสตรีนั้นไป ซึ่งจะว่าไปแล้ว ความจริงในชีวิตของท่านการต่อสู้ระหว่างท่านกับสิ่งชั่วร้ายก็มีบันทึกไว้หลายต่อหลายครั้ง แต่ทุกครั้งไป ท่านก็ไม่เคยแสดงความหวาดกลัวต่อมัน ซ้ำยังไล่พวกมันออกไปด้วยสำคัญมหากางเขน


พระเป็นเจ้าทรงเฝ้าทอดพระเนตร ท่านที่เพียรทรมานตนด้วยพลีกรรมรูปแบบต่าง ๆ ด้วยความตั้งใจจะร่วมส่วนในพระมหาทรมานของพระบุตรเสมอภายในรั้วอารามมาโดยตลอด และที่สุดพระเยซูเจ้าก็ทรงประทานโอกาสให้ท่านได้มีส่วนในพระมหาทรมานของพระองค์ ด้วยพระหรรษทานที่ไม่เคยมีใครนับตั้งแต่อดีตหรือปัจจุบันจะเคยได้รับ นั่นคือ ‘หนามมงกุฎ’ ซึ่งเกิดขึ้นในวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ ปี ค.ศ. 1432 โดยมีเรื่องเล่าว่า วันนั้นนักบุญยาโกโม แห่ง มาร์กา พระสงฆ์คณะภารดาน้อย ได้เดินทางมาเทศน์ที่วัดนักบุญมารีอา เกี่ยวกับเรื่องพระมหาทรมานและการสิ้นพระชนม์ของพระคริสตเจ้า โดยเน้นหนักไปทางเรื่องมงกุฎหนาม ซึ่งในวาระนั้นท่านในวัย 51 ปีก็มีโอกาสได้ฟังคำเทศน์นี้ และได้ร้องไห้อย่างหนักประดุจหนึ่งหัวใจแตกออกเป็นเสี่ยง ๆ ตลอดการเทศน์

และเมื่อการเทศน์จบลง ท่านรีบกลับไปยังห้อง แล้วหมอบราบลงแทบเชิงกางเขน พลางรำพึงนึกถึงความเจ็บปวดทุกข์ทรมานจากหนามมงกุฎของเจ้าบ่าวที่รักของท่าน ท่ามกลางบรรยากาศแห่งสายัณห์ ท่านร้องทูลต่อพระองค์ว่าขอให้ทรงประทานอย่างน้อย ๆ หนามสักหนึ่งก้าน จากทั้งหมดเจ็ดสิบสองก้าน ที่แทงพระเศียรอันน่าสงสารของพระองค์ จนต้องทรงได้รับทุกขเวทนาเหลือล้นแก่ท่าน เพื่อว่าท่านจะได้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับความเจ็บปวดนี้

ตำแหน่งที่นักบุญริตาได้รับหนามจากมงกุฏหนาม

ฝั่งเจ้าบ่าวของท่านเอง เมื่อได้สดับดังนั้น ก็ทรงตอบรับคำภาวนานี้ในทันที กล่าวคือพระองค์ทรงส่งหนามจากมงกุฎของพระองค์ให้พุ่งลงมาแทงทะลุหน้าผากของท่าน ดังคำอธิบายต่อไปนี้ “ทรงกระทำให้มงกุฎหนามของพระองค์(ตามภาษาพูด)กลายเป็นคันธนู และให้หนามหนึ่งอันเป็นลูกศร พระเยซูเจ้าทรงยิงลูกศรนี้ลงบนหน้าผากของนักบุญริตา ด้วยกำลังที่พอจะส่งมันให้แทงทะลุเนื้อและกระดูก และทิ้งรอยแผลที่คงอยู่กลางหน้าผากของท่านตลอดชีวิต และแม้ในเวลานี้รอยแผลนี้ก็ยังคงเห็นได้อย่างชัดเจน”

เมื่อหนามปักลงบนหน้าผากของท่าน บัดดลความเจ็บปวดก็แผ่ซ่านไปทั่วร่าง จนชนิดท่านเป็นลมล้มหมดสติไป และนี่ถ้าไม่ใช่เป็นน้ำพระทัยพระเป็นเจ้าที่ทรงประสงค์ให้ท่านมีชีวิตต่อไปแล้วไซร้ ท่านก็คงจะจากไปด้วยความเจ็บปวดนี้ แต่เพราะนี่คือน้ำพระทัยของพระเจ้าให้ท่านมีชีวิตต่อ ท่านจึงฟื้นคืนสติขึ้นมา และนับแต่นั้นทุก ๆ วันอาการปวดของท่านก็จะยิ่งทวีขึ้นเรื่อย ๆ ซ้ำร้ายบาดแผลก็ยังดูน่าเกลียดน่าชัง ทั้งส่งกลิ่นเหม็น เป็นที่น่าขยะแขยงเป็นยิ่งนัก


และก็เนื่องด้วยสภาพบาดแผลที่บรรยายข้างต้นนี้เอง ก็ทำให้หลาย ๆคนที่เข้าใกล้ท่าน มีอันต้องอยากอาเจียนไปเสียทุกราย ท่านจึงใช้โอกาสนี้ขออนุญาตคุณแม่อธิการใช้เวลาส่วนมากอยู่แต่ในห้องของท่านเอง และก็ยังคงมีความสุขดั่งเช่นปกติ นอกนี้ก็ด้วยบาดแผลนี้เองก็ยังทำให้ท่าน ได้มีโอกาสฝึกความอดทนด้วยวิธีใหม่ ๆ และได้วิธีระลึกถึงความเจ็บปวดของพระคริสตเจ้าใหม่เช่นกัน นั่นคือด้วยเจ้าหนอนตัวน้อย ๆ ที่อาศัยตัวอยู่ที่แผลเปิดของท่าน ซึ่งท่านเรียกมันว่า ‘เทวดาน้อยของฉัน’ นั่นเอง

ต่อมาในปี ค.ศ. 1450 สมเด็จพระสันตะปาปานิโคลัสที่ 5 ทรงประกาศให้ปีนั้นเป็นปีศักดิ์สิทธิ์ พร้อมประกาศว่าผู้มาแสวงบุญมายังกรุงโรมทุกคนจะได้รับพระคุณการุณย์ ที่อารามมัดเดลีนาเมื่อทราบข่าวนี้ คุณแม่อธิการก็ได้อนุญาตให้ซิสเตอร์หลายคนไปแสวงบุญ ท่านเองก็ปรารถนาจะร่วมในการแสวงบุญครั้งนี้ ท่านจึงทรุดลงแทบเท้าของคุณแม่อธิการเพื่อขอไปแสวงบุญ แต่เนื่องด้วยคุณแม่อธิการกลัวว่าผู้คนจะสังเกตเห็นแผลน่าเกลียดน่าชัง และได้กลิ่นเหม็นจากแผลท่านจะทำให้อารามเสื่อมเสียเกียรติ และด้วยอายุที่ค่อนข้างมากโขของท่าน คุณแม่จึงปฏิเสธไม่ให้ท่านไป เว้นเสียแต่แผลของท่านจะหายสนิท


ท่านเมื่อทราบเช่นนั้น จึงรีบวิ่งไปทรุดลงแทบบาทของพระเยซูเจ้า เพื่อทูลให้พระองค์ทรงนำแผลนี้ออกไป แต่เวลาเดียวก็ขอให้คงไว้ซึ่งความเจ็บปวดจากบาดแผลนี้ ทันใดแผลที่เคยอยู่บนหน้าผากของท่านก็อันตรธานหายไป ท่านที่สังเกตเห็นเช่นนั้น จึงรีบวิ่งกลับไปหาคุณแม่อธิการ ผู้ต้องผงะด้วยความประหลาดใจต่อภาพเบื้องหน้า และได้อนุญาตให้ท่านติดตามคณะซิสเตอร์บางส่วนไปแสวงบุญที่กรุงโรม

ในวัย 69 ปี ท่านจึงได้ติดตามคณะซิสเตอร์ไปแสวงบุญยังวัดสำคัญต่าง ๆ รวมถึงสุสานของบรรดามรณสักขีในกรุงโรม ตลอดการเดินทางหลาย ๆ คนที่ได้ใกล้ชิดท่านในเวลานั้นต่างสัมผัสได้ถึงกลิ่นหอมแห่งความศรัทธาพิเศษและความศรัทธาจากวิญญาณของท่าน และเมื่อเดินทางกลับมาถึงอารามมัดเดลีนา ทันทีที่ท่านก้าวพ้นธรณีประตู ทั้งแผลน่าเกียจน่าชัง กลิ่นชวนเหียนและหนอนตัวน้อยก็ปรากฏกกลับมาพร้อมอาการเจ็บอย่างรุนแรงดังเดิม มีบันทึกว่าเวลานั้นมี ‘เทวดาน้อยของท่าน’ ตัวหนึ่งเกิดตกจากแผลของท่าน ท่านก็บรรจงหยิบมันขึ้นมาและวางมันไว้ที่แผลดังเดิม และหลังจากนั้น ท่านจึงกลับไปใช้ชีวิตแต่ลำพังในห้อง เพื่อยังความสะดวกแก่ซิสเตอร์คนอื่น ๆ ต่อไป


จนกาลเวลาล่วงเลยผ่าน เพียงแป๊บ ๆ ท่านก็กลับมาอารามได้สี่ปีแล้ว สุขภาพที่เคยแข็งแรงก็ค่อย ๆ ถดถอยไปตามอายุ อาการปวดที่เคยเป็นแต่เดิม เวลานี้ก็ทวีมากขึ้น แต่ก็ไม่เคยเกินกำลังของท่าน ท่านยังคงน้อมรับกางเขนนี้ดุจเดียวกับบรรดามรณสักขีทั้งหลายอย่างอาจหาญ และก็เป็นเวลานี้ ที่เจ้าบ่าวสวรรค์ของท่านได้เสด็จมา และปลอบประโลมใจท่านอยู่หลายต่อหลายครั้ง จนทำให้วิญาณที่กระหายของท่านกลับสดชื่น แต่เวลาเดียวกันเมื่อพระองค์ทรงละจากท่านไป พระองค์ทรงฝากแผลลึกไว้ในหัวใจน้อย ๆ ของท่าน จนท่านยิ่งล้มป่วยลงอีกด้วยความรักของพระเจ้าเข้าไปอีก


ตลอดสี่ปีสุดท้ายในชีวิต อาการป่วยไข้ก็ทำให้ท่านมีอันต้องล้มหมอนนอนเสื่ออยู่ตลอด แต่กระนั้นตลอดเวลาบนที่นอน ท่านก็ไม่เคยปริปากบ่น และหล่อเลี้ยงชีวิตอันไม่จีรังด้วย ‘ศีลมหาสนิท’ แต่เพียงอย่างเดียว นอกนี้แล้ว จากบนที่นอนท่านก็ยังได้ส่งต่อแสงไฟแห่งแรงบันดาลใจให้กับดวงใจของทุกคนที่ได้มีโอกาสมาเยี่ยมท่าน จากทั้งความอดทน และความร่าเริงสดใสที่ท่านมีอยู่ตลอด



มาถึงตอนนี้หากจะไม่กล่าวถึงที่มาแห่ง ‘ดอกกุหลาบนักบุญริตา’ ก็จะเป็นการไม่ครบสมบูรณ์ยิ่งสำหรับชีวประวัติของข้ารับใช้พระเจ้าผู้นี้ โดยเรื่องของอัศจรรย์นี้มีอยู่ว่า วันหนึ่งในเดือนมกราคม ปีหนึ่ง ลูกพี่ลูกน้องของท่านคนหนึ่งแวะมาเยี่ยมท่านที่นอนซมด้วยอาการป่วย และถามท่านว่าท่านอยากได้อะไรไหม เหมือนได้รับการดลใจจากสวรรค์ จู่ ๆ ท่านก็ตอบกลับไปว่า ท่านอยากได้ดอกกุหลาบและผลมะเดื่อสักสองลูกจากบ้านเก่าของท่านที่ร๊อกกา ปอร์เรนา ซึ่งท่านขายและเอาเงินไปให้คนยากไร้แล้ว

ฝั่งญาติของท่านเมื่อทราบความตั้งใจ ทีแรกก็ท้วงว่าเวลานี้สองสิ่งนั้นหาไม่ได้แน่นอน แต่ท่านก็ยังคงยืนยันคำเดิม ญาติของท่านที่แม้จะไม่เชื่อว่าจะพบ และคิดว่าท่าคงเพ้อตามประสาคนป่วย เพราะเวลานี้เป็นหน้าหนาว ทุก ๆ ที่ต่างปกคลุมไปด้วยหิมะและหิมะ พืชพันธุ์อะไรก็ต่างพลัดใบนิทรา จึงตัดสินใจไปที่บ้านเก่าของท่าน และเมื่อนางก้าวเท้าเข้าไปที่สวนของบ้าน พลันแทนที่นางจะพบแต่หิมะดั่งคาด นางกลับพบดอกกุหลาบสีแดงดอกหนึ่ง เบ่งบานชูดอกอยู่ท่ามกลางหิมะ และผลมะเดื่อสองผลที่ต้น นางจึงรีบตรงเข้าไปเด็ดทั้งสองสิ่ง และรีบเอาไปให้ท่านที่อาราม

บริเวณที่เกิดอัศจรรย์ดอกกุหลาบในปัจจุบัน

ที่อาราม เมื่อท่านรับทั้งสองสิ่งมาแล้ว ท่านก็บรรจงยกมันขึ้นจูบและโมนาคุณพระเจ้าเช่นเดียวกับซิสเตอร์คนอื่น ๆ ที่ได้เห็น และภายหลังเพื่อระลึกถึงเหตุอัศจรรย์นี้ ทุกปีในวันฉลองนักบุญริตาจึงมีการจัดให้มีการเสกกุหลาบ และแจกจ่ายกุกลาบเสกนั้นให้บรรดาสัตบุรุษที่วัดของอารามมัดเดลีนา นอกจากนี้ยังมีการสร้างอนุสรณ์ไว้ตรงบริเวณสวนที่บ้านเก่าของท่าน ส่วนที่อารามเอง ก็มีการสร้างสวนกุหลาบไว้ที่บริเวณข้างห้องพักของท่านอีกด้วย

อัศจรรย์นี้มีเพื่อประการใด เพื่อรับรองความศักดิ์สิทธิ์ของข้ารับใช้พระเจ้าผู้ต่ำต้อยผู้นี้หรือ เปล่าเลย เพราะอัศจรรย์นี้คือเครื่องหมายว่า เวลาแห่งการกลับบ้านใกล้มาเยือนแล้ว ซึ่งท่านก็ทราบดีว่าเวลานี้ใกล้แล้ว อาศัยการไขแสดงของพระเป็นเจ้า “ท่านเสมือนได้ยินวาทะคล้ายกับที่หนุ่มคู่รักในเพลงซาโซมอนพูดกับสาวคู่รักด้วยจิตสมัครรักใครว่า ‘รีบลุกขึ้นเถอะ ที่รักของฉันเอ๋ย นกพิราบของฉัน คนสวยของฉัน และมาเถิด เพราะฤดูหนาวผ่านไปแล้ว ดอกไม้ต่างๆปรากฏขึ้นมาบนแผ่นดิน และต้นมะเดื่อเทศก็ออกผลสีเขียวให้เธอ ขอฉันได้เห็นหน้าและได้ยินเสียงของเธอสักหน่อยเถิด เพราะเสียงของเธอนั้นไพเราะและใบหน้าของเธอก็งดงาม’”


ท่านนอนรอเวลาที่ประตูสวรรค์จะถูกเปิดออกให้ท่าน เพื่อท่านจะได้กลับสู่บ้านแท้ด้วยความหวัง จนวันหนึ่งพระเยซูเจ้าพร้อมแม่พระก็ทรงประจักษ์มาหาท่านเป็นระยะเวลาสั้น ๆ พระองค์ตรัสกับท่านว่า “เราคือเจ้าบ่าวสวรรค์ของลูก ผู้จุดไฟแห่งความรักพระเจ้าในหัวใจของลูก และเติมวิญญาณของลูกให้เต็มไปด้วยคุณธรรมตามความปรารถนาอันร้อนรนของลูก เวลานี้เรามาเพื่อบอกข่าวที่น่ายินดีกับลูก ริตา ไม่ช้า ลูกจะละจากโลกนี้ไป สู่ความอภิรมย์ยินดีใยชีวิตนิรันดร์ที่เหลือในแดนสวรรค์ของลูก”

คำประกาศของพระเยซูเจ้านี้ ทำให้ดวงใจของท่านก็เอ่อล้นไปด้วยความสุข ผิดกลับซิสเตอร์ทุกคนที่คุกเข่าอยู่รอบตัวท่าน ที่ต่างมองไปที่ซิสเตอร์ที่พวกเธอรักด้วยหยาดน้ำตา หลังทราบเรื่องดังกล่าว เพราะเวลาแห่งการสูญเสียสำหรับพวกเธอกำลังใกล้เข้ามาแล้ว และเมื่อท่านเห็นว่าเวลาที่ท่านรอคอยนั้นใกล้มาถึง ดังคำประกาศของเจ้าบ่าวของท่าน ท่านจึงจัดแจงรีบขอให้ทุกคนยกโทษให้สำหรับความบกพร่อง ความไม่เอาไหน และความยากลำบากที่ท่านได้ก่อให้ซิสเตอร์ทุกคนจากแผลที่ศีรษะ และการอยู่แต่ในห้องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา


ในท่ามกลางน้ำตาแห่งการต้องพลัดพรากของซิสเตอร์ผู้คอยปลอบโยนของบรรดาซิสเตอร์รอบตัวเธอ ท่านบอกกับทุกคนว่าท่านพร้อมเสมอที่จะ ‘ปิดดวงตาของท่านจากโลกนี้ และลืมขึ้นเบื้องหน้าพระเจ้า’ เพื่อว่าท่านจะได้อยู่ร่วมกับเจ้าบ่าวที่รักยิ่งในสวรรค์ หลังจากนั้นท่านจึงขอรับศีลเสบียง และเมื่อได้รับตามความประสงค์แล้ว ท่านจึงวิงวอนขอให้เจ้าบ่าวที่รักทรงเปิดประตูสวรรค์ให้ท่าน และจึงร้องเรียกหาแม่พระ บรรดานิกรสวรรค์ และผู้เสนอวิงวอนของท่าน นักบุญยอห์น บัพติสต์ นักบุญออกัสติน และนักบุญนิโกลัส แห่ง โตเลนติโน ให้ช่วยพาท่านเข้าสู่ปราสาทแห่งสันตินิรันดร์

หลังจากนั้นท่านจึงขอให้คุณแม่อธิการอวยพรท่าน และได้สั่งเสียว่า “จงรักพระเจ้าเหนือทุกสิ่ง ความดียิ่งของพระองค์ไม่รู้สิ้นสุด และความงามของพระองค์หาใดเปรียบ พวกเธอควรจะรักษาจิตใจของเธอให้คงมั่นอยู่ ณ เบื้องหน้าความรักอันยิ่งใหญ่ที่พระองค์ทรงมีให้พวกเธอทั้งในฐานะพระบิดา เจ้าบ่าว และเจ้านายอยู่เสมอ จงรักซึ่งกันและกันด้วยความจริงใจต่อกันและความรักอันศักดิ์สิทธิ์ จงหมั่นปฏิบัติตามธรรมนูญที่พวกเธอได้ยอมรับ และให้ความเคารพด้วยความรักในฐานะนักบวชต่อผู้ยิ่งใหญ่ของพวกเรา และภารดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ นักบุญออกัสติน ผู้ได้ชี้นำพวกเธอ โดยธรรมนูญของท่าน อันคือราชมรรคาที่นำไปสู่พระสิริรุ่งโรจน์ จงนบนอบต่อพระศาสนจักรมารดาอันศักดิ์สิทธิ์ และคุณแม่อธิการของพวกเธอ เช่นที่พวกเธอเคยสัญญาไว้ยามพวกเธอปฏิญาณ”


พูดดังนี้แล้ว ท่านจึงอวยพรซิสเตอร์ทุกคนพร้อมเปล่งวาจาว่า “ขอพระเจ้าทรงอวยพรพวกเธอ และขอให้พวกเธอดำรงอยู่ในสันติและความรักแสนศักดิ์สิทธิ์พร้อมกับเจ้าบ่าวที่รักของพวกเธอ พระเยซูคริสตเจ้าอยู่เสมอเถิด” หลังจากนั้นท่านจึงทอดสายตาไปยังไม้กางเขน และได้คืนวิญญาณไปหาพระเป็นเจ้าอย่างสงบ ในวันเดียวกัน นั่นคือวันที่ 22 พฤษภาคม ค.ศ. 1457 ด้วยอายุรวม 76 ปี และถวายตนมาแล้ว 46 ปี

หนึ่งในซิสเตอร์คนหนึ่งได้เห็นทูตสวรรค์องค์หนึ่งนำวิญญาณของท่านไปสู่สวรรค์ และยังมีตำนานเล่าอีกว่าในช่วงเวลาที่นอนซมนี้เอง ก็ปรากฏมีผึ้งบินวนอยู่แถว ๆ ท่านคล้ายตอนท่านเกิด ผิดก็แต่พวกมันเป็นสีดำ ทั้งนี้ภายหลังท่านสิ้นใจยังปรากฏแสงสว่างขึ้นทั่วบริเวณของพักของท่าน ทั่วอารามต่างอบอวลไปด้วยกลิ่นหอมที่ฟุ้งออกมาจากร่างของท่าน หนอนบนแผลของท่านก็กลายเป็นละอองแสงระยิบระยับดุจดวงดาวบนนภา และแผลบนหน้าผากของท่านก็ปรากฏแสงสุกใสดั่งทับทิม ร่างของท่านยังคงอ่อนนุ่มและดูเหมือนมีชีวิต ใบหน้าของท่านเปี่ยมด้วยสันติและดูอ่อนเยาว์ลงมาก


เสียงระฆังดังย่ำขึ้นในอารามโดยที่ไม่มีใครตี ประดุจหนึ่งคือทำนองแห่งความยินดีที่บรรดานิกรสวรรค์แจ้งแก่ทุกคน ว่าบัดนี้ข้ารับใช้พระเจ้าผู้นี้ได้ไปรับบำเหน็จในสวรรค์แล้ว ร่างไร้วิญญาณของท่านยังคงสวมุดคณะชุดเดียวกับที่ท่านใส่ในวันแรกที่ท่านเข้าอาราม และในพิธีปลงศพของท่าน อัศจรรย์ก็ได้เกิดขึ้นแก่บรรดาสัตบุรุษที่ได้เข้ามาอำลาท่าน หนึ่งในนั้นคือญาติของท่านคนหนึ่ง ที่แขนข้างเป็นอัมพาตมาหลายปี แต่พอได้เข้าคารวะศพของท่าน บัดดลแขนที่เคยขยับไม่ได้ก็ขยับได้

หลังจากพิธีปลงศพร่างของท่านซึ่งบรรจุในโลงไม้ไซเปรส ก็ถูกเคลื่อนไปตั้งไว้ใต้พระแท่นที่สร้างขึ้นตรงบริเวณที่ท่านได้รับหนามมงกุฎ และภายหลังเมื่อเกิดเหตุไฟไหม้ (น่าจะในปีเดียวกันกับที่ท่านสิ้นใจ) แต่ร่างของท่านรอดมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ จึงมีการว่าจ้างให้นายฟรังเชสโก บาร์บารี ช่างไม้ประจำเมืองกาสชาต่อโลงใหม่ แต่เวลานั้นเขากำลังป่วยหนักชนิดไม่อาจขยับมือและเท้าของเขาได้ เขาจึงสัญญากับบรรดาซิสเตอร์ที่ไปติดต่อว่าเขาจะต่อโลงให้ หากเขาได้รับการรักษาให้หายอาศัยคำเสนอวิงวอนของท่าน และเพียงบัดดลเขาก็ได้รับการรักษา ดังนั้นเข้าจึงต่อโลงไม้ตามที่สัญญาไว้

โลงศพของนักบุญริตา ฝีมือการเขียนของจิตรกรอันโตนีโอ

บนโลงใหม่ได้จิตรกรชื่อ อันโตนิโอ แห่ง นอสชา (1457) รับหน้าที่เป็นผู้วาดภาพตกแต่ง โดยที่ฝาโลงวาดเป็นรูปท่านในเครื่องแบบคณะเดิมของอารามนอนสิ้นใจอย่างสงบ ซึ่งปัจจุบันโลงนี้ยังถูกเก็บรักษาอย่างดีในอาราม ส่วนร่างของท่านที่ไม่เน่าเปลื่อยนั้น ปัจจุบันก็ได้รับการย้ายไปเก็บในโลงแก้วและตั้งไว้ ณ วัดที่สร้างขึ้นใหม่เพื่อเป็นเกียรติแด่ท่านโดยการนำของบุญราศีมารีอา เตแรสซา ฟาสเช ผู้มีความศรัทธาต่อท่านเป็นยิ่งนัก

อีกหนึ่งสิ่งที่อยู่คู่ท่านมาโดยตลอดก็คือเจ้าผึ้งน้อยที่ต่างพากันติดตามท่านมาอยู่ในอาราม พวกมันคอยวนเวียนอยู่แถว ๆ ผนังอาราม โดยไม่เคยทำรังหรือทำน้ำผึ้งมาเลยตลอดหลายทศวรรษนับตั้งแต่วันที่มันมาพร้อมท่าน และทุกปีพวกมันจะพากันหายไปจากอารามในสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ และกลับมาอีกทีในวันฉลองนักบุญริตา นอกนี้แล้วก่อนมันจะบินไปไหนมาไหนในอาราม มันก็มักบินไปยังห้องที่ท่านเคยพัก ประดุจหนึ่งไปขออนุญาตท่านอีกด้วย


มีอัศจรรย์มากมายเกิดขึ้นทั้งจากผ้าที่พวกซิสเตอร์นำไปสัมผัสร่างที่ไม่เน่าสลายของท่าน แล้วนำมาตัดแบ่งแจกจ่ายเป็นพระธาตุ และจากน้ำมันตะเกียงที่พระแท่นตั้งร่างของท่าน จดเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างปี ค.ศ. 1457 – ค.ศ. 1563 ถึงสี่สิบหกรายการ นอกนั้นยังมีรายงานอีกว่าร่างของท่านลอยสูงขึ้นเองในหลาย ๆ โอกาส โดยเฉพาะในวันที่ 22 พฤษภาคม แต่แม้นความเคารพในตัวท่านจะแพร่ขยายไปอย่างรวดเร็วในหมู่สัตบุรุษ กระบวนการขอแต่งตั้งท่านเป็นนักบุญก็กลับเป็นไปอย่างเชื่องช้า โดยกระบวนการขอแต่งตั้งท่านเป็นบุญราศีถูกเปิดขึ้นหลังมรณกรรมของท่านถึง 169 ปี ในวันที่ 19 ตุลาคม ค.ศ. 1626 โดยสมเด็จพระสันตะปาปาอูร์บันที่ 8 ผู้ทรงรู้จักท่านดี และเคยดำรงตำแหน่งเป็นพระสังฆราชแห่งสโปเลโต (กาสชาสังกัดอยู่กับสังฆมณฑลนี้) ในกาลนั้นพวกซิสเตอร์ในอารามก็ได้ส่งผึ้งสามตัวที่อยู่ที่อารามไปให้สมเด็จพระสันตะปาปาทอดพระเนตรอีกด้วย


และที่สุดในวันที่ 1 ตุลาคม ปีถัดมา พระองค์ก็ทรงบันทึกนามท่านไว้ในสารบบบุญราศี หลังจากนั้นในวันรุ่งขึ้น พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้สังฆมณฑลสโปเลโตและคณะออกัสตินสามารถประกอบพิธีมิสซาเพื่อฉลองท่านได้ ซึ่งในวันฉลองการแต่งตั้งเป็นบุญราศีนั่นเอง อัศจรรย์ประการหนึ่งก็เกิดขึ้นประหนึ่งเป็นการรับรองความศักดิ์สิทธิ์ของข้ารับใช้พระเจ้าผู้นี้ นั่นคือเมื่อถึงเวลาทำวัตรเย็นทั้งพระสงฆ์พื้นเมืองและพระสงฆ์สังกัดคณะออกัสตินก็ต่างแย่งกันที่จะนำสวด พวกซิสเตอร์ในอารามเมื่อเห็นเหตุการณ์เป็นเช่นนั้น ก็ต่างพากันวิตกว่าจะบานปลายไปกันใหญ่ ทั้งหมดจึงพากันสวดขอต่อพระเจ้าอาศัยคำเสนอวิงวอนของท่าน เพื่อให้ทรงระงับเหตุพิพาทนี้ และไม่นานร่างของท่านที่ไม่เน่าเปื่อยก็ลอยขึ้น พร้อม ๆ กับเปิดตาที่ปิดสนิทมานับตั้งแต่วันที่ท่านสิ้นใจขึ้น บรรดาซิสเตอร์ที่เห็นดังนั้นจึงพากันไปย่ำระฆังของอาราม เพื่อเรียกให้ทุกคนมาร่วมกันเป็นประจักษ์พยานต่อการอัศจรรย์คราวนี้ ซึ่งทันทีที่บรรดาสงฆ์ซึ่งกำลังรวิวาทกันอยู่ไดเห็นดั่งนี้แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องมีคำพูดใด ๆ เพื่อระงับข้อวิวาทอีก สันติและความเข้าใจกันจึงกลับมายังงานฉลองอีกครั้ง

ร่างนักบุญริตา ที่ไม่เน่าเปลื่อย

ภายหลังจากได้รับการสถาปนาเป็นบุญราศีแล้ว อัศจรรย์มากมายอาศัยคำเสนอวิงวอนของท่านก็ยังคงถูกรายงานมาเรื่อย ๆ อาทิเช่นกรณีของซิสเตอร์กอนสตันซา อธิการิณีของอารามัดเดลีนาในขณะนั้นซึ่งพบว่าเหล้าองุ่นในอารามหมดและอารามก็ไม่มีเงินพอที่จะซื้อมา เธอจึงไปสวดหน้าร่างของท่าน เพียงไม่นานก็มีชายคนหนึ่งนำไวน์ถังใหญ่มาเคาะประตูอาราม และเมื่อนำไวน์มาเก็บที่ห้องใต้ดินแล้ว ชายปริศนาก็หายไปพร้อมกับเกวียนเทียมลาก็หายวับไป เหตุการณ์ลักษณะคล้ายกันยังเกิดอีกครั้งเมื่อเหล้าองุ่นในอารามหมด แต่คราวนี้ ภรรยาเหรัญญิกประจำเมืองกาสชาก็ได้ยินเสียงหนึ่งบอกกับหล่อนว่า “จงเอาเหล้าองุ่นไปให้บรรดาซิสเตอร์ผู้ขาดแคลน” (เชื่อกันว่าคือเสียงของท่าน) นอกนี้หลาย ๆ ครั้งท่านก็มักส่งพระสงฆ์ให้ไปหาซิสเตอร์ที่กำลังเข้าตรีทูตหรือป่วยเพื่อส่งศีลเสบียงให้พวกเธออีกด้วย

ล่วงมาถึง ค.ศ. 1737 ชาวเมืองกาสชาและคณะออกัสตินก็ได้ร่วมกันผลักดันการสถาปนาท่านเป็นนักบุญ แต่ก็ไม่วายโดยเหตุการณ์บ้านเมืองขัด จนต้องพักโครงการไปจนถึงปี ค.ศ. 1853 และเมื่อเกิดอัศจรรย์การรักษากอสมา เปลเลจรินี ชาวเมืองกอนแวร์ซาโน กระบวนการของท่านจึงถูกรื้อฟื้นขึ้นอีกในปี ค.ศ. 1887 และเมื่อส่งเรื่องเข้าทางโรม ในปี ค.ศ. 1899 ทางโรมก็ได้อนุมัติอัศจรรย์ถึงสามประการประกอบการแต่งตั้งท่านเป็นนักบุญนั่นคือ กลิ่นหอมจากร่างของท่าน การรักษาเด็กหญิงเอลิซาเบ็ตตา แบร์กามินี และกอสมา เปลเลจรินีซึ่งต่างป่วยด้วยโรคที่รักษาไม่หาย ดังนั้นเองในวันที่ 24 พฤษภาคม ค.ศ. 1900 สมเด็จพระสันตะปาปาเลโอที่ 13 จึงทรงประกอบพิธีสถาปนาท่านขึ้นเป็นนักบุญ


ในหนังสือบุตรสิลาได้เขียนไว้ว่า “ดวงอาทิตย์ที่กำลังขึ้นจากขอบฟ้า ประกาศว่าพระราชกิจของพระผู้สูงสุดน่าพิศวงยิ่งนัก” (บุตรสิลา 43 : 2) เป็นจริงดังนั้น เพราะพระราชกรณียกิจของพระเจ้าในชีวิตของมนุษย์ หรือน้ำพระทัยพระ นับเป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ และน่าพิศวง อยู่เหนือการคาดเดาได้ของมนุษย์ และบางคราวเป็นสิ่งที่ขัดกับน้ำใจมนุษย์ ดั่งที่มีคนเคยกล่าวไว้ว่าในบทข้าแต่พระบิดา ที่คริสตชนสวดอยู่ทุกวัน ข้อความหนึ่งที่เป็นไปได้ยากที่สุดในบรรดาคำขอทั้งหมดในหมดดังกล่าว ก็คือ ‘พระประสงค์จงสำเร็จในแผ่นดินเหมือนในสวรรค์’ แต่กระนั้นก็ตามน้ำพระทัยของพระต่อชีวิตมนุษย์นั้น ก็ล้วนเป็นสิ่งดี และเหมาะสมกับมนุษย์คนนั้น ๆ ทั้งคือ ทางที่มุ่งตรงไปยังสวรรค์ และคือทางในการใช้พระพรที่พระทรงมอบให้มนุษย์แต่ละคน ดั่งอุปมาเรื่องเงินตะลันต์ได้อย่างดีที่สุด

76 ปีในการเดินทางของนักบุญริตา แห่ง กาสชา ได้แสดงให้เห็นถึงความน่าพิศวงของน้ำพระทัยพระเป็นเจ้าต่อชีวิตหญิงคนหนึ่ง ที่มีความตั้งใจจะบวชเป็นซิสเตอร์ตั้งแต่ยังเล็ก ๆ แต่เมื่อได้สวดภาวนาเงี่ยหูฟังน้ำพระทัยของพระเจ้า จึงได้กลายมาเป็นภรรยาที่ได้ทำให้สามี ผู้มีจิตใจหยาบกระด้างได้กลับมาหาพระเป็นเจ้า มารดาผู้ปกป้องวิญญาณของบุตรชายทั้งสองให้พ้นจากอบายของปีศาจ ผู้นำความสันติมาสู่ตระกูลสองตระกูลที่บาดหมางกันมา และที่สุดภคินีในอารามสมดั่งที่ท่านเคยวาดฝันไว้ในวัยเยาว์ด้วยหนทางอันน่าพิศวง ทั้งกลายเป็นผู้คอยให้คำแนะนำวิญญาณจำนวนมาก ด้วยประสบการณ์การเจริญชีวิตฆราวาสกว่าสิบปี ลองคิดเล่น ๆ ว่าหากท่านเลือกจะปฏิเสธการแต่งงานไป เพื่อเข้าอาราม วิญญาณจำนวนมากเพียงใดจะต้องพินาศไปเพราะความแค้นระหว่างสองตระกูล ที่ไม่มีวันจบวันสิ้น แต่อาศัยการที่ท่านได้แต่งงาน อย่างน้อยที่สุดท่านก็ได้ปกป้องวิญญาณถึงสี่ดวงให้พ้นจากกับดักแห่งความพินาศนี้ (แน่นอนว่า พระเจ้าทรงเสียพระทัยยิ่งนักที่วิญญาณ แค่เพียงดวงเดียวต้องพินาศไป) และยังสามารถนำประสบการณ์ชีวิตเหล่านั้นมา ช่วยวิญญาณอีกจำนวนหนึ่งที่ตัดสินใจนำปัญหาชีวิตมาปรึกษาท่านได้อีกด้วย


ดังนั้นชีวิตของนักบุญริตาจึงเรียกร้องให้คริสตชนเงี่ยหูฟังน้ำพระทัยของพระเจ้าในชีวิต ด้วยการสงบนิ่งอยู่พระองค์ในคำภาวนา ค้นหาดูว่า ดาวเหนือที่นำเราไปสู่เป้าหมายของเรานั้นอยู่ที่ใด และติดตามน้ำพระทัยพระที่ได้รับการเปิดเผยอย่างดีที่สุด ไม่ว่าน้ำพระทัยนั้นจะฝืนกับความต้องการของเราเพียงไหน ด้วยความไว้วางใจดุจเดียวกับองค์พระเยซูเจ้า ที่ทรงน้อมรับน้ำพระทัยพระบิดาอย่างถึงที่สุดจนถึงกับสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน ขอให้ชีวิตของนักบุญริตาหนุนนำพวกเรา ในการแสวงหาและติดตามน้ำพระทัยของพระเจ้าของแต่ละคนในชีวิตสั้น ๆ นี้ ให้เราเลียนแบบท่านในการมอบชีวิต 'ให้แล้วแต่พระ' เพราะนี่คือวิถีทางแห่งการสรรเสริญพระเป็นเจ้าที่ดีที่สุด เสียยิ่งกว่าเครื่องบูชาราคาสูง บทเพลงอันไพเราะ หรือถ้อยกวีอันสละสลวย ดั่งที่ท่านบุตรสิลาเขียนไว้ว่า “เมื่อข้าพเจ้าก้าวหน้าเพราะปรีชาญาณ ข้าพเจ้าจะถวายเกียรติแก่ผู้สอนปรีชาญาณให้ข้าพเจ้า” (บุตรสิลา 51 : 17) และในวันหนึ่งที่เราไม่อาจรู้ได้ยามแจ่มชัด “พระเจ้าจะประทานบำเหน็จรางวัลแก่ท่านตามกำหนดเวลาของพระองค์” (บุตรสิลา 51 : 30)

"ข้าแต่ท่านนักบุญริตา แห่ง กาสชา ช่วยวิงวอนเทอญ"

ข้อมูลอ้างอิง
https://www.sacramentals.org/saintritaofcascia.htm
http://www.saintritashrine.org/life-of-saint-rita/
https://en.wikipedia.org/wiki/Rita_of_Cascia
http://www.tuttocollezioni.it/it/santini-biografia-santa-rita2.php
https://it.wikipedia.org/wiki/Rita_da_Cascia
http://www.lerosemie.it/home/s-rita-da-cascia-la-santa-della-spina-e-della-rosa.html
http://www.santaritadacascia.org/santarita/simbologia-ritiana-rosa.php
http://stellaitblog.blogspot.com/2011/01/rita-da-cascia.html
https://noalsatanismo.wordpress.com/2016/05/20/santa-rita-da-cascia-e-la-forza-del-perdono/
http://www.santuariosantarita.org/1/santa_rita_da_cascia_369628.html
http://www.roccaporena.com/category/santa-rita/
http://www.santaritadacascia.org/en/
http://newsaints.faithweb.com/CCS_Saints2.htm


'เบร์นาร์โด ฟรานซิสโก' ให้ชีวิตนี้เป็นสะพานนำรักพระองค์ไป ตอนจบ

บุญราศีเบร์นาร์โด ฟรานซิสโก เด โอโยส เด เซญา Bl. Bernardo Francisco de Hoyos de Seña วันฉลอง: 29 พฤษจิกายน [ย้อนกลับไปอ่าน  “‘เบร์นาร์โด ฟรา...