St. Louis et Zélie Martin
ฉลองในวันที่
: 12 กรกฎาคม
หากเอยถึงนามนักบุญเทเรซาแห่งพระกุมารเยซู
ทุกคนที่เป็นคริสตังคงรู้จักกันเป็นอย่างดีถึงความศักดิ์ของท่านและครอบครัวของท่าน แต่เมื่อไม่นานมานี้เองบิดาและมารดาอันเป็นที่รักยิ่งของท่านก็ได้รับการสถาปนาเป็นบุญราศี
ไม่ใช่เพียงแค่เพราะว่าเขาทั้งสองเป็นบิดาและมารดาของนักบุญ
แต่เพราะตัวอย่างจากการดำเนินชีวิตที่ติดตามองค์พระคริสต์และมีรูปแบบของชีวิตที่ศักดิ์สิทธิ์อย่างเรียบง่ายทั้งในชีวิตของพวกเขาและในชีวิตของครอบครัวต่างหากละที่ทำให้ทั้งสองเป็นนักบุญ
หลุยส์ โยเซฟ
สตานิสลอส มาร์แต็ง เกิดเมื่อวันที่ 22
สิงหาคม ค.ศ.1823 ที่เมืองบอร์โดซ์
จังหวัดฌีรงด์ แคว้นอากีแตน ประเทศฝรั่งเศส เขาเป็นลูกคนสุดท้องของนายทหารชื่อ ปีแอร์
ฟร็องซัวส์ มาร์แต็ง กับ แฟนี บูเรโบ สองสามีภรรยาผู้หลังจากเกิดหลุยส์ได้ไม่นานก็พากันย้ายไปอาวิญง
สทราซบูร์ กระทั้งที่สุดเมื่อปีแอร์ออกจากราชการในปี
ค.ศ.1830 ทั้งสองก็ตัดสินใจลงหลักปักฐานที่เมืองอลังซอง หลุยส์จึงได้เข้าโรงเรียน
จนจบชั้น แทนที่จะเลือกเดินตามรอยบิดา ในปี ค.ศ.1844 หลุยส์ก็ตัดสินใจไปเรียนทำนาฬิกาที่เมืองแรนส์กับญาติ
ประมาณปีหนึ่งเขาจึงเดินทางไปเรียนต่อที่เมืองสทราซบูร์และปารีสตามลำดับ
ในเดือนกันยายน
ค.ศ.1844 ครอบครัวของเธอก็ตัดสินใจพาครอบครัวย้ายมายังเมืองอลังซอง
เธอและพี่สาวจึงได้เข้าโรงเรียนของคณะภคินีผู้เคารพนมัสการ ณ ที่นั่นเธอเป็นเด็กฉลาด
ขยัน และตั้งใจเรียน และนอกจากนี้ระหว่างเรียนอยู่ที่นั่นเอง ที่ภายในของเธอ
เธอก็รู้สึกถูกเรียกให้ถือพรหมจรรย์ “ดิฉันต้องการเป็นนักบุญ ซึ่งไม่ง่ายเลย”
ตัดกลับมาที่หลุยส์
มาร์แต็ง ที่เวลานี้โตเป็นหนุ่มใหญ่วัย 22
ปี ในระหว่างที่เขากำลังเรียนทำนาฬิกาอยู่ที่เมืองสทราซบูร์นั้น
ใจหนึ่งของเขาก็ปรารถนาจะถวายตนรับใช้พระอยู่ในคณะการ์ตูนเซียน ดังนั้นเขาจึงตัดสินใจไปสมัครเข้าอารามกร็องด์
แซงต์ แบร์นาร์ด ของคณะซึ่งตั้งบนเทือกเขาแอลป์ สวัส และเริ่มเรียนภาษาละติน แต่เรียนไปเท่าไรๆ
แม้เขาจะพยายามมากแค่ไหน เขาก็ไม่อาจทำได้
ทำให้ท้ายสุดเขาจึงต้องจำโบกมืออำลาความฝันนี้ไป และกลับมาเรียนทำนาฬิกาต่อ
ชะตากรรมไม่ต่างกันเกิดขึ้นกับเซลี
เพราะเมื่อเธอเรียนจบแล้ว ด้วยรู้สึกมีกระแสเรียก เธอจึงขอเข้าคณะนั้น แต่ก็ถูกคุณแม่อธิการปฏิเสธ
เซลีจึงตัดสินใจที่จะแต่งงานและมีลูกถวายแด่พระทุกคน
เธอจึงหนไปหาแม่พระเพื่อถามว่าเธอจะหาสินสอดที่ไหน
ทันทีก็มีเสียงภายในตรัสกับเธอว่า “จงไปทำผ้าลูกไม้อาลังซอง”ดังนั้นเซลีจึงเริ่มเรียนถักผ้าลูกไม้ตามแบบอาลังซอง
ทำให้บัดนี้ชายหญิงคู่หนึ่งผู้ไม่เคยรู้จักกันก่อน จึงต่างประสบชะตาเดียวกัน คือ
การไม่ได้ไล่ตามความฝันในอาราม แต่ทั้งสองก็ไม่เคยรู้เลยว่า
พระเจ้าทรงประสงค์ให้ทั้งสองเกิดมาคู่กัน เพื่อเป็นแบบอย่างครอบครัวคริสต์ชนที่ดีทั้งภายในและภายนอกในอนาคต
ภายหลังจากความผิดหวัง
หลุยส์ก็ไปเรียนทำนาฬิกาต่อที่ปารีสอยู่ประมาณสามปี
เขาจึงเดินทางกลับมายังเมืองอาลังซอง
และได้เปิดร้านรับซ่อมนาฬิกาและเครื่องประดับอย่างขยันขันแข็งและซื่อสัตย์ ที่ ถนน
รือ ดือ ปงต์ เนฟ ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1850 เวลาไล่เลี่ยกันในปลายปี ค.ศ.1853 หลังจากหันมาทำงานเป็นช่างถักลูกไม้แล้ว
เซลีกับพี่สาวก็ได้ร่วมกันเปิดร้านทำผ้าลูกไม้ที่ถนน รือ แซงต์ บาลีเซอ
และด้วยฝีมือของเธอ ไม่นานงานของเธอก็เป็นเลื่องลือกัน
เซลีตระหนักดีว่าเธอต้องรักลูกจ้างเหมือนสมาชิกในครอบครัวคนหนึ่ง
เช่นเดียวกันกับเพื่อนบ้านและผู้คนที่เธอรู้จัก เธอก็ต้องรักพวกเขาเช่นนั้น
เซลีพร้อมเสมอที่จะต่อสู้กับความอยุติธรรม และพร้อมเสมอเช่นกันที่จะช่วยคนอื่นๆ
เธอมีพระคัมภีร์เป็นเครื่องชี้นำเธอไปในทุกหนแห่ง ส่วนหลุยส์ พอเขากลับมาจากปารีส
เขาก็ใช้ชีวิตอย่างเงียบสงบภายใต้การรำพึงภาวนา อาจมีไปตกปลาบ้าง
ล่าสัตว์บ้างสองสามครั้ง และพบเพื่อนกลุ่มคาทอลิกวิตัล
โรเมต(กลุ่มคริสตังผู้ใหญ่ 12 คนที่มารวมตัวกัน)ในตอนเย็น
ทุกอย่างดำเนินไปได้ด้วยดีกระทั้งวันหนึ่งในช่วงเดือนเมษายน
ค.ศ.1858 ภายหลังจากพี่สาวของเซลีเข้าอารามแม่พระเสด็จเยี่ยมที่เลอ
ม็องซ์ไปแล้ว ขณะเซลีกำลังเดินข้ามสะพานแซงต์ ลิวนาร์ด เธอก็เดินสวนกับชายคนหนึ่ง
ผู้มีใบหน้าแบบผู้ดีเก่า เขาหายใจอย่างช้าๆ
และมีท่วงท่าที่สง่าน่าประทับใจเหลือเกิน “นี่คือเขาที่เราเตรียมไว้เพื่อลูก” เสียงหนึ่งก้องขึ้นในวิญญาณของเซลี
ชายผู้นั้นก็คือ
หลุยส์ ช่างซ่อมนาฬิกา
ผู้ที่เวลาไล่ๆกันมารดาของเขาที่ไม่อยากให้บุตรชายเป็นโสดเท่าไรนัก
ก็ได้เล่าให้เขาฟังถึงช่างถักลูกไม้สาวที่เธอพบที่โรงเรียนสอนถักชื่อว่า เซลี ดังนั้นนับจากวันนั้นเมื่อได้รู้ว่าใครเป็นใครแล้ว
ทั้งสองก็ได้มาพบกัน เริ่มจากการชมกันและกัน
และในไม่ช้าความรักก็ผลิบานในหัวใจของทั้งสอง ความแคลงใจเรื่องการถวายตนมลายไปสิ้น
ทั้งสองต่างเห็นพ้องกันว่าการแต่งงานของพวกเขาไม่ใช่งานแต่งแบบชนชั้นกลางทั่วไปในอาลังซอง
แต่คือการร่วมกันเปิดประตูไปสู่น้ำพระทัยของพระเจ้า
ที่สุดในเวลาเที่ยงคืนของวันที่
13 กรกฎาคม ปีเดียวกัน ภายหลังจากคบหาดูใจกันดีแล้ว
หลุยส์ก็จูงมือเซลีเข้าพิธีสาบานรัก ณ วัดนอเตร ดาม ในเมืองอาลังซอง
พร้อมการตัดสินใจที่ว่าทั้งคู่จะอยู่กันแบบพี่ชายน้องสาวบนความไม่มักมากต่อกันและกัน
แต่พระปรีชาญาณไม่ได้กำหนดให้ทั้งสองเจริญชีวิตเช่นนี้
ทั้งสองถือกฎเช่นนี้อยู่สิบเดือน ผ่านคำแนะนำของคุณพ่อวิญญาณ
ทั้งสองจึงเปลี่ยนความคิด ดังนั้นในช่วงระหว่างปี ค.ศ.1860 ถึง ค.ศ.1873 เซลีจึงได้ให้กำเนิดบุตรธิดาถึงเก้าคนแต่รอดเพียงห้าคนดังนี้
1.มารี บุตรีและบุตรคนแรกเกิดเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1860
2.โปลีน บุตรีคนที่ 2 เกิดเมื่อวันที่ 7 กันยายน ค.ศ.1861
3.เลโอนี บุตรีคนที่ 3 เกิดเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ค.ศ.1863
4.เฮเลน บุตรีคนที่ 4 เกิดเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม ค.ศ.1864 (เกี่ยวข้องกับอาการป่วยของเซลีในอนาคต) เฮเลนเสียชีวิตลงในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1870
5.โจเซฟ บุตรคนที่ 5 และบุตรชายคนแรก เกิดเมื่อวันที่ 20 กันยายน ค.ศ.1866 แต่ไม่นานในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1867
ทารกโจเซฟก็ได้เสียชีวิตลง
6.ฌอง บัพติส บุตรคนที่ 6 เกิดเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ค.ศ.1867 แต่ไม่ถึงปีฌองก็เสียชีวิตลงในวันที่
24 สิงหาคม ค.ศ.1868
7.เซลีน บุตรคนที่ 7 เกิดเมื่อวันที่ 28 เมษายน ค.ศ.1869
8.มารี เมลามี บุตรคนที่ 8 เกิดเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม ค.ศ.1870
และเสียชีวิตลงในวันที่
10 ตุลาคม ปีเดียวกัน
9.มารี ฟร็องซัวส์ เทเรซา เกิดเมื่อวันที่ 12 มกราคม ค.ศ.1873
ต่อมาสืบเนื่องจากลูกไม้ของเซลีขายดีมาก
ในปี ค.ศ.1860 หลุยส์จึงเลิกทำร้านและหันมาช่วยขายผ้าลูกไม้ของเซลีด้วยการพกออกไปขายตามที่ต่างๆ
ทั้งช่วยออกแบบลายลูกไม้ร่วมกับเธอด้วย ฝ่ายเซลีเองก็รับหน้าที่ดูแลลูกจ้างหญิงสิบห้าคนที่จะทำงานที่บ้านของตัวเอง
โดยมีกำหนดวันพฤหัสบดีเป็นวันที่เธอจะไปตรวจงานและรับฝ้ายมาให้
และให้คำแนะนำพวกเขาในการทำในสัปดาห์ต่อไป
และเมื่องานเสร็จเซลีก็จะทำหน้าที่ประกอบมัน จนบ่อยๆเธอต้องทำงานถึงดึกดื่น
แต่กระนั้นเธอก็ไม่เคยลืมหน้าที่มารดา
เธอพร้อมเสมอที่จะให้เวลากับลูกๆ เมื่อพวกเขาต้องการ
และเมื่อลูกสาวคนต่อสองคนเข้าโรงเรียนประจำ เธอก็มักเขียนจดหมายหาพวกเขาบ่อยๆ
ส่วนความสัมพันธ์ของเธอกับสามีน่ะหรือ คงไม่ต้องบอก พวกเขายังคงรักกันหวานชื่อดี สังเกตจากจดหมายที่เซลีเขียน
“ภรรยาของพี่ผู้รักพี่มากเสียกว่าชีวิตของเธอเอง” , “น้องขอสวมกอดพี่
น้องรักพี่” ฝั่งของหลุยส์ใช่ย่อย “พี่ขอสวมกอดน้องด้วยสุดหัวใจพี่ขณะรอคอยความยินดีของการได้อยู่ร่วมกับน้องอีกครั้งหนึ่ง”
ในปี ค.ศ.1871 ทั้งสองก็ตัดสินใจย้ายไปอยู่บ้านเก่าของเซลี ที่นั่นทั้งสองได้ช่วยกันอบรมบรรดาธิดาน้อยๆที่เหลืออยู่
และได้ให้กำเนิดธิดาคนสุดท้ายคือ มารี ฟร็องซัวส์ เทเรซา
แม้ว่าจะต้องผ่านความทุกข์จากการสูญเสียลูกไปถึงเก้าคน
ทั้งคู่ก็น้อมรับน้ำพระทัยพระ “เมื่อดิฉันปิดตาของลูกรักและเตรียมฝังศพของเพวกขานั้น
แน่นอนดิฉันย่อมเสียใจ แต่ขอบคุณพระหรรษทานของพระเจ้า
ดิฉันพร้อมสละทุกสิ่งเพื่อน้ำพระทัยของพระเสมอ
ดิฉันไม่เสียใจเลยที่ต้องรับเจ็บปวดและเสียสละเพราะพวกเขา”
เซลีกล่าวต่อว่า “ดิฉันละไม่เข้าใจคนที่กล่าวว่า
‘เธอจะได้ควรได้รับสิ่งดีกว่านี้โดยไร้เรื่องทั้งหมดนี้’ เสียจริงๆ” เซลีกล่าวเสริมอีกว่า
“เดี๋ยวนี้พวกเขากำลังเพลินเพลงอยู่ในสวรรค์
ทั้งนี้ดิฉันก็ไม่ได้สูญเสียเขาไปตลอดเสียหน่อย ชีวิตนั้นสั้นนัก
และดิฉันจะได้พบพวกเขาอีกครั้งในสวรรค์”
ดังนั้นทั้งสองจึงตั้งใจดูแลของขวัญที่เหลืออยู่นี้อย่างดี
“พวกเรามีชีวิตอยู่เพียงเพื่อพวกเขา พวกเขาคือความสุขทั้งหมดของเรา” เซลีเขียน เธอสอนให้ลูกๆทุกคนหมั่นถวายหัวใจของพวกเขาต่อพระเจ้าผู้แสนดี
เพื่อพวกเธอจะได้สามารถน้อมรับความยากลำบากต่างๆในชีวิตประจำวันซึงเป็นที่โปรดปรานของพระเยซูเจ้าได้
“ดิฉันรักเด็กมาก ดิฉันเกิดมาเพื่อมีลูก”ความปรารถของเซลีคือการที่ลูกๆทุกคนของเธอจะเป็นนักบุญ
และแม้จะมีความตั้งใจเช่นนี้ มันก็ไม่ได้หยุดเธอให้จัดงานเลี้ยงสังสรรค์ เกม
ทำให้ทุกๆคนในครอบครัวต่างมีความสุข
ส่วนฝ่ายความเชื่อ
ทั้งสองจะตื่นไปมิสซาตอน 5.30
น.
ทุกวันและหมั่นรับศีลหลายครั้งต่อสัปดาห์ ซึ่งเป็นที่แปลกในสมัยนั้น
นอกจากนั้นทั้งสองยังอดอาหารและพลีกรรม ทั้งสองจะไม่ทำงานวันอาทิตย์
ทั้งไปเยี่ยมคนชรา คนป่วย คนใกล้ตาย
และเมื่อมีโอกาสทั้งสองก็มักเชื้อเชิญให้คนเรร่อนมาร่วมโต๊ะอาหารกับพวกเขาอย่างไม่รังเกียจ
นอกจากนี้ในช่วงแรกๆที่แต่งงาน ทั้งสองยังช่วยสงเคราะห์เด็กที่มารดาเสียชีวิต
และเด็กๆคนอื่นอีกถึงสิบเอ็ดคน
ระหว่างดูแลลูกอยู่นั่นเอง
ตั้งแต่ปี ค.ศ.1876 เป็นต้นมาเซลีก็เริ่มมีอาการเจ็บที่หน้าอก
เธอจึงไปพบแพทย์และได้คำตอบว่า
เธอป่วยเป็นเนื้องอกที่เต้านมซึ่งอยู่ในระยะสุดท้ายแล้ว คือ ไม่มีทางรักษา
ทำได้ดีสุดคือต่อชีวิตเธอไป ทันทีเซลีรีบทรงข่าวนี้ไปบอกหลุยส์ ทั้งจึงช่วยกันเก็บเรื่องนี้ไว้เป็นความลับ
แต่ไม่นานโปลีนก็ผ่านมาได้ยินทั้งสองพูดกันเธอจึงคะยั้นคะยอจนทั้งจำต้องบอก
และไม่นานลูกๆที่เหลือก็รู้อาการป่วยของมารดา
กระนั้นเธอก็ไม่ดำเนินชีวิตผิดแปลกไปจากอื่น นอกจากสวดภาวนาด้วยใจร้อนรนมากขึ้นเพื่อวิงวอนการรักษา
เธอยังคงทำผ้าลูกไม้และดูแลงานบ้านที่ยุ่งวุ่นวายแม้จะมีมารีมาคอยช่วย
ลุมาถึงมหาพรตปี
ค.ศ.1873 ทั้งที่ไม่ค่อยแข็งแรงเธอก็ยังคงร่วมอดอาหารและอดเนื้อร่วมกับพระศาสนจักร
กระทั้งมาถึงช่วงมิถุนายน เซลีพร้อมมารี โปลีนและเลโอนิน
ก็ตัดสินใจเดินทางไปลูร์ดเพื่อหวังอัศจรรย์แห่งแม่พระ แต่ก็ไร้ผล
เธอเริ่มมีอาการเจ็บคอ กระนั้นท่ามกลางผิดหวังของลูกๆ
เซลีก็กล่าวปลอบใจลูกๆว่า “แม่พระได้ตรัสกับแม่เช่นเดียวกับที่ทรงตรัสกับแบร์นาแด็ตว่า
‘แม่จะทำให้ลูกมีความสุข
แต่ไม่ใช่ในโลกนี้แต่เป็นในโลกหน้า’”
เมื่อกลับมาถึงอาลังซองเธอก็จัดการทุกอย่างให้เรียบร้อยเพื่อทุกสิ่งจะได้พร้อมในยามที่เธอไม่อยู่ และสุดท้ายหลังจากเจ็บหนักถึงสองวัน ในเวลา 0.30 น. ของวันที่ 28 สิงหาคม ค.ศ.1877 ขณะอายุเพียง 45 ปี ท่ามกลางสามีทีรักและน้องชาย น้องสะใภ้ “ดิฉันรักรอยยิ้มของคุณแม่และความลึกล้ำของท่านที่ดูเหมือนจะพูดว่า
‘นิรันดร์ภาพดึงดูดลูกและทำให้ลูกเป็นสุข
บัดนี้ลูกกำลังไปยังท้องฟ้าเพื่อชื่นชมพระเจ้า’ ”
หลังจากนั้นด้วยการกระตุ้นของน้องสะใภ้ของเซลี
หลุยส์ก็ขายบ้านที่เมืองอาลังซอง และย้ายมายังเมืองลิซิเออซ์ในเดือนพฤศจิกายน ปีเดียวกัน
เพราะก่อนตายเซลีได้มองไปยังเซลิน น้องสะใภ้ของเธอ
เธอจึงถือว่าเซลีได้ฝากลูกๆของเธอไว้กับเธอ ดังนั้นเพื่อให้ง่าย
เธอจึงขอให้เขาพาครอบครัวย้ายมา
และเมื่อมาถึงหลุยส์ก็ได้คฤหาสน์ที่รายล้อมไปด้วยสวนในบุยซงเน็ตส์ เป็นบ้าน
สำหรับบรรดาธิดาน้อยของเขา
หลุยส์ตัดขาดจากทุกสิ่งในอาลังซอง
และทุ่มเทเวลาที่เหลือทั้งหมดเพื่อธิดาน้อยที่น่ารักของเขา
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทเรซาน้อยที่เขามักเรียกเธอว่า “ราชินีน้อย” เขาหยุดทำงาน
และเจริญชีวิตอย่างสันโดษผ่านการอ่านหนังสือ การเขียน และการรำพึง โดยมีมารีวัย 17 ปีทำหน้าที่เป็นคนดูแลงานบ้าน ส่วนโปลีนที่ขณะนั้นอายุได้
16 ปี
ก็มีหน้าที่คอยสอนหนังสือเล็กน้อยๆแก่น้องเล็กๆทั้งสองโดยเฉพาะเทเรซา นอกนี้ครอบครัวก็มีกิจวัตรหลักๆคือในวันอาทิตย์ครอบครัวจะพากันไปร่วมมิสซาอาสนวิหารประจำเมือง
ก่อนจะไปร่วมกันทานอาหารกับคุณน้าทั้งสองที่บ้าน
เซลีเคยกล่าวว่า
“นักบุญเป็นสามีของดิฉัน ดิฉันปรารถนาให้เป็นเช่นเดียวกันกับผู้หญิงทุกคน” เซลียังได้บันทึกเรื่องราวของหลุยส์เรื่องหนึ่งว่า
ครั้งหนึ่งหนึ่งในนาฬิกาของหลุยส์โดยทหารปรัสเซียขโมยไป ดังนั้นด้วยความโกธร
หลุยส์จึงจับผู้ร้ายนั้นโยนออกจากบ้านอย่างตึงตัง ก่อนจะรีบไปยื้นฟ้องชายคนนั้น
แต่เมื่อเขาตระหนักได้ว่าชายผู้นั้นจะต้องถูกยิงเป้าแน่
รุ่งขึ้นเขาจึงเดินทางไปศาลและถอนฟ้องชายคนนั้นเสีย นักบุญเทเรซาเองก็บันทึกว่า “คุณแม่และทุกคนที่รู้จักท่านต่างก็ยืนยันได้ว่า
ท่านไม่เคยพูดสิ่งใดที่ขาดความเมตตาจิตแม้เพียงคำเดียว”
เมื่อเลโอนี เซลิน
เทเรซา โตพอหลุยส์ก็ให้พวกเขาเข้าเรียนที่โรงเรียนประจำของคณะเบเนดิกตินในลิซิเออซ์
หลังจากนั้นในปี ค.ศ.1882 โปลิน บุตรสาวคนที่สองของเขาก็ตัดสินใจที่จะเข้าอารามคาร์แมลในลิซิเออร์และได้รับนามใหม่ว่า “ภคินีอักเนสแห่งพระเยซูเจ้า” ก่อนจะตามด้วยมารี
บุตรสาวคนแรกก็ตัดสินใจเช่นเดียวกับน้องของเธอ
เธอเข้าอารามคาร์แมลลิซิเออซ์ในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1886 และได้รับนามใหม่ว่า“ภคินีมารีแห่งพระหฤทัย”
ซึ่งหลุยส์ก็อนุญาต
แม้ลึกๆเขาจะรู้สึกเจ็บปวดที่ต้องสูญเสียมารีผู้เป็นดั่งอัญมณีของเขาไป เพราะเขาเลือกที่จะน้อมรับน้ำพระทัยของพระเจ้า
แต่ไม่ทันทีความเจ็บปวดจะหายไปในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน
เลโอนีก็ขอเข้าอารามคณะกลาริส แต่เพียงเจ็ดสัปดาห์ต่อมาเธอก็ต้องออกจากอาราม
เพราะชีวิตยากไร้ไม่เหมาะกับเธอ
ทำให้บรรยากาศของครอบครัวมาร์แต็งกลับมาคึกคักอีกครั้งหนึ่ง แต่ก็เพียงไม่นาน…
ในฤดูใบไม้ผลิปีถัดมา
เลเอนีก็ขอเข้าอารามแม่พระเสด็จเยี่ยมในเมืองก็อง(ซึ่งเธอต้องถูกให้ออกถึงสองครั้ง กระทั้งที่สุดหลังจากเทเรซสิ้นใจแล้ว
เธอจึงได้เข้าอารามตามที่ฝันและได้รับนาม ภคินีฟรังซัวส์ เทเรซา) ระหว่างนั้นเองในวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ.1887 หลุยส์ก็มีอาการอัมพาตที่ซีกซ้ายของร่างกาย
โชคยังดีที่ไม่ก่ชั่วโมงเขาก็หานเป็นปกติ
หลังจากการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของเทเรซาในช่วงคริสต์มาสปี
ค.ศ.1886
เธอก็มีใจปรารถนาที่จะเป็นคาเมไลท์ไม่ใช่เพื่อไปหาพี่สาวของเธอ
แต่เพื่อติดตามองค์พระคริสต์ ด้วยเหตุนี้ต่อมาหลังจากการภาวนาประจำวันในวันที่ 2 มิถุนายน ปีถัดมา เธอก็ไปหาบิดาของเธอในสวนและแสดงเจตจำนงที่จะเข้าอาราม
ในครั้งแรกหลุยส์ได้กล่าวกับราชินีน้อยของเขาว่าเธอยังอายุไม่ถึงเกณฑ์
แต่พระเจ้าทรงจัดเตรียมแผนการนี้ไว้แล้ว เพราะเพียงแว๊บเดียว หลุยส์ก็ละทิ้งความเชื่อนั้น
พร้อมกล่าวเสริมว่านับเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่พระเจ้าทรงขอเขาและบุตรสาวของเขา
และเมื่อสามรถเอาชนะใจน้าอิสิดอร์ได้แล้ว
หลุยส์ก็พาราชินีน้อยไปขออนุญาตเข้าอารามกับพระสังฆราช ภายหลังจากการสัมภาษณ์อันเป็นไปด้วยดี
พระสังฆราชก็กล่าวว่าท่านจะตัดสินใจในภายหลัง แต่ด้วยความปรารถนาอันแรงกล้าของเทเรซา
หลุยส์จึงตัดสินใจพาเทเรซาและเซลินไปกรุงโรม
เพื่อเข้าเฝ้าองค์สมเด็จพระสันตะปาปาเลโอที่ 13
ทั้งสามนั่งรถไฟที่มุ่งหน้าไปยังโรมผ่านสวิตเซอร์แลนด์
อิตาลี เวนิส โบโลญญาและโรม ตามลำดับ กระทั้งมาถึงเฉพาะพักตร์ของสมเด็จพระสันตะปาปา
เทเรซาก็รีบทิ้งตัวลงแทบพระบาทของพระองค์พรางอ้อนวอนต่อพระองค์เพื่อที่เธอจะได้เข้าอารามคาร์แมล
เหตุการณ์ในวันนั้นตรงกับวันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ.1887
แต่อนิจจาสุดท้ายแผนการนี้ก็ล้มเหลว กระทั้งวันที่ 1 มกราคม ค.ศ.1888 จดหมายฉบับหนึ่งจากอารามจ่าหน้าถึงครอบครัวมาร์แต็ง
ก็มาถึงบ้านของพวกเขา
เทเรซารีบแกะจดหมายนั้น
และพบว่ามันคือจดหมายนัดวันเข้าอารามในช่วงเดือนเมษายนความดีใจเออล้นไปทั่ววิญญาณเทเรซา
เธอรอคอยวันนั้นอย่าใจจดใจจ่อ และระหว่างรอนี้พ่อที่แสนดีอย่างหลุยส์ก็เสนอจะพาราชินีน้อยของเขาไปแสวงบุญที่เยรูซาเลม
แต่หากไปจริง เธอจะต้องเลื่อนเวลาเข้าอารามไป ซึ่งแน่นอนเทเรซาไม่ยอม
ดังนั้นในวันที่ 9 เมษายน ค.ศ.1888 เทเรซาจึงเข้าอารามคาร์แมลในลิซิเออร์ ณ ประตูที่กั้นเขตพรต เขาอวยพรราชินีน้อยของเขาพรางปล่อยให้ตาไหลเอ่อออกมาจากดวงตาชราคู่นั้น
คืนนั้นเพื่อนของหลุยส์ บอกกับเขาว่า “แกนี่ดีเสียกว่าอับบราฮัมตัวจริงอีกนะ” หลุยส์ก็ตอบว่า “ถูกแล้ว หากผมอยู่ในสถานการณ์เดียวกับอับบราฮัม
ผมก็จะถวายบูชาเช่นเดียวกัน แต่ในเวลาเดียวกันผมได้สวด สวดและสวด
ผมพยายามยกมีดอย่างน่ากลัวอย่างช้าๆและขอให้พระเจ้าทรงส่งทูตสวรรค์และลูกแกะมา”
หลังจากนั้นรุ่งขึ้นเขาเขียนถึงเพื่อนๆว่า “ราชินีน้อยของผมเข้าอารามคาร์แมลเมื่อวานนี้
มีแต่พระเป็นเจ้าเท่านั้นที่จะทรงขอพลีกรรมเช่นนี้ได้
แต่พระองค์ทรงช่วยผมมากทีเดียว จนหัวของผมมีแต่ความยินดี แม้ในขณะที่กำลังร้องไห้” นับแต่วันนั้นมาสุขภาพของหลุยส์ก็ทรุดหนักลงเรื่อยๆ
เซลีนเขียนถึงพี่สาวและน้องสาวของเธอว่า “คุณพ่อน้อยของพวกเรายามนี้ช่างชรา
และไม่แข็งแรงแล้ว (…) หัวใจของน้องแตกสลาย
เมื่อน้องคิดว่าท่านจะไปในไม่ช้า”
วันหนึ่งในระหว่างหลุยส์แวะมาเยี่ยมลูกๆ
หลุยส์ได้บอกกับลูกๆว่า “พ่อเพิ่มกลับจากอาลังซอง ในวัดนอเตร ดาม
พ่อได้รับพระหรรษทานยิ่งใหญ่ และความเทาใจมากมายจนต้องวิงวอนว่า พระเจ้าข้า
นี่มันมากเกินไป ลูกมีความสุขมากเกินไปแล้ว นี่ไม่ใช่หนทางไปสวรรค์
ลูกต้องการเจ็บปวดเพื่อพระองค์ และขอถวายตัวของลูกให้เป็น..”เทเรซาได้เล่าเหตุการณ์ต่อจากนั้นว่า “คำว่า ‘เครื่องบูชา’ หยุดอยู่เพียงที่ริมฝีปากของท่าน
ท่านไม่กล้าเอ่ยออกมาต่อหน้าพวกเรา”
หลุยส์เริ่มป่วยด้วยอาการหลอดเลือดแข็งตัว
เขามีอาการเลือดเป็นพิษที่ทำให้เขามีอาการวิงเวียนศีรษะและสูญเสียความทรงจำ
เขาเริ่มจะเดินหายออกไปจากบ้าน และต้องใช้เวลาสามหรือสี่วันจึงจะพบเขาที่เลออาฟวร์ไม่ก็ที่อื่น
เพราะเขาหวังจะทำตามปรารถนาเดิมคือใช้ชีวิตอย่างสันโดษ ความทุกข์นี้ไม่ใช่มีแต่เพียงหลุยส์
เทเรซาเองก็ทุกข์เพราะบัดนี้ทั้งลิซเออซ์ไม่เว้นแม้แต่ในอารามเต็มไปด้วยข่าวที่ว่า
หากหลุยส์เป็นบ้าก็เพราะลูกสาวที่รักของเขาเข้าอาราม
แต่ก่อนวันรับเสื้อของเทเรซาในวันที่
1 มกราคม
อาการของหลุยส์ก็ดีขึ้นจนพอมาร่วมพิธีครั้งนี้ได้ เทเรซาถือว่าวันนั้นเป็น “วันแห่งชัยชนะของท่าน”
เพราะวันนั้นเซลีนก็ได้เผยความปรารถนาว่าจะเข้าอารามคาร์แมลเช่นกัน
ทันที่ทราบหลุยส์รีบกล่าวขึ้นด้วยความยินดีว่า “เราต้องไปเฝ้าศีลเดี๋ยวนี้
และขอบคุณพระเยซูเจ้าสำหรับพระหรรษทานที่พระองค์ทรงโปรยปรายลงมายังครอบครัวของเรา
และสำหรับเกียรติที่พระองค์ทรงประทานแก่เราด้วยการเลือกเจ้าสาวของพระองค์จากบ้านของพ่อ
เพราะมันเป็นเกียรติยศที่ยิ่งใหญ่จริงๆ ที่พระองค์ทรงขอลูกๆของพ่อจากพ่อ หากพ่อมีสิ่งใดที่ดีกว่า
พ่อจะไม่ลังเลที่จะถวายแด่พระองค์เลย”
แต่หลังจากวันนั้นหลุยส์ก็ต้อง
“ดื่มกาลิกษ์อันขื่นขม” สืบเนื่องจากหลุยส์หายออกจากบ้านบ่อยๆจนเกินกว่าที่เซลินและเลโอนินจะดูแลได้
ดังนั้นในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1889 ตามคำสั่งแพทย์ หลุยส์จึงถูกกักตัวไว้ ณ
สถาบันจิตเวชพระมหาไถ่ ในก็อง “ที่นี่คุณลุงทำอะไรได้เต็มทีเลยนะคะ” พยาบาลกล่าวต้อนรับหลุยส์ “ลุงรู้ แต่ลุงต้องการทำที่อื่น แต่ก็ดีแล้วละ
ทั้งชีวิตลุงทั้งรับคำสั่งและออกคำสั่ง ดังนั้นบางทีพระเจ้าอาจจะทรงชำระลุง
ด้วยการข่มความทะนงตัวและความเจ้ากี่เจ้าการของลุงอาศัยคำสั่งของที่นี่ก็ได้”
เดือนมิถุนายนด้วยกลัวหลุยส์จะผลาญทรัพย์
อิสิดอร์จึงให้เขาสละหน้าที่ในการจัดการทรัพย์สิน
วันนั้นชายชราผู้เข้มแข็งได้หลั่งน้ำตาอีกครั้ง “อา เหล่านี้เป็นลูกของฉันที่ทิ้งฉัน” ณ ที่นั่น อาทิตย์ละครั้งเลโอนินและเซลินจะนั่งรถไฟมาเยี่ยมบิดา ซึ่งอยู่ที่นั่นเป็นระยะเวลาสามปี
เราอาจกล่าวได้ว่าสามปีนั่นเป็นสามปีแห่งความทรงจำของพนักงานทุกคน
เพราะความอ่อนโยนและความเมตตาของหลุยส์ได้เป็นที่ประจักษ์แก่พวกเขาอย่างแจ่มชัด “พ่อทราบดีว่าทำพระเจ้าถึงทรงประทานบททดสอบนี้แก่พ่อ
พ่อไม่เคยอายต่อชีวิตของพ่อ ที่พระองค์ทรงประสงค์”
ในวันที่
10 พฤษภาคม
ค.ศ.1892 ประมาณสามปีได้ที่หลุยส์มาอยู่ที่สถาบัน
สืบเนื่องจากหลุยส์กลายเป็นอัมพาตเลโอนินและเซลินจึงสามารถรับเขากลับมาบ้านในลิซิเออซ์
ที่ทั้งสองเช่าอยู่ในเกรังส์ เพราะสัญญาเช่าที่บุยซงเน็ตส์หมดไปตั้งแต่วันฉลองพระคริสตสมภพ
ปี ค.ศ.1889
หลังจากนั้นก็เป็นบ้านใกล้ๆกัน ซึ่งในวันเดียวกันนั้นเองทั้งสองยังได้พาบิดาผู้ชราไปพบกับธิดาน้อยทั้งสี่ในอารามคาร์แมล
นับเป็นครั้งแรกในรอบสีปีและครั้งสุดท้ายบนโลกนี้ “เมื่อถึงเวลาจากกัน
และเรากำลังกล่าวอำลา ท่านยกสายขึ้นและชี้ไปที่สวรรค์เป็นเวลานาน
ท่านไม่จำเป็นต้องพูดสิ่งใด นอกจากวลีเดียวซึ่งท่านกล่าวด้วยเสียงสะอื้นว่า ‘ในสวรรค์’
”(บันทึกของเทเรซา)
หลุยส์พำนักอยู่ที่ลิซิเออซ์โดยมีเลโอนินและเซลินดูแล
จนถึงช่วงฤดูร้อน ปี ค.ศ.1893 ทั้งสามก็ไปพักที่ปราสาทลา มูสส์ ซึ่งเป็นมรดกของคุณน้าอิสิดอร์ ก่อนกลับมา
แต่อากาศดีก็ไม่ช่วยอะไร 27
พฤษภาคม ค.ศ.1894 หลุยส์ก็มีอาการเป็นอัมพาตที่แขนซ้าย 5 มิถุนายน หลุยส์ก็มีอาการหัวใจวาย
และแม้จะมีความลำบากในการเดินทางทั้งสามก็พากันนไปยังลา
มูสส์อีกครั้งในต้นเดือนกรกฎาคม ตลอดเวลานั้นเขาขอให้ธิดาน้อยสวดให้เขาตลอด กระทั้งในเช้าของวันที่
29 กรกฎาคม ขณะอายุ 70 ปี หลุยส์ก็คืนวิญญาณไปหาพระเป็นเจ้าอย่างสงบด้วยอาการหัวใจวาย
หลังจากนั้นเซลินก็ได้ถวายตนในอารามคาร์แมลลิซเออซ์และได้รับนามว่า
“ภคินีเยเนเวีย แห่ง พระพักตร์ศักดิ์สิทธิ์” และภายหลังจากการสถาปนาเทเรซาเป็นนักบุญแล้ว
ก็มีการกระตุ้นให้มีการดำเนินเรื่องขอแต่งตั้งบิดามารดาของท่านนักบุญเป็นนักบุญ ดังนั้นในปี
ค.ศ.1957 จึงมีการเปิดกระบวนการขอแต่งตั้งเป็นนักบุญโดยเปิดแยกกัน แต่ปิดพร้อมกัน
หลังจากนั้นในปี ค.ศ.1971 จึงมีการรวมกระบวนการของทั้งคู่เป็นกระบวนการเดียวกัน
ดังนั้นทำให้ทั้งสองเป็นคู่สมรสคู่แรกที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนักบุญพร้อมกัน
กระทั้งมีการอัศจรรย์การรักษาหนูน้อยเปียโตร
ชีลิโร ที่มีปัญหาระบบทางเดินหายใจอย่างรุนแรงและแพทย์ยืนยืนว่าหนูน้อยจะตายในไม่ช้า
แต่อาศัยคำแนะนำของคุณพ่ออันโตนิโอที่แนะนำและเล่าเรื่องของคุณพ่อและคุณแม่ของนักบุญเทเรซาให้อาเดลและวาลเตร
บิดามารดาของหนูน้อยฟัง ดังนั้นทั้งสองจึงตัดสินใจทำนพวารแด่ท่านทั้งสองเพื่อวิงวอนขอการรักษาหนูน้อย
และอัศจรรย์ก็บังเกิดขึ้น เมื่อหนูน้อยหายขาดจากอาการ ในวันที่ 19 ตุลาคม ค.ศ.2008 ทั้งสองก็ได้รับการบันทึกนามในสารบบบุญราศี ซึ่งในพิธีวันนั้น หนูน้อยเปียโตรก็มาร่วมในพิธีครั้งนี้ด้วย
ต้นไม้ดีทุกต้นย่อมให้แต่ผลดี
คงเป็นข้อพระธรรมที่บอกถึงคุณลักษณะของทั้งสองท่านได้เป็นอย่างดี
เพราะทั้งสองเป็นแบบอย่างของคริสต์ชนที่ดีที่ติดตามองค์พระคริสต์ด้วยใจร้อนรนในแบบของฆราวาส
พวกเขาทั้งสองร่วมกันสร้างบ้านแห่งความรักที่ผลิตแต่สิ่งดีๆออกมา
จึงไม่แปลกอะไรเลยที่ลูกสาวของพวกเขาจะเลือกพระคริสต์เช้าเป็นเจ้าบ่าวของพวกเธอ
ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเทเรซานักบุญผู้ยิ่งใหญ่แห่งลิซิเออร์ และในอนาคตไม่ไกลนี้พวกเราคงจะมีครอบครัวนักบุญองค์ใหญ่เพิ่มขึ้นเป็นแน่
เพราะตอนนี้ลูกสาวทั้งสี่ของพวกเขากำลังได้รับการเดินเรื่องเป็นบุญราศีตามพ่อแม่และน้องสาวของพวกเขาไป
++ปัจจุบันทั้งสองจะได้รับการสถาปนาเป็นนักบุญสามีภรรยาคู่แรกที่ผ่านทุกขั้นตอน
ในวันที่ 18 ตุลาคม ค.ศ.2015 โดยสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส
ภายหลังมีอัศจรรย์ที่บาเลนเซีย
ข้าแต่ท่านนักบุญหลุยส์ มาร์แต็ง และ บุญราศีเซลี เกแร็ง แบบอย่างอันน่าสมควรยิ่งของบิดามารดาคริสตชนที่ดี โปรดช่วยวิงวิอนเทอญ
ข้อมูลอ้างอิง
http://carmelitesisters.ie/blessed-louis-zelie-martin/